คอลัมน์ : ประชาทรรศน์วิชาการ
“จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภาคส่วนต่างๆ ที่มีภาพลักษณ์ หรือต้องการสร้างภาพลักษณ์ของความมีคุณธรรม ความเสียสละ จึงกระโจนเข้าร่วมมหกรรมกู้ชาติครั้งนี้อย่างเอิกเกริก ทั้งทางตรงและทางอ้อม (เช่น การประณามและกดดันต่อรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีท่าทีเช่นนั้นต่อพันธมิตรฯ)
โดยไม่ต้องหยุดคิดวิเคราะห์เลยว่า ข้อเรียกร้องและท่าทีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ จะทำลายหลักการประชาธิปไตยเพียงใด ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงเพียงใด กระแสการสนับสนุนที่พวกเขามีส่วนสร้างขึ้นจะนำไปสู่อะไร”
1.ผู้เขียนมีเรื่องเล่าจากเขตชนบทภาคอีสาน…
วันหนึ่ง หญิงชาวบ้านพาลูกชายที่มีอาการหูอื้อไปพบหมอจากโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังในกรุงเทพฯ ที่มาให้บริการฟรี พร้อมกับการแจกข้าวสาร อาหารแห้ง ทั้งหมดนี้ดำเนินการเป็นประจำทุกปีโดยพระที่เป็นที่รู้จักกันดีในอีสาน และ กทม.
หมอหนุ่มส่องกล้องเข้าไปในหู แล้วบอกว่า “เป็นหูน้ำหนวก เดี๋ยวเอายาแก้อักเสบไปกิน”
ผู้เป็นแม่ถามให้แน่ใจอีกครั้ง “มีหนองในหูหรือคะ”
คุณหมอเหลือบตามองแล้วกล่าวเสียงห้วน “ทำไม มีหนองหรือไม่มีมันมีปัญหาอะไร”
ถึงตอนนี้แม่เด็กก็เกิดอารมณ์ขึ้นบ้าง จึงย้อนกลับไปว่า “แล้วคุณหมอตอบมาตรงๆ มันจะมีปัญหาอะไร”
หมอหนุ่มมีอาการชะงักจนเห็นได้ชัด...
เรื่องเล่าเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลของรัฐในชนบท คนไข้มักไม่ค่อยรู้ว่าตนเองเป็นอะไร มีสาเหตุจากอะไร ยาที่กินเป็นยาอะไร มีผลข้างเคียงแค่ไหน การรักษาทางเลือกอื่นๆ มีบ้างไหม หากคนไข้เอ่ยปากถามด้วยความไม่เข้าใจ ก็จะเกิดปฏิกิริยาจากหมอไม่ต่างจากนี้นัก
หลายคนบอกว่านี่คือการผูกขาดทางความรู้
แต่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีที่เล่ามานี้เป็นอาการผูกขาดทางคุณธรรมด้วยหรือเปล่า
การที่อาชีพหมอได้รับการยกย่องว่าเสียสละ เป็นคุณธรรมขั้นที่ 1
การออกหน่วยบริการให้แก่คนยากจนในท้องถิ่นทุรกันดาร ต้องเสียสละความสุขสบายและรายได้ เป็นคุณธรรมขั้นที่ 2
ดังนั้น ผู้มารับบริการซึ่งไม่มีอะไรเทียบเท่าหมอในแง่คุณธรรมความดี วันๆ มีแต่รอรับ ไม่มีปัญญาจะให้อะไรกับใครได้ จึงไม่มีสิทธิ์มาตั้งคำถามใดๆ ทั้งสิ้น
พวกเขาไม่ใช่มนุษย์ที่มีสิทธิเสมอภาคกัน!!
2.ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ และการออกมาสนับสนุนของภาคส่วนต่างๆ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเรื่องเล่าดังกล่าว และการหยิบเอาข้อสังเกตเรื่องการผูกขาดทางคุณธรรมมาอธิบายปรากฏการณ์นี้ก็ดูจะเข้าท่าเสียด้วย
การขับเคลื่อนการชุมนุมด้วยถ้อยคำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “ม็อบกู้ชาติ” “สงครามศักดิ์สิทธิ์” “ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ” ฯลฯ เหล่านี้ล้วนขับเน้นให้ผู้เข้าร่วมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางดูสูงส่งกว่าคนอื่นๆ ในแง่คุณธรรมความดี อย่างที่ฝ่ายตรงข้ามอันเป็นเป้าหมายของการต่อสู้ และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ไม่มีทางเทียบเท่า ดังคำเรียกขาน “นายทุนปล้นชาติ” “นักการเมืองชั่ว” “ม็อบถ่อย” จนถึง “สัตว์นรก”
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภาคส่วนต่างๆ ที่มีภาพลักษณ์ หรือต้องการสร้างภาพลักษณ์ของความมีคุณธรรม ความเสียสละ จึงกระโจนเข้าร่วมมหกรรมกู้ชาติครั้งนี้อย่างเอิกเกริก ทั้งทางตรงและทางอ้อม (เช่น การประณามและกดดันต่อรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีท่าทีเช่นนั้นต่อพันธมิตรฯ)
โดยไม่ต้องหยุดคิดวิเคราะห์เลยว่า ข้อเรียกร้องและท่าทีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ จะทำลายหลักการประชาธิปไตยเพียงใด ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงเพียงใด กระแสการสนับสนุนที่พวกเขามีส่วนสร้างขึ้นจะนำไปสู่อะไร
โดยไม่ต้องสนใจในเหตุผลที่กลุ่มอื่นๆ เรียกร้องให้พันธมิตรฯ เคารพกติกา
และโดยไม่ต้องใส่ใจกับเสียงแผ่วโผยของคนที่ไม่มีเสียงที่มีอยู่เกลื่อนกลาดทั้งในกรุงและต่างจังหวัด บรรดาคนที่มีภาพลักษณ์โง่เขลา เห็นแก่ตัว และถูกซื้อได้ง่าย
สิ่งเหล่านี้ถูกโยนทิ้งไปข้างหลัง เหตุเพราะว่ามันไม่มีพลังแห่งคุณธรรม ไม่มีพลังความรักชาติ ศาสน์ สถาบัน เพียงพอ จึงไม่มีสิทธิ์กำหนดอนาคตประเทศไทย
องค์กรเหล่านี้ไม่เคยมีท่าทีอะไรเมื่อยามที่คนจนชุมนุมเรียกร้องสิทธิของตนเอง
ประชาธิปไตยที่ผูกขาดด้วยคุณธรรมแบบคนชั้นกลาง จึงไม่จำเป็นต้องยึดมั่นในหลักความเสมอภาคและเคารพในสิทธิเสียงของคนชั้นล่าง
สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นได้จากการกระทำให้อย่างเสียสละ และหวังดีของพวกเขาเท่านั้น!!!
อยู่เฉยๆ เถิดเหล่าประชาชนผู้ยากไร้ และถูกหลอกล่อได้ง่าย เราเหล่าชนชั้นกลางจะร่วมมือกับชนชั้นนำปกครองแผ่นดินโดยธรรมด้วยการเมืองใหม่ เพื่อประโยชน์สุขอย่างพอเพียงของพวกเจ้า และผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองอย่างพวกเรา
3.ผู้เขียนมีความสงสัยอยู่ว่า หากตลอด 76 ปีของการปฏิวัติประชาธิปไตยที่ผ่านมา อุดมการณ์ประชาธิปไตยได้หยั่งรากลึกและเติบโตอย่างมั่นคงในสังคมไทย โดยไม่ถูกทำให้แคระแกร็นเป็นบอนไซด้วยปัจจัยบางอย่าง
และความเสมอภาคของมนุษย์เป็นคุณค่าหนึ่งของสังคม เฉกเช่นเดียวกับความดี ความมีเมตตา การมีการศึกษา ความร่ำรวย ฯลฯ
การชุมนุมของพันธมิตรฯ ในวันนี้ จะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างอื้ออึงเช่นที่เป็นอยู่นี้หรือเปล่า???
มุกดา ตฤณชาติ
ที่มา : ประชาไท