ที่มา ไทยรัฐ
นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมรับความจริงอีกครั้งว่า ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าเป้าทั้งระบบ
พูดง่ายๆ คือ สถานะของรัฐบาลกำลังบักโกรก
แต่การยอมรับความจริงแล้วไม่รีบหาทางแก้ไขยิ่งน่าเป็นห่วง
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อการจัดเก็บรายได้ติดลบ ทางแก้คือต้องลดรายจ่าย!!
แต่รัฐบาลไม่ยอมลดรายจ่าย กลับอีดฉีดรายจ่ายตามนโยบายประชานิยมเพิ่มเข้าไปจนเต็มกระบอกลูกสูบ
และการที่รัฐบาลลดภาษีธุรกิจ ก็ทำให้ การจัดเก็บรายได้ที่ติดลบอยู่แล้วยิ่งติดลบหนักเข้าไปอีก
ถ้ารัฐบาลรู้ตั้งแต่แรกว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะหนักสาหัสขนาดนี้ ก็คงต้องปรับลดนโยบายประชานิยมไปบางส่วน
แต่เมื่อรัฐบาลเดินหน้าไปแล้วจะเปลี่ยนใจกลับลำก็ลำบาก
นี่คือต้นเหตุที่รัฐบาลต้องนอนก่ายหน้าผาก คิดหาทางที่จะเพิ่มรายได้เอาไปอุด รายจ่ายจากนโยบายประชานิยมเกินหน้าตัก
ล่าสุด รัฐบาลเตรียมจะขึ้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เหล้า บุหรี่ นํ้าชา กาแฟ และ เครื่องดื่มเสริมพลังงานอื่นๆเพื่อหารายได้มาชดเชยส่วนที่ขาด
แต่การขึ้นภาษีสินค้าพวกนี้ก็ไม่ใช่ คำตอบ
เนื่องจากปัจจุบัน เหล้า บุหรี่ ฯลฯ ก็ถูก เก็บภาษีในอัตราสูงสุด ส่วนชากาแฟเครื่องดื่ม อื่นๆ ถ้าจะรีดภาษีเพิ่มอีก รัฐบาลก็คงจะได้ รายได้เพิ่มอีกไม่มากเท่าไหร่
ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจทรุดหนัก ถ้าหากขึ้นภาษีสูงเกินไปนอกจากจะเก็บภาษีไม่ได้ เอกชนภาคธุรกิจก็จะเจ๊งกันเป็นแถบ
“แม่ลูกจันทร์” ยํ้าอีกครั้งว่าการขึ้น ภาษีไม่ใช่คำตอบ
แต่สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำคือ ต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น อย่างน้อยอีก 3 ปี
จนกว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นจากสลบ
ฉะนั้น อะไรที่มีอยู่แล้วและยังพอใช้ไปได้ก็ต้องใช้ไปก่อน
เช่น...โครงการรถเมล์สี่พันคัน โครงการจัดซื้ออาวุธลอตใหม่ โครงการสร้าง รัฐสภาใหม่ ฯลฯ ต้องเบรกเอาไว้หมด!!
เพราะไม่มีผลบวกต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ข้อสำคัญ รัฐบาลต้องยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และปฏิบัติตามนโยบายนี้ให้ สังคมเห็นเป็นตัวอย่าง
สรุปว่า ก่อนจะกู้เงินงวดใหม่ ก่อนจะรีดภาษีเพิ่มเอาไปเติมส่วนที่ขาด รัฐบาลต้อง ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเสียก่อน
“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่าถ้าหากการจัด เก็บภาษีรายได้ยังตํ่ากว่ารายจ่าย ใครเข้ามา เป็นรัฐบาลบริหารประเทศก็เอาไม่อยู่
เพราะงบประมาณประเทศไทยตอนนี้ มีรายจ่ายประจำ 3 ส่วนใหญ่ๆ เป็นภาระหนักอึ้งที่รัฐบาลต้องแบกไว้บนบ่า
1, รายจ่ายเงินเดือนข้าราชการและพนักงานของรัฐปีละเจ็ดแสนล้านบาท ซึ่งทำให้งบลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศเหลือก้อนเล็กลงๆมาตลอด
2, รายจ่ายขับเคลื่อนนโยบายประชานิยม ลดแลกแจกฟรีที่ใครมาเป็นรัฐบาลต้องหาเงิน ก้อนใหญ่ไปอัดฉีดอีกปีละนับแสนล้านบาท
3, รายจ่ายอุดหนุนองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่เป็นรายจ่ายประจำก้อนใหญ่ ที่เกิดขึ้นตาม นโยบายกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น
ปีนี้ (2552) รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนองค์กรปกครองท้องถิ่น อบจ. อบต. เบ็ดเสร็จเป็นเงินสี่แสนห้าหมื่นล้านบาท
คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินทั้งหมด
ที่น่าเสียดายคือ เงินงบประมาณที่อัดฉีด ผ่านองค์กรปกครองท้องถิ่นสี่แสนห้าหมื่นล้านบาทเอาไปใช้จ่ายเป็นเบี้ยหัวแตก
จะลดก็ไม่ได้ จะเลิกก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบังคับให้รัฐบาล “ต้อง” จัดงบประมาณอุดหนุนตามที่กฎหมายกำหนด
ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ริดสีดวงบาน ทั้งนั้นแหละ.
“แม่ลูกจันทร์”