ที่มา บางกอกทูเดย์ ลุ้น ‘ก่อแก้ว-เหวง’ รอลุ้นต่อ ก่อนหน้านี้นายก่อแก้ว ยื่นหลักทรัพย์เงินสด จำนวน 2 ล้านบาท ขณะที่ น.พ.เหวง ใช้เงินสด 2 ล้านบาท บวกกับที่ดินอีกรวม 7 ล้านบาท ขอประกันตัวมาแล้ว แต่ศาลไม่อนุญาต คาดว่าจะยื่นประกันในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) นอกจากนี้ ในวันนี้ (2 ส.ค.) ทีมทนายความจะยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการในคดี ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนสั่งฟ้อง 25 แกนนำ นปช. ในข้อหาก่อการร้าย ส่วนรายละเอียดนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 905 ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ องค์คณะศาลอุทธรณ์ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งกรณีทนายความของนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันใช้ หรือสนับสนุนผู้อื่นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135 / 1-3 ยื่นขอประกันตัว โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ได้ความจากจากการสืบพยาน นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่าได้เคยประสานงานกับนายวีระ แล้ว ผู้ต้องหาไม่มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรง ขณะที่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็จัดกลุ่มผู้ต้องหาให้อยู่ในกลุ่มที่ไม่ใช้ความรุนแรง และผู้ต้องหาก็ได้เข้ามอบตัว ประกอบกับสถานการณ์คลี่คลายลงแลัว เชื่อว่าหากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี ไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยาน จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาหลักทรัพย์ประกันตัว 6 ล้านบาท นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่งห้ามนายวีระ เดินทางออกนอกประเทศ รวมทั้งพื้นที่ กทม. เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และห้ามนายวีระ ร่วมกับกลุ่มบุคคลชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เว้นแต่จะเป็นการอยู่กับกลุ่มญาติ และห้ามนายวีระ ให้ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะด้วย โดยศาลยังได้มีคำสั่งให้นายวีระ รายงานตัวต่อศาลชั้นต้น ทุก 15 วัน ซึ่งการที่ศาลให้ประกันตัวนายวีระ และการที่นายกอร์ปศักดิ์ เบิกความช่วยนายวีระ จนได้ประกันตัว ได้ก่อให้เกิดปฏิกริยาตามมาพอสมควร เพราะนอกจากจะมีการยื่นอุทธรณ์ขอประกันตัวนายก่อแก้ว และ น.พ.เหวง ตามมาอีกระลอก เพราะนายก่อแก้ว ถึงขนาดที่กล้าลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม เขต 6 กทม. ย่อมสะท้อนชัดเจนว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะหลบหนีอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกันปฏิกริยาที่ตามมาจากการที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นพยานยืนยันว่า นายวีระ มุสิกพงศ์ ผู้ต้องหาก่อการร้าย ไม่มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงจนได้รับการประกันตัว ได้ทำให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รีบออกมาให้ความเห็น ว่า จะไม่ส่งผลต่อคดีก่อการร้ายที่ดีเอสไอ สรุปสำนวนโดยมีความเห็นสั่งฟ้อง และส่งให้อัยการฝ่ายคดีพิเศษพิจารณาหลักฐานในสำนวนคดี เนื่องจากการก่อการร้ายไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ความรุนแรง แต่เป็นรูปแบบการกระทำความผิดที่แบ่งแยกหน้าที่กันทำ เช่น การเป็นผู้นำในการปราศรัย ซึ่งตามแนวทางการสอบสวนของดีเอสไอระบุว่า นายวีระ ไม่ใช่กลุ่มฮาร์ดคอร์ที่นิยมความรุนแรง แต่เป็นแกนนำมีหน้าที่ประสานงาน เพื่อให้เกิดการวางแผนก่อการร้าย อธิบดีดีเอสไอ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองก่อนหน้านี้ว่า หลังคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติรับคดีที่เกี่ยวข้องกับ 4 ข้อหาหลักให้เป็นคดีพิเศษ ประกอบด้วย การก่อการร้าย การข่มขู่รัฐบาล การทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน และการกระทำผิดต่ออาวุธยุทโธปกรณ์ ขณะนี้ดีเอสไอสรุปสำนวนคดีส่งฟ้องอัยการไปแล้ว 21 คดี โดยคดีก่อการร้ายที่สั่งฟ้องไปเป็นสำนวนคดีที่ 21 ส่วนอีก 20 คดีเป็นการก่อเหตุวางระเบิดในจุดต่างๆ ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้เร่งรัดสั่งฟ้องคดีใดเป็นพิเศษ แต่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน หากคดีใดหลักฐานครบถ้วนจะสรุปสำนวนส่งฟ้องทันที ซึ่งที่ผ่านมาได้ทยอยสั่งฟ้องคดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะคดีก่อการร้ายที่เพิ่งส่งฟ้องไปเท่านั้น ส่วนคดีระเบิดที่กลางซอยรางน้ำตรงข้ามห้างคิงพาวเวอร์ว่า เหตุระเบิดตำรวจต้องเป็นฝ่ายสืบสวนหาข่าว ส่วนดีเอสไอเป็นฝ่ายสอบสวน กรณีระเบิดเฉพาะหน้าห้างบิ๊กซี ราชประสงค์ ตำรวจได้โอนคดีให้ดีเอสไอแล้ว ส่วนเหตุระเบิดที่ซอยรางน้ำยังไม่โอนคดีมา ตำรวจและดีเอสไอกำลังช่วยกันเร่งตรวจสอบเหตุระเบิดทั้ง 2 จุด การที่นายธาริต ยังคงพยายามที่จะเอาใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการที่ยังคงรับลูกจาก ศอฉ. ในเรื่องของการกำหนดกรอบว่าการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นเรื่องของการก่อการร้าย ยิ่งทำให้บรรยากาศการปรองดองยากที่จะเกิดขึ้น และที่สำคัญด้วยการยืนกรานว่ามีการก่อการร้ายเช่นนี้เอง ได้ทำให้บรรดาผู้ที่เสียหายจากกรณีการสลายการชุมนุมพฤษภาอำมหิต 53 รวมทั้งการเผาสถานที่อาคารต่างๆ แม้จะมีการทำประกันเอาไว้ ก็ไม่ได้รับการชดเชยเลยกระทั่งบัดนี้ เพราะบริษัทประกันต่างหยิบยกประเด็นก่อการร้ายขึ้นมาเป็นข้อปฏิเสธว่า การประกันวินาศภัยไม่ได้คุ้มครองถึงกรณีการก่อการร้าย ดังนั้นผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย จึงอดเกิดความรู้สึกกับท่าทีของรัฐบาลและท่าทีของนายธาริต ไม่ได้ ที่ยังคงยืนกรานว่าเป็นเรื่องของการก่อการร้าย “ก็เข้าใจว่านายธาริต ต้องการเติบโตในหน้าที่ราชการ ต้องการขยับไปเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม แต่โดยข้อเท็จริงที่นายธาริต เองทำงานร่วมกับ ศอฉ. ก็รู้ๆ อยู่ว่าอะไรเป็นอะไร รวมทั้งสามัญสำนึกน่าจะรู้ดีว่า จริงๆ แล้วการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นการก่อการร้ายจริงหรือไม่ ดังนั้น การที่นายธาริต ยังออกมาเล่นงานในคดีก่อการร้ายไปเรื่อยๆ แบบนี้ การต่อสู้ของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ประกันจ่ายเงินชดเชย ก็คงเป็นความหวังที่ริบหรี่เต็มทน อยากให้นายธาริต หันมามองมุมนี้บ้าง แทนที่จะมองในมุมของตนเองและการก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอย่างเดียว” ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้และยังไม่สามารถเคลมประกันได้กล่าว
ขยับเดินเกมต่อหลังจากที่มีกรณีประกันตัว นายวีระ มุสิกพงศ์ ได้แล้ว เป้าหมายต่อไปคือการที่จะขอประกันตัว นายก่อแก้ว พิกุลทอง และ น.พ.เหวง โตจิราการ ทั้งนี้ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช. เผยว่า ได้เตรียมยื่นอุทธรณ์ขอประกันตัวนายก่อแก้ว พิกุลแก้ว และ น.พ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. โดยอ้างอิงถึงคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ที่อนุญาตปล่อย ตัวชั่วคราว นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. ซึ่งทั้งสองคนพร้อมจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดทุกประการ ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล