คอลัมน์ : รายการ ‘ความจริงวันนี้’
“...คนอื่นในระดับเดียวกันเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งจะได้รับการโปรดเกล้าฯ ทั้งหมด แต่ ป.ป.ช. และ กตต. ไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่อย่างใด... ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าที่ ป.ป.ช.ไม่ยอมออกจากตำแหน่งและยังดึงดันที่จะอยู่ในตำแหน่ง ตะแบงเอาสีข้างเข้าถู เป็นเพราะท่านรับงานมาแล้วจะต้องทำงานให้เสร็จหรือเปล่า ?...”
เวลาดี 4 ทุ่ม กับรายการ “ความจริงวันนี้” ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เป็นการออกอากาศครั้งที่ 3 ดำเนินรายการโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ และมี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน เป็นแขกรับเชิญ
วีระ : วันนี้ยังคงความเข้มข้นอยู่ที่ความจริงอันแสนเจ็บปวดที่คนไทยทั้งประเทศต้องยอมรับกับพฤติกรรมเลวร้ายของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง องค์กรที่ไม่เคยได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่หน้าทนที่จะยืนหยัดทำหน้าที่ต่อไป และอีกความจริงที่เจ็บปวดไม่แพ้กันของกฎหมายเน่า 177 ฉบับ
ความจริงวันนี้สีเขียว มีควันหลงจากเรื่องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังมีต่อเนื่องมาอีกนิด
ณัฐวุฒิ : ขอตั้งขอสังเกต เข้าใจว่าการจัดรายการเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา เนื้อหาใช้ได้ วันนี้จำเป็นต้องพูดเรื่อง ป.ป.ช.อีก เพราะ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ได้ออกมาให้สัมภาษณ์อย่างลอยหน้าลอยตายิ่งกว่าลำตัดแม่ประยูร และตั้งข้อสังเกตว่ากระแสกดดันที่เกิดขึ้นกับ ป.ป.ช.เวลานี้เป็นเพราะป.ป.ช. ต้องดำเนินคดีที่ได้รับการโอนถ่ายมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งหากไม่ดำเนินคดีต่อจาก คตส. คงไม่มีใครพูดถึง ป.ป.ช.
ไม่จริงหรอกครับ ไม่ว่าจะรับคดีหรือไม่ หากมาครบถ้วนทุกขั้นตอนมาจากเบื้องสูง ตามกฎหมายในการเข้าสู้ตำแหน่งคงไม่มีใครกล้าว่าอะไร ที่สำคัญเราไม่ได้เป็นศัตรูกัน
วีระ : เราพูดไปตามข้อกฎหมาย เพราะมีประเด็นขึ้นมาแล้วเราจึงต้องนำเสนอ หากมีประเด็นข้อกฎหมายก็เถียงมา แต่ท่านเริ่มแสดงบทบาทของความเป็นนักการเมือง จะเถียงแบบนักการเมืองก็ไม่ได้รังเกียจ เราจะได้เห็นถึงสติปัญญาของคนที่นั่งอยู่ในตำแหน่งนี้มีแค่ไหน ตื้นลึกหนาบางอย่างไร
ณัฐวุฒิ : ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่าเราเป็นคนไทยซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในแผ่นดินที่ไม่ต้องการเห็นใครในประเทศนี้ประพฤติตัวในการเข้าดำรงตำแหน่งเหมือนคน 14 คน ที่ไม่มีการโปรดเกล้าฯ คนอื่นในระดับเดียวกันเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งจะได้รับการโปรดเกล้าฯ ทั้งหมด แต่ ป.ป.ช. และ กตต. ไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่อย่างใด หากตั้งข้อสังเกตกันแบบนี้ถูกมองว่าเป็นการเมือง
ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าที่ ป.ป.ช.ไม่ยอมออกจากตำแหน่งและยังดึงดันที่จะอยู่ในตำแหน่ง ตะแบงเอาสีข้างเข้าถู เป็นเพราะท่านรับงานมาแล้วจะต้องทำงานให้เสร็จหรือเปล่า ?
วีระ : จะตั้งประเด็นอย่างนี้ก็ได้ รู้ตัวบ้างหรือเปล่าว่าตัวเองไม่ได้แสดงบัญชีทรัพย์สินให้ประชาชนทราบแม้แต่น้อย แล้วจะมาตรวจสอบคนอื่น มาตรวจสอบนักการเมืองที่แสดงบัญชีทรัพย์สิน จะทำได้อย่างไร
ณัฐวุฒิ : ก็อ้างว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้
วีระ : ก็อ้างไป แต่เป็นการตั้งข้อสังเกตของพวกเรา
นายจตุพร : ประชาชนทั่วไปเขาไม่ทราบว่า ป.ป.ช.จะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินที่ไหนที่ไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ป.ป.ช.ต้องไปยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินที่องค์กรอิสระเหมือนกันเพียงแต่บัญชีของทรัพย์สินของ ป.ป.ช.ไม่ต้องนำมาแสดงเหมือนนักการเมือง แต่ ป.ป.ช.ต้องยื่นต่อประธานวุฒิสภา แต่คนที่ไปตรวจสอบคนอื่นข้อมูลของตนเองกลับถูกปิดเป็นความลับ การอธิบายของคุณวิชา จะมาหักล้างเรื่องพระราชอำนาจไม่ได้เลย
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) แปลความกันว่า พระราชอำนาจยังอยู่ครบ ปัญหาที่เกิดขึ้นย้อนไปว่าทำไมตุลาการยุคที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. แต่งตั้งจึงไม่กล้าสวมชุดครุยและไม่กล้าประกาศตัวปฏิบัติหน้าที่ในนามพระปรมาภิไธย แล้วเราจะยอมให้องค์กรที่ผิดกฎหมาย มามีอำนาจ มีคำสั่งมาดำเนินคดีกับองค์กรที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ หรือ มันก็เหมือนกับการให้ตำรวจปลอมมาจับตำรวจจริง แล้วเราจะยอมหรือ
วีระ : เราจะจมอยู่กับปัญหานี้นานไม่ได้ เพราะยังมีปัญหาอื่นรออยู่ วันหลังเราจะมาเก็บและขยายความ เพราะวันนี้ยัง มีอีกควันหลงหนึ่งเรื่องมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นมาตราที่ยกมาว่าเป็นปัญหาให้กระทรวงการต่างประเทศทำงานไม่ได้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีก็ออกมาปรารภในเรื่องนี้เหมือนกัน กระทรวงต่างก็มีปัญหา สิ่งที่พูดไปแล้วเป็นเพียงวรรคสองเท่านั้นเอง ยังมีอีกหลายวรรคที่ต้องพูดต่อ เพราะมีปัญหามาทำให้การบริหารประเทศได้ยาก เป็นเหมือนการมัดมือมัดเท้าไม่ให้ไปต่อสู้กับใครต่อใคร เช่น ตลาดโลก
“มาตรา 190 วรรคสาม ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย”
อย่างนี้ตายไหม วรรคที่สาม คณะรัฐมนตรีต้องจัดให้มีการรับความคิดเห็นของประชาชนก่อน บอกว่ากว้างขนาดไหน ต้องถามคนทั้ง 76 จังหวัด
ณัฐวุฒิ : ถ้าการทำสัญญาซื้อขายกับต่างประเทศ ตามที่บัญญัติไว้เราจะซื้อได้อย่างเดียว
วีระ : “มาตรา 190 วรรคสี่ เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็วเหมาะสม และเป็นธรรม”
การที่บอกว่าให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดสัญญาไม่เป็นไร เข้าถึงกันได้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ แต่ที่บอกว่า “ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมคณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็วเหมาะสม และเป็นธรรม” เป็นเรื่องที่ดีไม่มีปัญหา แต่ในทางปฏิบัติเราจะทำกันอย่างไร
มาตรา 190 เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาลอย่างแน่นอน มีการทดลองที่กองทัพอากาศซื้อเครื่องบินจากสวีเดน มีผลผูกพันงบประมาณ 5 ปี ถามประชาชนหรือยัง ก่อนเซ็นสัญญามันยุ่งยากมาก
วันนี้ตั้งใจจะพูดเรื่องผลงานอันเป็นที่น่าสงสัยของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งโดย คมช. 250 คน ที่เข้ามาทำหน้าที่ ผลงานของคนพวกนี้น่ารังเกียจมาก พอพ้นหน้าที่ไปแล้วน้ำลดตอผุด เราถึงเพิ่งรู้ว่ามีกฎหมายถูกเบรกมากมายเหลือเกิน 177 ฉบับ
จตุพร : ขออธิบายในรายละเอียดให้ฟัง กฎหมายที่ผ่านจาก สนช. มีการจำแนกออกมาเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน 1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งและการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 3 ฉบับนี้ได้ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว แต่องค์ประชุมไม่ครบ 2 ฉบับ วาระแรกองค์ประชุมมีเพียง 190 คน แต่ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ร.บประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง วาระแรกองค์ประชุมมีเพียง 115 คน เท่านั้นเอง
วีระ : กลุ่มที่ 1 เป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องต่างๆ กลุ่มนี้ประกาศบังคับใช้แล้ว เมื่อพิจารณาผ่านแล้วต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบและสอบถาม ศาลรัฐธรรมนูญตรวจพบว่า วาระที่ 1 นั่งพิจารณากันไม่พบองค์ประชุม จึงต้องรอการเป็นโมฆะ
จตุพร : ร่าง พ.ร.บ.ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ครบองค์ประชุม คือ 1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.... ให้ตกไปตามมาตรา 141 วรรคสอง ตามคำวินิจฉัย ที่2/2551 2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามกันทุจริต พ.ศ.... 3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.... ให้ตกไปตามคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ให้เป็นโมฆะ เพราะองค์ประชุมไม่ครบในวาระที่ 3
พอกฎหมายทั้ง 3 ฉบับตกไป ทำให้ประธานสภาฯ ต้องบอกให้สมาชิกกดปุ่มเพื่อแสดงตนก่อนว่าครบองค์ประชุมหรือไม่ ก่อนที่จะมีการลงมติใดๆ ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมาย 3 ฉบับเป็นโมฆะ
กลุ่มที่ 3 ที่ สนช.ได้ตรากฎหมายและประกาศบังคับเป็นกฎหมายแล้วจำนวน 211 ฉบับ อันนี้ไม่ต้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย 171 ฉบับ องค์ประชุมไม่ครบ ไม่ถึงครึ่ง เช่น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลวิธีพิจารณาความกฎหมายอาญา ฉ.23 พ.ศ. 2550 องค์ประชุมวาระแรกมีเพียง 74 คน วาระที่ 3 ก็แค่ 74 คน และที่น่าตกใจคือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 วาระแรกมาประชุมกันครบองค์ประชุมคือ 138 คน แต่วาระที่ 3 มาประชุมเพียง 108 คน ไม่ครบองค์ประชุม นี่คือ พ.ร.บ.งบประมาณที่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เสนอและใช้กันมาถึงปัจจุบัน
วีระ : เรื่องนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเมือง ถ้าหากเราเอาใจใส่เรื่องที่เป็นสาระของบ้านเมืองอย่างจริงจังได้หรือไม่ มั่นใจว่ายิ่งเปิดไปจะเจอ พ.ร.บ.สำคัญอีกเท่าไร กฎหมายที่ สนช. ผ่านมาบังคังคับใช้ 211 ฉบับ เป็นกฎหมายที่ไม่ชอบและไม่ครบองค์ประชุม 177ฉบับ
มีการพูดเรื่องการเมืองทีไรก็บอกว่า การเมืองไทยแย่เพราะนักการเมืองเลว นักการเมืองชั่ว นักการเมืองไม่มีคุณธรรม ภาพนักการเมืองใช้ไม่ได้ พูดถึงสภาก็ถูกเหยียดหยาม บางคนนั่งหลับในสภา ความจริงไม่ใช่เรื่องสาหัสอะไรเลย คนเรานั่งในสภาแล้วไม่ได้พูดโอกาสง่วงก็มีภาพออกมาประจานให้อายคน
แต่สุดท้ายแล้วที่มีการประเมินกันว่า ระบบการเลือกตั้งใช้ไม่ได้ โดยเฉพาะคณะที่เดินเข้ามายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสภาที่ดีต้องมาจากการแต่งตั้ง แล้วก็ได้เห็นกันวันที่ 19 กันยายน 2549 คมช.ยึดอำนาจและแต่งตั้งสภา แต่ตั้งรัฐมนตรี ผมก็เข้าใจว่าเลือกคนดีมีคุณภาพกันแล้ว ตั้งมา 250 คน มาใส่ไว้ในสภา ทำงานด้วยกัน
วันนี้เราวิจารณ์และประเมิณผลจากผลงานที่เขาทำได้ หากพิสูจน์แล้วว่ากฎหมาย 177 ฉบับนั้นใช้ไม่ได้ อยากถามว่า ที่อวดกันนักว่าต้องเอาพวกแต่งตั้งเข้ามา แล้วทำงานกันอย่างนี้ จะอธิบายอย่างไร
จตุพร : พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ฉบับที่... พ.ศ.... จำนวน สนช.เวลานั้นมี 241 คน แต่เข้ามาประชุมวาระที่ 1 เพียง 42 คน วาระที่ 3 มี 95 คน แล้วเราจะให้คนเพียงเท่านี้ออกกฎหมายมาบังคับใช้กับคนทั้งประเทศหรือ
วีระ : มีสมาชิกวุฒิสภา 250 ไปเอาคนเพียงกว่า 40 คนมาออกกฎหมายบังคับใช้กับคนทั้งประเทศได้หรือ แล้วคำว่านักการเมืองดีมีคุณภาพ มีคุณธรรม เราจะวัดกันที่ตรงไหน แล้วความรับผิดชอบของผู้ที่เสนอคน 250 คนมาทำงานจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะผลงานที่ออกมาอัปยศเหลือเกิน ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อทำอะไรไม่เข้าท่าเราสามารถด่าได้ เพราะประชาชนเลือกตั้งมา เช่นเดียวกันกับ สนช.ในยุค 17 เดือนของการยึดอำนาจคนแต่งตั้งจะออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการทำงานที่อัปยศนี้อย่างไร
จตุพร : กฎหมายอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม องค์ประชุมไม่ครบ ร่าง.พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล ตรงนี้องค์ประชุมก็ไม่ครบเช่นกัน ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประเด็นที่น่าสนใจเมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและชี้ให้เป็นโมฆะ กฎหมาย 177 ฉบับที่องค์ประชุมไม่ครบนั้นปรับใช้กันได้อย่างไร มันต้องเป็นโมฆะเหมือนกัน
ที่ยกเรื่องนี้มาพูดเพราะต้องการคำตอบจากประธาน สนช. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และสมาชิก สนช.ทั้ง 250 คน ว่ากระทำการเช่นนี้ได้อย่างไร ออกกฎหมายโดยที่องค์ประชุมไม่ครบแล้วเสนอกราบบังคมทูลได้อย่างไร
อยากจะเรียกร้องให้คณบดีคณะนิติศาสตร์ หรือนักกฎหมายสถาบันต่างๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ยึดอำนาจมีการแต่งตั้ง สนช. เข้าไปทำหน้าที่ องค์ประชุมไม่ครบออกกฎหมายมาถึง 58% ได้อย่างไร สงผลกระทบต่อประเทศชาติมากมาย
วีระ : ขอพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา มีหลายมาตราพิจารณาและผ่านไปโดยที่องค์ประชุมไม่ครบ เมื่อข้อเท็จจริงออกมาเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไร เนื้อในมีหลายมาตรานั่งพิจารณากันโดยที่องค์ประชุมไม่ถึงครึ่ง แล้วขายเหมาเข่งให้ประชาชนลงประชามติ
จตุพร : ปัญหาคือ รัฐธรรมนูญเป็นโมฆะหรือมีความชอบธรรมที่ประเทศนี้จะประกาศใช้ต่อไปหรือไม่
ณัฐวุฒิ : ผมรู้สึกอึดอัดมาก พวกเขาเป็นใครถึงได้ทำกับบ้านเมืองได้ถึงขนาดนี้ นายมีชัย ท่านต้องตอบด้วยว่าทำอะไรลงไป แม้องค์ประชุมไม่ครบ แต่ก็เชื่ออย่างแสนเจ็บปวดว่าวันที่รับเงินเดือนมากันครบ
จตุพร : วันที่ 1 สิงหาคมนี้ นายไชยวัฒน์ ติณรัตน์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นผู้ค้นข้อมูลเรื่องนี้จะจัดนิทรรศการที่อาคารรัฐสภา จะนำรายชื่อผู้ที่เข้าประชุมและไม่เข้าประชุม ในการพิจารณากฎหมาย 177 ฉบับ มาติดให้ทุกคนได้ทราบว่าใครทำงาน ใครไม่ทำงาน ความทันสมัยของสภาทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่าใครบ้างที่เข้าประชุมหรือไม่เข้าประชุม ใครลงมติหรือไม่อย่างไร
ณัฐวุฒิ : สิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้ทำให้คิดถึงคำพูดที่ฮิตอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ คือคำว่า “การเมืองใหม่” เขาพยายามจะลดพื้นที่ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ในสภาจะให้มี ส.ส. 30% เท่านั้น โดยบอกว่า ต้องการได้คนจากหายสาขาอาชีพ เป็นคนดีมีคุณธรรม มีศีลธรรม มีความรับผิดชอบ เขาบอกว่าคุณสมบัติที่บอกนี้หาไม่ได้จากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ประเด็นคือ สภาที่มาจากการแต่งตั้ง 100% ที่ผ่านมาเป็นเช่นไร
จตุพร : นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าไปรับตำแหน่งที่สอง เขาจะไม่ได้รับเงินเดือนทั้ง 2 ตำแหน่ง แต่จะต้องเลือกรับในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น ผิดกับ สนช. สามารถรับเงินเดือนได้ทุกทาง เช่น เป็นข้าราชการประจำก็รับเงินเดือนข้าราชการด้วยเมื่อเป็น สนช.ก็รับเงินเดือนของ สนช. ด้วย หรือมีตำแหน่งอื่นก็รับเงินเดือนไปด้วยครบทุกตำแหน่ง แตกต่างจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
วีระ : ความจริง การเมืองใหม่ ไม่ได้หมายความอย่างที่คุณณัฐวุฒิพูดเพียงอย่างเดียว แต่เขาบอกว่าการเมืองไทยถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ และต้องปฏิวัติโดยประชาชน เขาเสนอทฤษฎีนี้มา แล้วจะให้ประชาชนปฏิวัติเรื่องอะไร ให้ประชาชนปฏิวัติโดยไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ ไม่รับรัฐสภา ไม่รับระบบพรรคการเมืองที่มี แล้วเสนอว่าต้องมีของใหม่เข้ามาทดแทน เลือกตั้งเข้ามา 30% ลากตั้งอีก 70% นี่คือทฤษฎีที่เสนอกันที่สะพานมัฆวานฯ เสนอแล้ว ASTV เผยแพร่ไปทั่วโลก ปรากฏว่าเสียงตอบรับมีน้อย
มีคนตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น ยึดสะพานมัฆวานฯ ได้ นึกว่ายึดประเทศไทยได้หรือ จึงจะออกมาจัดการบริหารประเทศ บนเวทีนี้มีอะไรแปลกๆ แม้จะเลิกพูดคำว่า ปฏิวัติประชาชน แต่ก็ยังยืนยันระบบการเมืองใหม่ เราก็บอกว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เฉพาะบทที่ว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็มี 2 ประเภทอยู่แล้ว และพวกเราก็คัดค้านมาตั้งแต่ต้น
จตุพร : ส.ว. 74 คนมาจากการลากตั้ง 76 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน จังหวัดละคน วันที่เลือกประธานวุฒิสภาปรากฏว่า ต้องแข่งกันระหว่างเลือกตั้งและลากตั้ง ปรากฏว่าฝ่ายเลือกตั้งถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ล็อกคอไว้ 6 คน เหลือแค่ 70 คน ก็เสร็จ ชี้ได้ชัดเจนว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งภูมิต้านทานน้อยเหลือเกิน
พี่น้องประชาชนคนไทยต้องตั้งหลัก เพราะกลุ่มคนที่เสนอทฤษฎีการเมืองใหม่ เมื่อวันที่ไปลำเลิกกับ คมช.ว่าอุตส่าห์หลอกประชาชนมาโค่นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สำเร็จ นี่คือคำพูดของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ไปพูดกับพี่น้องในสหรัฐ ว่าหมดเงินส่วนตัวไปในการโค้นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ 400 ล้านบาท คนไทยต้องจดจำ เพราะฉะนั้นเมื่อมาเสนอทฤษฎีการเมืองใหม่ ถามว่าพี่น้องคนไทย จะให้คน 4-5 คนมาบริหารประเทศนี้หรือ
วีระ : ไม่ต้องวิตกกังวลมาก เพราะปัญหานี้ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร เรียกว่าจะเป็นพันธมิตรฯ หรือแนวร่วมก็ได้ ได้ออกมาวิจารณ์อย่างถึงกึ๋นว่าทฤษฎีการเมืองใหม่ เป็นทฤษฎีของคนข้างถนน เป็นทฤษฎีของคนอกหัก คนที่ร่วมคิดคือสมัครรับเลือกตั้งแล้วไม่มีใครเลือก สอบตก นายเอกยุทธยังบอกด้วยว่า ระบบลากตั้ง 70% ใช้ไม่ได้ เป็นระบบเหลวไหล ตรงนี้น่าจะคลายกังวลไปได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คลายกังวลคือ บรรดาแกนนำทั้งหลายได้ทยอยขึ้นศาลไปทีละคนสองคนแล้ว เพราะได้พูดจาหมิ่นประมาทมากมาย คงไม่น่าจะมีฤทธิ์เดชอะไรแล้ว
ณัฐวุฒิ : ขอตั้งข้อสังเกตระบบเลือกตั้งกับลากตั้ง สนช.ชุดที่ผ่านมา ชัดเจนแล้วว่าลากตั้งทำงานอย่างไร ส่วนฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรี มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่าเป็นรัฐบาลขี้เหร่ คือ นำคนที่ไม่มีความรู้ตามสาขามานั่งทำงานในแต่ละกระทรวง ผมย้อนกลับไปดูรัฐบาลชุดที่ผ่านมาที่สื่อมวลชนเรียกกันว่า รัฐบาลขิงแก่ ผมยืนยันว่ารัฐบาลขิงแก่ชุดที่แล้ว มีรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถตรงกับตำแหน่งงานที่มาบริหารราชการแผ่นดินมากที่สุด นับตั้งแต่เรามีรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อธิการบดี ม.เกษตรฯ ก็มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เมื่อนำคนเหล่านี้มารวมกันแล้วเป็นอย่างไร ครม.ขิงแก่ ผลงานเป็นเช่นไร
วีระ : สรรพคุณก็แค่แก้ท้องอืดท้องเฟ้อเท่านั้น นอกนั้นไม่มีผลงานอะไรที่จะมายกย่องได้เลย
จตุพร : คนไทยเห็นการเมืองมาหลากหลายรูปแบบแล้ว ปีครึ่งของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง บริหารประเทศจากสภาที่มาจากการแต่งตั้ง 100% นำพาประเทศให้ถอนหลัง และไม่รู้จะถอนไปอีกเท่าไร คงคงรู้ว่าหากแข่งขันโดยความเห็นของประชาชนคงสู้ไม่ได้ จึงตั้งทฤษฎีการเมืองใหม่ขึ้นมา ถามว่าคนไทย 63 ล้านคน ที่ถูกปล้นเสียงไปจะยอมได้อย่างไร
ความจริงที่ได้นำเสนอวันนี้เป็นความจริงที่เจ็บปวดมากที่ สนช. ที่ผ่านพ้นไปแล้วได้ไข่ทิ้งไว้ 211 ฉบับ เป็นไข่เน่า 177 และเป็นการพิสูจน์ว่า สนช.ที่มาจากการแต่งตั้ง 100% นั้นมีผลงานอย่างที่ปรากฏ ซึ่งอาจจะโมฆะไปถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยก็เป็นได้