คอลัมน์: บทบรรณาธิการ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งมีประธานกรรมการ 1 ท่าน และกรรมการอีก 8 ท่าน ล้วนเป็นผู้ที่มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ ความคิดความอ่าน ในเรื่องข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่า “อ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น” เป็นตำแหน่งที่ต้องยึดถือใน คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล โดยเฉพาะต้องยึดมั่นต่อสถาบันสูงสุดที่คนไทยทุกคนเคารพรักและเทิดทูน
สิ่งที่กล่าวขวัญในสังคมขณะนี้ และเป็นคำถามสำคัญของบ้านเมือง คือ 9 ป.ป.ช. มีการกระทำที่ถือเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ ขององค์พระมหากษัตริย์เจ้าหรือไม่?
ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กำหนดข้อความในลักษณะคล้ายกันไว้อย่างชัดเจน สำหรับที่มาของ ป.ป.ช. คือ
“พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา”
ทำไมจึงต้องบัญญัติตัวบทกฎหมายไว้เช่นนี้? ถือเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่ตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา
องค์กรนี้มีอำนาจและหน้าที่ในการเข้าตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ถึงขั้นการ ประหารชีวิต อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ซึ่ง เป็นพระราชอำนาจที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ผ่าน 3 ทางนี้นั่นคือ อำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ
เจตนารมณ์ของกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับที่มาของ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแม่ หรือกฎหมายลูก จึงต้องมีการกำหนดข้อกฎหมายเอาไว้แตกต่างจาก ข้าราชการธรรมดา ซี 9-10 อย่างแน่นอน
เจตนารมณ์ของกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับที่มาของ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแม่ หรือกฎหมายลูก ต้องการให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรพิเศษที่ไม่ธรรมดา ถือเป็นอำนาจที่ 4 ตามรัฐธรรมนูญ นั่นคือ องค์กรอิสระ จึงต้องมีความ สูงส่งกว่า ป.ป.ป. ในอดีต จึงมีการปรับปรุงเรื่องนี้ขึ้นมา
น่าเสียใจ! ในความพยายามตะแบง เพื่อจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ซึ่งพระมหากษัตริย์ โปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย และ นำมาลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมายอย่าง ถูกต้องตามครรลอง ใน การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
วันนี้ บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย กลับไปอ้างเงื่อนไขสมยอมกับฝ่าย เผด็จการทรราช คปค. ทำไมจึงไม่คืนตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งได้มาอย่างไม่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อพระราชอำนาจ ขององค์พระมหากษัตริย์
หากคณะกรรมการผู้ที่มี คุณวุฒิ วัยวุฒิ จะได้หันกลับไปทบทวนถึงที่มาอัน ผิดทำนองคลองธรรม ไม่ทำตามกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวพันกับ “พระราชอำนาจ” ซึ่งเป็นของสูง อำนาจที่ได้มาผิดลู่ผิดทาง แล้วท่านจะไปตัดสินชี้ชะตา ชี้เป็น ชี้ตาย อำนาจอธิปไตยที่มาจากประชาชน 63 ล้านคน ได้เต็มความภาคภูมิได้อย่างไร?
ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน ควรจะลองไปกราบไหว้อนุสาวรีย์ “พันท้ายนรสิงห์” ผู้รักษาความซื่อสัตย์ รักษากฎระเบียบ กฎมณเทียรบาลยิ่งกว่าชีวิตตน หรือ ไปท่องจำเพลงที่เด็ก ป.1 ป.2 ร้อง กันลั่นห้อง มีเนื้อความดังว่า “พันท้ายนรสิงห์ รักความจริงยิ่งกว่าชีวี ทำผิดไม่ขอปรานี...”
หากยังหน้าหนา หน้าทน นั่งดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป เห็นทีคงต้องมีคนไปร่วมตะโกนขับไล่ 9 ป.ป.ช. ออกไป ออกไป ออกไป…ดังกระหึ่มถนนพิษณุโลก เดือดร้อนเด็กๆ นักเรียนโรงเรียนราชวินิตมัธยมเป็นแน่แท้!