“ไม่รู้ว่าจะกลายเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะคิดว่าเป็นการแสดงความเห็นทางการเมืองในพื้นที่ ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน” นายกอกล่าว อีกทั้งยังบอกด้วยว่าตอนที่ทำกิจกรรมนั้นรู้สึกว่าตัวเองทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ตอนนี้เขาต้องกลับมาตั้งคำถามว่าได้ทำผิดจริงหรือไม่ ผิดอย่างไร? และข้อกล่าวหาที่ว่าทำให้เกิดความหวาดกลัวนั้นคือหวาดกลัวอะไร?
นายกอ เล่าต่อมาว่าช่วงแรกๆ ที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นเขารู้สึกกลัว เพราะหลังทำกิจกรรมในวันที่ 16 ก.ค.ได้มีตำรวจมาหาที่บ้านถึง 2 ครั้งในวันเดียวกันเพื่อมาสอบถามและขอค้นข้อมูลในคอมพิวเตอร์ จากนั้นในวันจันท์ที่ 19 ก็มาที่บ้านอีกครั้งพร้อมกับหมายค้นและหมายเรียกผู้ต้องหา โดยได้ยึดเอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของเขาไปด้วยโดยอ้างว่านำไปตรวจสอบข้อมูลซึ่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการรายงานผลการตรวจสอบ และยังไม่มีการคืนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก
ส่วนผลกระทบต่อครอบครัว นักเรียนชั้น ม.5 คนดังกล่าวเล่าว่าคุณแม่ของเขาเครียดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับจากปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกันว่าจะไปปรึกษาใคร จะทำอย่างไรกันดี เพราะนอกจากคดีความแล้วยังกลัวว่าจะส่งผลกระทบกับหน้าที่การงานของคุณพ่อ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ขู่ว่าถ้าไม่ให้ความร่วมมือพ่อซึ่งเป็นข้าราชการอาจโดนคำสั่งโยกย้าย และขณะนี้ก็เริ่มกลับมาเครียดอีกครั้งเนื่องจากเกรงว่าเรื่องจะยืดเยื้อต่อไปไม่ยอมจบ
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการพูดว่าพวกเขาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง นายกอกล่าวว่าคนที่พูดไม่มีสิทธิมากล่าวหาลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานอะไร ส่วนคนเสื้อแดงที่ถูกหมายเรียกพร้อมๆ กันนั้นเป็นเพียงคนที่เคยพบกันและมีการขอชื่อเพื่อคุยกันผ่าน Facebook ไม่ได้มีการนัดแนะร่วมกันในการทำกิจกรรม ดังที่มีคนพยายามโยงใย
“เราไม่ใช่เครื่องมือ เพราะสิ่งที่ผมทำมันคือความเห็นของผมเอง” นายกอ กล่าว
นายกอกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เขามีกำลังที่ดีจากคนรอบข้างทั้งพ่อ-แม่ เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ต่างบอกให้เขาสู้ต่อไป ส่วนคนอื่นๆ ที่ร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน จากที่ผ่านมาได้เจอและได้พูดคุยถามไถ่ว่ากำลังใจยังดีอยู่ไหม คำตอบที่ได้คือกำลังใจยังดีกันทุกคน
“ผมจะพูดตามความจริง ข้อกล่าวหาอะไรที่ไม่ใช่ความจริงจะปฏิเสธ" นักเรียนชั้น ม.5 กล่าวเมื่อถามถึงสิ่งที่เขาจะทำต่อไปในการต่อสู้กับข้อกล่าวหา ส่วนจะทำกิจกรรมอะไรต่อไปหรือไม่คงต้องรอให้มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่เสียก่อน
ทั้งนี้ จากกิจกรรมชูป้ายคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นายกอและนักศึกษาอีก 4 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.เมือง จ.เชียงราย ตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามมาตรา 9 (1) และ (2) คือ ชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยง ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ประกาศกำหนด ร่วมกันเสนอข่าว ทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งพิมพ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชน เกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีโทษสูงสุดคือจำคุก 2 ปีและปรับไม่เกิน 20,000 บาท