คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
สื่อสารมวลชนไทยหลายฉบับให้ความสำคัญกับบทความชิ้นหนึ่งของนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ โดยหยิบยกบทความชิ้นนี้มาเรียบเรียงเป็นข่าวใหม่แบบตัดต่อเพียงสั้นๆ ว่า “การเมืองใหม่ 70 : 30 เลวร้ายกว่าการรัฐประหาร”
หากจะพิจารณาบทความชิ้นนี้ทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่า สื่อต่างประเทศยังมีความเข้าใจที่สับสนกับการเมืองไทย เนื่องเพราะเวที “พันธมารธิปไตย” มักจะนิยมกล่าวอ้างสถาบันเบื้องสูงเป็นหลังอิงตลอดเวลา แอบอ้างสี แอบอ้างผ้าพันคอ ดึงฟ้าต่ำ จนทำให้การรายงานข่าวชิ้นนี้อาจจะส่งผลต่อการระคายเคืองเบื้องพระยุคคลบาท
แต่สื่อเมืองไทยสำนักใหญ่-น้อย ทำไมจึงกล้าตัดสินใจนำเฉพาะส่วนที่ต้องการมาเลือกนำเสนอกับคนไทย!!!
คนไทยไม่เคยเห็นข้อเขียนของคอลัมนิสต์ชั้นนำ ที่กล้าเอ่ยเอื้อนด่าทอรัฐบาล ข้าราชการ อย่างรุนแรง แต่ไม่สามารถแม้กระทั่งวิเคราะห์ในสถานการณ์ จุดยืนต่อเรื่อง “การเมืองใหม่ 70 : 30” ว่าเป็น “การเมืองใหม่” หรือการ “เมืองย้อนยุค” อย่างไร
หาก ส.ส. และ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง 70
หาก ส.ส. และ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง 30
อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ที่จะได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นปากเป็นเสียง มาเป็นตัวแทนของตนเอง เพื่อออกกฎหมายมาบังคับใช้กับสังคม กลับต้องหดหายไปถึง 70%
ซึ่งไม่ใช่การเมืองใหม่ ย้อนหลังไปกว่า 10 ปี วุฒิสมาชิกมาจากการลากตั้ง ถูกคัดเลือกเข้ามาโดยมีกลุ่มข้าราชการทหาร ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจที่ร่ำรวยบางกลุ่มเท่านั้นเอง ที่สำคัญคือ คนพวกนี้ต้อง “ตีกอล์ฟ” เป็นส่วนใหญ่ เพราะมักจะไปตกลงเรื่องราวของประเทศชาติในการออกรอบกัน
วิธีการของสื่อสำนักใหญ่จะแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ จึงไปอ้างอิงรายงานของสื่อต่างประเทศ ไม่เห็นด้วยกับ “พันธมารธิปไตย” การเมืองใหม่ 70 : 30
ทำไมสื่อใหญ่อย่างพวกเขาจึงไม่กล้าออกมาปะทะตรงๆ ไม่กล้าแสดงความไม่เห็นด้วยตรงๆ เพื่อชี้นำสังคมว่าวิธีการนี้ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย แต่เป็นวิธีการของ “อำมาตยาธิปไตย”
เพราะเกรงกลัวอิทธิพลของกลุ่มป่วนบ้านป่วนเมืองในเวลานี้ จะนำเรื่องราวความไม่ชอบมาพากลในวงการสื่อมาแฉหรืออย่างไร ใช่ไหม จึงไม่กล้าชี้ผิดชี้ถูก
น่าอับอายที่เรื่องในบ้านเมืองไทย กลับจะต้องไปพึ่งพิงสื่อต่างชาติให้เขา ออกบทวิเคราะห์มาจากต่างประเทศ แล้วค่อยมา ก๊อปปี้ รายงานข่าวกันต่อ แล้วเลือกเฉพาะประเด็นที่ต้องการ แต่กลับตัดในเรื่องที่ไม่ต้องการออกไป
จะให้ประชาชนคนไทยไปเชื่อสื่อต่างชาติมากกว่าสื่อในชาติของเราได้อย่างไร?
มันเป็นเรื่องแปลกประหลาดในบ้านเมือง เพราะการที่พันธมารธิปไตยไปบุกรุกสถานที่ราชการ และทำเนียบรัฐบาล สื่อต่างๆ ไม่เห็นมีใครแสดงจุดยืนว่าเรื่องดังกล่าวนี้ถูกต้องหรือไม่ การอ้างอารยะขัดขืน แล้วกระทำแบบนี้ เป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้วหรืออย่างไร? แล้วทำไมสื่อเมืองไทยจึงไม่กล้าชี้ผิดชี้ถูกในเรื่องนี้ แต่กลับออกบทวิเคราะห์ให้นายกรัฐมนตรีลาออก หรือยุบสภา ความถูกต้องของบ้านเมืองอยู่ตรงไหน มันเกิดอะไรขึ้นมา?
เมื่อบ้านเมืองต้องการความถูกต้อง สื่อเมืองไทยสมควรจะมีจุดยืนในเรื่องการเมืองใหม่ 70 : 30 แล้วว่า สื่อแต่ละค่ายเห็นกันอย่างไร เหมาะสมต่อบ้านเมืองของเรามากน้อยแค่ไหน เป็นวิธีการ “ประชาธิปไตย” หรือไม่?