ที่มา มติชนออนไลน์
สภาพัฒน์จี้ลงทุน 1แสนล้าน ลดคนตกงาน คาดปี′52 ว่างงาน 1.3 ล้านคน บางรายถูกนายจ้างบีบให้ออก หวังเบี้ยวค่าชดเชย แบงก์ชาติยันปีนี้ศก.ติดลบแน่ "กรณ์"รับรายได้ต่ำกว่าเป้าที่คาด เล็งขอสภาเบิกเงินหวยบนดิน1.7 หมื่นล้านโปะ ชี้อีก 3-4 เดือนข้างหน้าศก.ถึงจุดล่อแหลมมากสุด
สศช.จี้รัฐลงทุน1แสนล.ลดตกงาน
นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงความเคลื่อนไหวทางสังคม ไตรมาสที่ 4/2551 และภาพรวมในปี 2551 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ว่า วิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการจ้างงานของไทย ในปี 2552 คาดว่า จะมีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.5-3.5 หรือว่างงานประมาณ 9 แสน – 1.3 ล้านคน โดยตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ มีผู้ถูกเลิกจ้างแล้ว 17,474 คน คิดเป็นร้อยละ 31.5 ของผู้ถูกเลิกจ้างในปี 2551 รัฐจึงต้องดำเนินมาตรการบรรเทาปัญหาด้วยการขยายการจ้างงานในโครงการภาครัฐ จัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงาน ควบคู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุน ซึ่งขณะนี้ สศช.เตรียมเสนอรายละเอียดแผนลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ระหว่างไตรมาส 3 -4 วงเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ให้ ครม.เศรษฐกิจพิจารณาภายในเมษายนนี้ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ตัวเลขของผู้ตกงานจะลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ
เผยคนรายได้1.5หมื่นมีน้อยลง
นางสุวรรณี กล่าวว่า จากสำรวจผู้ถูกเลิกจ้างจำนวน 2,022 คน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.2 มีรายได้ระหว่าง 5,000 – 15,000 บาทต่อเดือนและร้อยละ 73.6 อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ การเลิกจ้าง ยังทำให้ครอบครัวที่เคยมีรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 55 เหลือเพียงร้อยละ 20 และมีครอบครัวที่ไม่มีรายได้ ถึงร้อยละ 12.4 เกิดปัญหารายได้น้อยกว่ารายจ่าย ภาวะเครียดและปัญหาสุขภาพจิตทั้งตนเองและครอบครัว โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พ่อ-แม่ เนื่องจากต้องดูแลบุตร สามี/ภรรยา เป็นอันดับแรก
"ผู้ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่นำเงินชดเชย และเงินออมออกมาใช้จ่าย โดยคาดว่าจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ทำให้ต้องปรับตัว โดยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งหาเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้แก่ การรับจ้างชั่วคราว ทำงานอิสระ กู้ยืม หรือใช้บัตรเครดิต ทั้งนี้ ร้อยละ 42.5 ของแรงงานต่างถิ่นที่ถูกเลิกจ้างต้องการกลับภูมิลำเนาเดิม ประมาณร้อยละ 50 ต้องการหาอาชีพใหม่ในท้องถิ่นและช่วยครอบครัวทำการเกษตร ที่เหลือต้องการพักผ่อนและลดค่าใช้จ่าย"
ชี้นายจ้างเบี้ยวชดเชยเพียบ
นางสุวรรณี กล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้ถูกเลิกจ้างยังไม่ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างอย่างทั่วถึง เพราะเป็นลูกจ้างชั่วคราวหรือถูกบีบให้ลาออก และร้อยละ 30.8 ของผู้ได้รับเงินชดเชยได้รับในอัตราที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย จากกลุ่มตัวอย่าง ผู้ถูกเลิกจ้าง ร้อยละ 86.3 อยู่ในระบบประกันสังคม และร้อยละ 78.8 อยู่ระหว่างดำเนินการขอเงินทดแทนการว่างงาน มีร้อยละ 10.2 ได้รับเงินบางส่วนแล้ว และร้อยละ 11 ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เนื่องจากไม่ตรงตามเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคม (สปส.)
ธปท.ยันปีนี้ศก.ติดลบแน่
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงทิศทางการเติบโตเศรษฐกิจปี 2552 ว่า จากแบบจำลองพบว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีโอกาส 95% ที่จะติดลบ จากประมาณการณ์เดิมจะขยายตัว 0-2% เพียงแต่ยังไม่ทราบชัดเจนว่าจะลบเท่าใด เพราะธปท.จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งต่อไปในวันที่ 8 เมษายนและจะรายงานการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในรายงานเงินเฟ้อ ในวันที่ 22 เมษายน ส่วนการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายที่กนง.ปรับลด 2.25% นั้น ยังไม่ทราบว่า ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ที่ธนาคารพาณิชย์จะปรับดอกเบี้ยลงให้สอดคล้องกับดอกเบี้นโยบายที่ลดลง ขึ้นกับสภาพคล่องและการจัดการของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งด้วย
งบ1.167แสนล.เริ่มเบิกได้แล้ว
นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวว่า พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2552 จำนวน 1.167 แสนล้านบาท ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้สำนักงบประมาณสามารถเริ่มจัดสรรเงินงบห้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลวางไว้ได้ทันที โดยเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงบฯได้ทำหนังสือเวียนแจ้งให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องรับทราบแล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินส่วนนี้ โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อติดตามการใช้จ่ายเงินให้ตรงตามเป้าหมาย อาทิ โครงการจ่ายเงิน 2,000 บาท การจ่ายเบี้ยยังชีพคนชรา 500 บาท หากพบว่าการดำเนินโครงการใดไม่ตรงตามเป้าหมาย คณะกรรมการฯจะกำชับให้หัวหน้าส่วนราชการปรับปรุงแก้ไขทันที
ส่ง5.5ล.ชื่อให้"กรุงเทพ"ออกเช็ค
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะมีธนาคารกี่แห่งที่ต้องทำหน้าที่ออกเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท แต่ยืนยันว่าได้จะต้องเป็นธนาคารที่ให้ราคาต่ำที่สุด และไม่จำกัดว่าเป็นธนาคารรัฐหรือธนาคารพาณิชย์ เพราะรัฐบาลต้องการให้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด และออกเช็คได้ทันกำหนดเวลา โดยเฉพาะการออกเช็คล็อตแรก 5 ล้านฉบับ หากธนาคารพาณิชยเสนอราคามาต่ำสุดคือ ฉบับละ 2 บาท ก็ต้องเป็นไปตามนั้น เพราะจะทำให้ประหยัดต้นทุนได้ถึงเท่าตัว จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ฉบับละ 5 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของกรมบัญชีกลาง มีธนาคาร 5 แห่งที่เสนอราคามา โดยธนาคารทหารไทย กรุงเทพ และไทยพาณิชย์ เสนอราคาฉบับละ 2 บาท ส่วนกรุงไทยและนครหลวงไทย เสนอราคา 5 บาท ในส่วนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ธนาคารกรุงเทพเสนอต่ำสุด คือฉบับละ 2 บาท
นายปั้น วรรณวินิจ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สปส.ได้เตรียมรายชื่อผู้ประกันตนที่จะส่งให้กับธนาคารเพื่อออกเช็คแล้ว 5,547,000 คน เพื่อทำการพิมพ์เช็คในรอบแรก ให้ทันจ่ายเช็คภายในวันที่ 26 มีนาคมนี้
ด้านนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันที่ 10 มีนาคม ธนาคารกรุงเทพฯ จะพิมพ์เช็คล็อตแรก
"กรณ์"รับรายได้ต่ำเป้ากว่าที่คาด
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เดิมคาดว่าจะจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2552 จะต่ำกว่าเป้า 10% หรือต่ำกว่เป้า 1.5 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้มีโอกาสที่รายได้รัฐจะต่ำเป้ามากกว่า 10% หรือมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท กระทรวงการคลังจึงอยู่ระหว่างพิจารณาจัดเก็บภาษีบางประเภทเพิ่มเติม รวมทั้งจะจัดเก็บภาษีบางประเภท และภาษีตัวใหม่เพื่อเตรียมรับมือกับปัญการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าที่เคยแถลงนโยบายต่อสภาว่า จะจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการรายได้ 10%
ชี้ศก.3-4เดือนข้างหน้าล่อแหลม
นายกรณ์ กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าประมาณการมาก ส่งผลให้รัฐบาลต้องทบทวนการจัดทำงบประมาณปี 2553 ให้เข้มข้นมากขึ้น เพราะมีการทำขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องอีกกว่า 4 แสนล้านบาท รวมถึง มีการกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการของรัฐบาล แม้ว่าไทยจะยังมีความสามารถในการกู้เงินได้อีกโดยไม่ก่อให้เกิดเป็นภาระมากเกินไป เพราะสัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ที่ 41% แต่ก็จำเป็นที่จะต้องระมัดระวังไม่ให้เพิ่มขึ้นเร็วเกินไป
“เศรษฐกิจในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้าถือว่าอยู่ในจุดล่อแหลมมากที่สุด โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการระยะสั้นเพื่อประคองสถานการณ์ไว้ เพื่อรักษากำลังซื้อผ่านการอัดฉีดงบถึงมือประชาชนโดยตรง เช่น โครงการ เช็คช่วยชาติ โดยคาดว่าภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 จะรู้ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงต่ำสุดแล้วหรือไม่ จากนั้นจึงจะประเมินต่อได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เมื่อใด” นายกรณ์กล่าว
เล็งขอสภาเบิกเงินหวยบนดินโปะ
ด้านนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2552 รัฐจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าแน่นอน เฉพาะกรมสรรพากรที่ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ 1.315 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มจะจัดเก็บต่ำกว่าเป้ามากกว่า 10% จากปัญหาสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัญหาในประเทศ ทำให้การเก็บภาษีนำเข้าลดลงในช่วงที่ผ่านมา เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าเครื่องจักรวัตถุดิบลดลง
นายประดิษฐ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเร่งเบิกจ่ายรายได้ที่มาจากโครงการหวยบนดิน จำนวน 17,000 ล้านบาท ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดูแลอยู่ แต่ถูกห้ามเบิกมาใช้จ่าย เนื่องจากรัฐบาลสมัย พล.อ สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ยกเลิกการจำหน่ายหวยบนดิน ซึ่งหากรัฐบาลนำเงินจำนวนดังกล่าวออกมาใช้ได้ จะช่วยเสริมรายได้ของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง โดยจะต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ เพื่อปลดล็อคและนำเงินออกมาใช้
“รัฐบาลเป็นเครื่องจักรเครื่องเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าการกู้เงิน เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์และเกิดการหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจ” นายประดิษฐ์กล่าว และว่ารัฐบาลยังยืนจะดำเนินโครงการจำหน่ายสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวด้วยเครื่องอัตโนมัติ (หวยออนไลน์) ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีคลังให้ความเห็นชอบ