WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, August 8, 2010

“โดยเร็ว”ไม่ใช่“ทันที”...“ศีลห้า”จึงเป็นแค่ ศีล ฮ่าๆๆ

ที่มา โลกวันนี้


เรื่องจากปก
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
ปีที่ 6 ฉบับที่ 270 ประจำวัน จันทร์ ที่ 2 สิงหาคม 2010
โดย ทีมข่าวรายวัน

สังคมไทยวันนี้จึงไม่ใช่ไม่รู้ว่าอะไรสีดำ อะไรสีเทา หรืออะไรสีขาว
จริงๆแล้วสังคมไทยรู้ดีเสียยิ่งกว่าอะไร แต่กลับยอมปิดตา ปล่อยให้สังคมไปตามยถากรรม ไม่กล้าสู้และยอมรับความจริง

“ปัจจุบันการกระทำที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงมีความหลากหลายมาก แต่กฎหมายทุกฉบับจะพยายามนิยามให้ครอบคลุมกว้างๆ โดยไม่จำแนกแยกแยะ และมักใช้เครื่องมือตามกฎหมายโดยไม่มีการแยกแยะเช่นเดียวกัน หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะเกิดความเสี่ยงที่ “ภัยคุกคาม” บางชนิดจะป้องกันปราบปรามไม่ได้ ขณะที่อาจมีการใช้อำนาจตามกฎหมายในทางที่ผิด”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ความเห็นในบทความ “กฎหมายความมั่นคงกับสถานการณ์ปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2550 คัดค้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพราะหากนิยาม “ภัยคุกคามความมั่นคง” อย่างไม่แยกแยะอาจมีการใช้กฎหมายในทางที่ผิด ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงอย่างแท้จริง การดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้จึงควรกระทำด้วยความรอบคอบ และยึดถือหลักการที่ถูกต้องสอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ส่วนการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมีตราบเท่าที่ไม่ใช้ความรุนแรง การควบคุมต้องแตกต่างจากการก่อการร้ายอย่างชัดเจน

แต่วันนี้นายอภิสิทธิ์กลับเห็นดีเห็นชอบกับการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากมาย แม้แต่การจับกุมโดยไม่มีข้อกล่าวหาหรือหลักฐานใดๆ แม้แต่การฆ่าและทำร้ายประชาชนยังไม่มีความผิดจนนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่มีผู้ถูกสังหารโหดถึง 90 ศพ บาดเจ็บและพิการเกือบ 2,000 คน

ฆ่าคนบาปหนัก

ตามหลักศาสนาพุทธนั้น การฆ่าสิ่งมีชีวิตถือเป็นบาปทั้งสิ้น โดยเฉพาะการฆ่าคนถือว่าเป็นบาปมาก อย่างที่ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวถึงการฆ่าเมื่อ 1.สัตว์นั้นมีชีวิต 2.เรารู้อยู่แล้วว่าสัตว์นั้นมีชีวิต 3.มีจิตที่จะฆ่า 4.พยายามฆ่า และ 5.มีคนตายตามความพยายามนั้นถ้าครบทั้ง 5 ประการถือเป็นการฆ่าที่สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าคนสั่งฆ่าหรือคนลงมือฆ่าก็บาปพอๆกัน เพราะมีเจตนาประกอบทั้งคู่ บาปจากการฆ่าคนจะส่งผลทั้งทางโลกและทางธรรม เริ่มตั้งแต่ถูกติติงจากคนในสังคม ติดคุก หรือถูกประหารชีวิต ขณะที่จิตใจของผู้สั่งฆ่าและลงมือฆ่าจะหม่นหมอง เมื่อตายไปแล้วต้องชดใช้กรรมไม่หมดสิ้น

มือถือสาก ปากถือศีล

วันนี้ประชาคมโลกต่างไม่เชื่อว่าประเทศไทยที่เป็นเมืองพุทธและให้ความสำคัญกับเรื่องบาปบุญคุณโทษกลับเกิดเหตุการณ์โหดเหี้ยมอำมหิต รัฐบาลและกองทัพสามารถฆ่าประชาชนได้อย่างเลือดเย็น เพราะประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมและประชาธิปไตย โดยสังคมไทยส่วนใหญ่กลับนิ่งเฉยและจมปลักกับกระแสการปลุกระดมและโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลที่กล่าวหาใส่ร้ายคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้ามเป็น “ผู้ก่อการร้าย” และ “ล้มสถาบัน”

โดยเฉพาะความไม่ยุติธรรมและสองมาตรฐาน การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่ทำให้มีคนตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รวมทั้งช่างภาพอิตาลีและญี่ปุ่น แต่ 2 เดือนที่ผ่านมานอกจากจะไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบและเปิดเผยผลการชันสูตรพลิกศพแล้ว รัฐบาลยังไล่ล่าและกวาดล้างจับกุมคนเสื้อแดงไปคุมขังกว่า 400 คน ไม่ต่างกับการกวาดจับนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ในข้อหา “ภัยสังคม”

องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รัฐบาลหลายประเทศ นักวิชาการ และภาคประชาชน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที ไม่ใช่ทยอยยกเลิก หรืออ้างสถานการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมหรือกลบเกลื่อนและบิดเบือนการสังหารโหดที่เกิดขึ้น

ประจานการสังหารโหด

ดังนั้น ตราบใดที่นายอภิสิทธิ์ยังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือทางการเมืองไล่ล่าและกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะยัดเยียดหรือกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหรือล้มสถาบันก็ไม่สามารถลบความจริงการสังหารโหด 90 ศพได้ แม้นายอภิสิทธิ์และพวกจะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุ้มครอง แต่การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความจริงตามกระบวนการยุติธรรมปรกติจะยังมีต่อไป

อย่างกรณีนายบดินทร์ วัชโรบล ผู้สื่อข่าวอิสระ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก กับนายทหารรวม 13 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายสาหัสจากกรณีสั่งทหารพร้อมอาวุธเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้นายบดินทร์ถูกยิงได้รับบาดเจ็บกระสุนฝังใน

หรือกรณีพี่สาวของช่างภาพอิตาลีที่เสียชีวิตจากวาทกรรม “กระชับวงล้อม” ก็ออกมาแสดงความไม่พอใจที่คดีไม่มีความคืบหน้าหรือไม่มีการเปิดเผยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย เช่นเดียวกับช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่ถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองสื่อมวลชนโดยชอว์น คริสพิน ตัวแทนของคณะกรรมการพิทักษ์สื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกมากดดันรัฐบาลไทยด้วยการแถลงข่าว โดยเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับสื่อและการเมืองในประเทศไทยตีแผ่ข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา

คืนความเป็นมนุษย์

แม้แต่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ยังออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน “โดยเร็ว” เพราะไม่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อการสร้างความสมานฉันท์และการปฏิรูปประเทศอีกด้วย แม้นายอภิสิทธิ์จะเล่นลิ้นใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป เพราะ คปร. ไม่ได้เรียกร้องให้ยกเลิก “ทันที” แต่ต้องการให้ยกเลิก “โดยเร็ว” เท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องรีบร้อน

ขณะที่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ยังออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนและแก้ไขแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตีตรวนผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หลังจากเห็นภาพของแกนนำคนเสื้อแดงถูกตีตรวนมาขึ้นศาล แม้รัฐบาลจะอ้างทำตามกฎของกรมราชทัณฑ์กับนักโทษอาญา แต่ประชาคมโลกถือว่าแกนนำคนเสื้อแดงและคนเสื้อแดงกว่า 400 คนที่ถูกจับกุมนั้นเป็น “นักโทษการเมือง” ไม่ใช่นักโทษคดีอาญาแต่อย่างใด

นอกจากความเห็นของ คอป. ไม่เพียงให้รัฐบาลยกเลิกการตีตรวนผู้ต้องขังเพื่อไม่ให้กระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งขัดต่อมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติ ยังถือว่าการแก้ไขดังกล่าวจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและการปรองดองทั้งคนในชาติและผู้ต้องขังทั่วไปอีกด้วย ไม่ใช่เฉพาะแกนนำคนเสื้อแดงหรือนักโทษทางการเมืองเท่านั้น รวมทั้งยังเป็นการเรียกความเชื่อและความศรัทธาให้กับกระบวนการยุติธรรมอีกทางหนึ่งด้วย

ไม่เว้นแม้แต่ภาคการท่องเที่ยว นายอภิชาติ สังฆอารี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ยังออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้วันนี้จะเอาเหตุการณ์วางระเบิดที่หน้าห้างบิ๊กซี สาขาราชดำริ มาเป็นข้ออ้าง แต่ก็เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่จำเป็นเลย หากเจ้าหน้าที่รัฐตั้งใจทำงานและรับผิดชอบหน้าที่ โดยดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เนื่องจากนักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการประกันภัยต่างๆที่ไม่คุ้มครองนักท่องเที่ยวอีกด้วย

สองมาตรฐาน

ไม่ใช่แค่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ทำให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่ต่างกับรัฐบาลเผด็จการภายใต้กองทัพ ปัญหาสองมาตรฐานยังปรากฏให้เห็นชัดเจน อย่างล่าสุดกรณี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำคนเสื้อเหลืองประมาณ 700 คนไปยื่นหนังสือต่อองค์การยูเนสโกในประเทศไทย เพื่อคัดค้านกัมพูชาที่ขอบริหารจัดการพื้นที่รอบประสาทพระวิหารเป็นเขตมรดกโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาททางชายแดนกับไทย ทำให้การจราจรบนถนนสุขุมวิทชะงัก รวมทั้งเส้นทางสายสำคัญที่เชื่อมต่อ

สำนักข่าว DPA (Deutsche Presse-Agentur) ของเยอรมนีรายงานว่า เป็นการชุมนุมที่ถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ เพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินห้ามไม่ให้มีการชุมนุมเกิน 5 คน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่ได้รับคำสั่งให้จับกุม พล.ต.จำลองและคนเสื้อเหลือง ซึ่งแตกต่างกับการจับกุมคนเสื้อแดงไปแล้วกว่า 400 คน

สื่อเยอรมนียังกล่าวถึงการยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ทำให้ประเทศไทยเสียหายนับแสนล้าน แต่จนจึงขณะนี้ พล.ต.จำลองและแกนนำพันธมิตรฯยังไม่ถูกดำเนินคดีและควบคุมตัวใดๆ โดยสำนักข่าวของเยอรมนีกล่าวสรุปว่า...“เรารู้ว่ามีสองมาตรฐานในประเทศไทย”

ขณะที่นายนที ศรวารี สมาชิกเครือข่ายเฟซบุ๊ค สมาชิกเครือข่ายวันอาทิตย์สีแดงเพียงคนเดียว ยืนตะโกนที่แยกราชประสงค์ว่า “ที่นี่มีคนตาย” และให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือกรณีนักเรียน นักศึกษาเชียงราย 5 คน ซึ่งแสดงออกทางการเมืองโดยใช้ผ้าปิดปากและป้ายข้อความ “ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์” และเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลับถูกจับกุมและตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่เพียงสะท้อนสองมาตรฐานแล้ว ยังถือเป็นความอัปยศอย่างยิ่งของการเมืองไทยขณะนี้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ประกาศเป็นนักการเมืองประชาธิปไตย แต่กลับใช้กฎหมายเยี่ยงเผด็จการมาบังคับ รวมทั้งกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ก่อการร้าย

ผิดเฉพาะเสื้อแดง!

ปัญหาของสังคมไทยวันนี้จึงไม่ใช่แค่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น เพราะสังคมไทยและคนไทยต่างเห็นและรู้ดีว่า 90 ศพที่ตายนั้นใครฆ่า จะเป็นคนมีสีหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นคนที่มีอาวุธแน่นอน ไม่ใช่ “ไอ้โม่งชุดดำ” ที่ถูกอุปโลกน์ขึ้น จนวันนี้ก็จับได้แค่ “ไอ้หรั่ง-สุรชัย เทวรัตน์” ที่ถูกยัดเยียดถึง 9 คดี ไม่ต่างกับซูเปอร์แมนที่วิ่งรอกก่อกวนวันหนึ่งได้ถึง 2 แห่ง

รวมทั้งการรวบตัว “ไอ้กบ-ส.ต.รชต วงค์ยอด” ที่เป็นคนขับรถ เสธ.แดง ซึ่งดีเอสไอระบุว่าเป็นคู่หู “ไอ้หรั่ง” ทั้งที่ “ไอ้กบ” ที่ตัวเองบอกว่าชื่อ “ป๊อด” ไม่เคยชื่อ “กบ” ยืนยันว่าช่วงที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดงตนเองเป็นทหารอยู่ในสังกัดตลอดเวลา ไม่เคยไปร่วมชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว พร้อมทั้งอ้างพยานและที่อยู่ให้กับผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบอีกด้วย ซึ่งไม่รู้เรื่องจะเงียบหายไปเหมือน “ไอ้โม่ง” ที่เผากลางเมืองหรือไม่ จนถึงวันนี้ยังจับใครไม่ได้ แต่คนเสื้อแดงถูกประณามว่าเผาบ้านเผาเมืองไปเรียบร้อยแล้ว

ศอฉ. และดีเอสไอจึงต้องตอบคำถามเหล่านี้กับสังคมให้ได้เช่นกัน ไม่ใช่ใช้อำนาจที่มีมากมายจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปกล่าวหาหรือจับกุมใครก็ได้ หรือจะนำมาใช้เฉพาะกับคนเสื้อแดง ขณะที่คนเสื้อเหลืองและเสื้อหลากสีทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินเช่นกันแต่กลับไม่จับกุม พันธมิตรฯปิดถนนสุขุมวิท ประท้วงยูเนสโกได้ไม่ผิด แถมนายอภิสิทธิ์ยังเรียนเชิญแกนนำพันธมิตรฯเปิดบ้านพิษณุโลกให้เข้าปรึกษาหารืออีกด้วย

อีกทั้งข้อหาก่อการร้ายกรณีปิดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรฯที่ตำรวจไม่กล้าดำเนินการใดๆ แม้จะเบี้ยวไม่มาตามหมายเรียก ขณะที่แกนนำคนเสื้อแดงถูกจับติดคุกและ เร่งคดีเพื่อดำเนินการส่งฟ้องศาลอย่างรวดเร็ว

สังคมไร้สติ!

สังคมไทยวันนี้จึงไม่ใช่ไม่รู้ว่าอะไรสีดำ อะไรสีเทา หรืออะไรสีขาว จริงๆแล้วสังคมไทยรู้ดีเสียยิ่งกว่าอะไร แต่กลับยอมปิดตา ปล่อยให้สังคมไปตามยถากรรม ไม่กล้าสู้และยอมรับความจริง ไม่ใช่เพราะโง่หรือไม่รู้ แต่ยอมเหยียบ ย่ำซ้ำเติม ยอมให้เกิดความอยุติธรรมเพียงเพราะเพื่อให้ได้ชัยชนะ และเพราะความโกรธเหมือนคำพระที่ว่า “โกรธเพราะความเกลียด โกรธเพราะความกลัว โกรธเพราะความเสียใจ และโกรธเพราะความอิจฉาริษยา”

ผู้นำประเทศสอนให้คนไทยรู้จักรักษาศีลห้า ในขณะที่แค่ศีลข้อแรก “ปาณาติปาตา เวรมณีฯ” ที่ให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แล้ว 90 ศพที่ตายเกลื่อนนั้นคือสัตว์ที่มีชีวิตหรือไม่?

“อทินนาทานา เวรมณีฯ” ที่ให้งดเว้นการถือเอาของผู้อื่น ซึ่งใช้ไม่ได้เลยกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชันจนต้องปลดและสับเปลี่ยนรัฐมนตรี ขณะที่ “มุสาวาทา เวรมณีฯ” ที่ให้งดเว้นจากการกล่าวเท็จ มีนักการเมืองสักกี่คนที่รักษาศีลข้อนี้ได้ ส่วน “กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณีฯ” ที่ห้ามประพฤติผิดในกาม คงเป็นเรื่องน่าขำและน่าอายที่จะต้องพูดถึงรัฐมนตรีหรือระดับบิ๊กในบางพรรคที่ไม่เว้นแม้แต่เมียเพื่อน

ส่วนข้อสุดท้าย “สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณีฯ” อาจมีบางคนงดเว้นจากการเสพสุรายาเมาก็จริง แต่กลับเสพติดอำนาจอย่างไม่ลืมหูลืมตา ติดใจในรสอำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ต่างอะไรกับติดยาเสพติดจนเลิกไม่ได้

ความปรองดองและปฏิรูปประเทศจึงเป็นเพียงวาทกรรม “ตอแหล” ท่ามกลางบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยซากศพและกองเลือด

ผู้นำบางประเทศกล้าสอนคนอื่นให้ถือศีลห้า ในขณะที่ตนเองทำได้แค่ “มือถือสาก ปากถือศีล”

การโกหกคือบาปแรกที่จะนำไปสู่บาปอื่นๆ

“กระชับพื้นที่” มีคนตายเป็นสิบ

“กระชับวงล้อม” ตายไปเกือบร้อย

“โดยเร็ว” ไม่ใช่ “ทันที” จึงไม่ต้องรีบร้อน

“ศีลห้า” ของคนบางคนจึงเป็นแค่ “ศีลฮ่า” ที่น่าหัวเราะและน่าละอายอย่างที่สุด!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 270 วันที่ 31 กรกฎาคม–6 สิงหาคม พ.ศ. 2553 หน้า 8 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน