คอลัมน์ : สวัสดีวันจันทร์
“...มีหลักฐานจากการประกาศบนเวทีของคนกลุ่มนั้นว่า เมื่อยึดสถานีโทรทัศน์ NBT ได้แล้ว ก็จะเชื่อมโยงสัญญาณเข้ากับ ASTV ซึ่งเป็นสถานีดาวเทียมของพวกตนแพร่ภาพและเสียงไปทั่วประเทศ 24 ชั่วโมง เพื่อสั่งการบริหารประเทศ แต่บังเอิญกองกำลัง 82 คน ที่เข้ายึด NBT ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมไว้ได้เสียก่อน แผนการส่วนนี้จึงบกพร่องไป...”
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ได้เกิดความขัดแย้งแตกแยกระหว่างรัฐมนตรีอำมาตยาธิปไตย กับรัฐมนตรีประชาธิปไตยอย่างรุนแรง วันที่ 31 มีนาคม 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงออก พ.ร.ฎ.ปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
นั่นก็เท่ากับว่า พระยามโนปกรณ์กำลังปฏิวัติทำประเทศถอยหลังกลับไปสู่ระบอบปกครองเดิมอีกครั้งหนึ่ง มีการอ้างภัยคอมมิวนิสต์และออก พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 มาเป็นเครื่องมือ
ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ซึ่งหนังสือพิมพ์ยุคนั้นขนานนามว่า สี่ทหารเสือ ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและลาออกจากราชการ
อีก 2 วันต่อมา คือวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลฯ และหลวงพิบูลสงคราม กับหลวงศุภชลาศัย ก็บังคับให้พระยามโนปกรณ์ฯ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เท่ากับเป็นการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินครั้งที่ 2 เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้
จากนั้นประเทศไทยก็หลุดจากอุ้งมือของอำมาตยาธิปไตยมาได้
จาก พ.ศ.2476-2551 เป็นเวลา 75 ปี ประเทศไทยมาถึงยุคที่รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองหนุนหลังเหนียวแน่น 6 พรรค มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านอยู่เพียงพรรคเดียว แต่มีบุคคลคณะหนึ่งนำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ พิภพ ธงไชย สมศักดิ์ โกศัยสุข และมี สุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงาน เรียกตัวเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้นำมวลชนกลุ่มหนึ่งก่อการกบฏ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 โดยที่พฤติการณ์คือ ส่งกำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ NBT ของกรมประชาสัมพันธ์ และเคลื่อนมวลชนส่วนใหญ่เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลไว้ได้
มีหลักฐานจากการประกาศบนเวทีของคนกลุ่มนั้นว่า เมื่อยึดสถานีโทรทัศน์ NBT ได้แล้ว ก็จะเชื่อมโยงสัญญาณเข้ากับ ASTV ซึ่งเป็นสถานีดาวเทียมของพวกตน แพร่ภาพและเสียงไปทั่วประเทศ 24 ชั่วโมง เพื่อสั่งการบริหารประเทศ แต่บังเอิญกองกำลัง 82 คน ที่เข้ายึด NBT ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมไว้ได้เสียก่อน แผนการส่วนนี้จึงบกพร่องไป
กระนั้นก็ตามกองกำลังส่วนที่ยึดทำเนียบรัฐบาลไว้ได้ ก็ก่อการกำเริบออกแถลงการณ์เรียกร้อง ให้รัฐบาลลาออก ห้ามมิให้สมาชิกรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 และเรียกร้อง ให้มีการสถาปนาระบอบการเมืองใหม่โดยเร็ว
รัฐบาลตั้งข้อกล่าวหาแก่แกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าเป็นผู้ก่อกบฏ ขอหมายจับจากศาลอาญาซึ่งศาลก็อนุมัติให้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถเข้าไปจับกุมตามหมายศาลได้ เพราะมวลชนของคนกลุ่มนั้นห่อหุ้มไว้ อีกทั้งรัฐบาลก็มีนโยบายแก้ปัญหาด้วยความนุ่มนวล ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงใดๆ
แต่นานวันเข้า ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ซึ่งส่วนใหญ่คงจะเคยเป็นมวลชนของ นปก. มาก่อนครั้งที่มีการชุมนุมต่อต้านเผด็จการ คมช. เมื่อปี 2550 เกิดทนไม่ไหวนัดรวมตัวกันที่ท้องสนามหลวง เพื่อปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรักษาระบอบประชาธิปไตย
เพียง 3 วันเท่านั้น แม้แกนนำของ นปก. จะยังไม่ทันขยับตัวประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด มวลชนที่ท้องสนามหลวงก็ตัดสินใจเคลื่อนพลออกมาจะปิดล้อมรอบนอกของทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ต้องปะทะกันกับกองกำลังติดอาวุธของพันธมิตรฯ เสียก่อน บริเวณใกล้ๆ สะพานมัฆวานฯ จนเกิดการบาดเจ็บ 40 คน เสียชีวิตไป 1 คน เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อระงับเหตุ
ที่น่าประหลาดใจก็คือ บรรดาปัญญาชนในสถาบันการศึกษาระดับสูง และผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนพรรคฝ่ายค้านและวุฒิสมาชิกสาย คมช. กลับโทษว่าเป็นความผิดของฝ่ายรัฐบาล ไม่ได้เป็นความผิดของพวกกบฏ
แย่ยิ่งกว่านั้นคือ นักวิชาการบางคนเสนอให้แก้วิกฤติของประเทศด้วยการขอให้รัฐบาลลาออก แล้ว งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อเรียกหานายกฯ คนกลาง
เป็นการเดินตามรอยเท้า พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผู้เป็นหัวหน้าอำมาตยาธิปไตยใหญ่โพ้นในอดีต
ผู้เขียนนึกไม่ออกว่าคนพวกนี้เอาสมองส่วนไหนออกมาคิด ในเมื่อตอนที่เกิดวิกฤติทางการเมืองในรัฐบาลเลือกตั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2548 นั้นได้มีการเรียกร้องนายกพระราชทานตาม มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ 2540 กันมาอย่างอึงคะนึงครั้งหนึ่งแล้ว
แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ได้มีพระราชดำรัสให้ได้ยินกันทั่วประเทศว่า มาตรา 7 ใช้ไม่ได้ ไม่เป็นประชาธิปไตย เรื่องก็เงียบกันลงไปตั้งแต่บัดนั้น
มาวันนี้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กลับมีเสียงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก หรือยุบสภา หรือไม่ก็ออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อหานายกรัฐมนตรีใหม่ที่เป็นคนกลาง ไม่ใช่คนของพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด
นักวิเคราะห์ข่าวการเมืองจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือออสเตรเลีย หรือแม้แต่ศาสตราจารย์ทางด้านนี้ของ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แห่งสหราชอาณาจักร ต่างมีความเห็นกันว่า รัฐบาลคงอยู่ไปได้ตามจุดยืนของนายกฯ สมัคร ที่ประกาศออกมา แต่การปกครองต่อไปเห็นจะลำบาก เพราะพันธมิตรฯ ที่ยึดทำเนียบรัฐบาลไว้ดื้อแพ่งไม่ยอมลดราวาศอกให้ หนทางเดียวที่จะอยู่และทำงานได้พร้อมๆ กับรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ โดยไม่ต้องถอยหลังเข้าคลองตามพระยามโนปกรณ์ฯ ไปคือ การใช้วิธีการ ทางรัฐสภา
ศัพท์นี้จะตรงกับความหมายที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ใช้หรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ตัวข้าพเจ้าเองเห็นว่าทางแก้ปัญหาโดยไม่ต้องมีการปฏิวัติฉีกรัฐธรรมนูญกันอีก และไม่ต้องสลายการชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรง คือการ ทำประชามติขอความเห็นประชาชน ที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 45 ล้านคน
วิธีการขอประชามติ ให้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 165 (1) ความว่า “ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้”
การขอประชามติในมาตรา 165 (1) นี้ทำได้โดยไม่ต้องพะวงถึง (2) ซึ่งเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วให้มีการออกเสียงประชามติดังที่วิตกกันอยู่
ทั้งนี้ไม่ต้องคำนึงว่า แกนนำพันธมิตรฯ หรือ ผู้ต้องหาคดีกบฏ 9 คน ในทำเนียบรัฐบาล จะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเราต้องการมติของคนดี คนสุจริต คนมีสิทธิเลือกตั้ง เราไม่ได้หวังมติจากคนกบฏที่คิดการใหญ่เสนอทฤษฎีการเมืองใหม่ และอาจเสนอลัทธิศาสนาใหม่ให้สังคมไทยพิจารณารับไว้เป็นศาสนาประจำชาติในอนาคตคือ ลัทธิเทวทัต
เขียนหนังสือทุกวันนี้มันแห้งแล้งครับ สำบัดสำนวนจะให้ชวนอ่านเห็นจะไม่ได้ เพราะหัวใจคนเขียนกำลังแตกระแหง
วีระ มุสิกพงศ์