ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นของสาธารณชนต่อเรื่องสำคัญของประเทศไทย กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครพนม นครราชสีมา ลพบุรี จันทบุรี สมุทรสาคร ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,447 ตัวอย่าง กระจายครอบคลุมพื้นที่และครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศทุกวัย และทุกชนชั้นของสังคม ทั้งในและนอกเขตเทศบาล
โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-20 กรกฎาคม 2551 ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 80 กำลังติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์ แต่เมื่อถามว่าข่าวเหตุการณ์บ้านเมืองข่าวใดที่กำลังสนใจติดตามขณะนี้ พบว่า อันดับแรก ประชาชนร้อยละ 80 กำลังสนใจติดตามข่าวปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร รองลงมาคือร้อยละ 75.3 สนใจข่าวเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร้อยละ 66.4 สนใจข่าวเศรษฐกิจ
เมื่อถามถึงข่าวที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยและคนไทยทุกคน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.9 ระบุเป็นข่าวเศรษฐกิจ รองลงมาคือร้อยละ 54.1 ระบุข่าวปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา และร้อยละ 50.2 ระบุข่าวความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อสอบถามถึงวิธีการที่อยากเห็นในการแก้ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา กรณีปราสาทพระวิหาร ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 98.1 อยากให้การเจรจาตกลงด้วยสันติวิธีเพื่อประโยชน์ร่วมกันทั้งสองประเทศ ขณะที่มีเพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้นที่อยากเห็นการใช้กองกำลังทหารเข้าแก้ปัญหา
ดร.นพดล ยังได้กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชนต่อ 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.6 คิดว่า มาตรการชะลอการปรับราคาแอลพีจีในครัวเรือนจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ ร้อยละ 64.1 คิดว่าการลดค่าไฟฟ้า หากใช้ไม่เกิน 80 ยูนิตต่อเดือนจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ และร้อยละ 57.3 คิดว่าการลดอัตราภาษีน้ำมัน 6 เดือนจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่เหลืออีกสามมาตรการพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.9 เห็นว่ามาตรการไม่คิดค่าโดยสารรถเมล์ร้อนจำนวน 800 คันในกรุงเทพมหานคร ไม่ช่วยลดค่าใช้จ่ายอะไรเลย ร้อยละ 62.9 เห็นว่าการไม่คิดค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 ที่ไม่ปรับอากาศไม่ช่วยลดค่าใช้จ่ายอะไรเลย และร้อยละ 61.1 เห็นว่ามาตรการลดค่าน้ำประปา หากใช้ไม่เกิน 50 คิวต่อเดือนไม่ช่วยลดค่าใช้จ่ายอะไรเช่นกัน สำหรับเหตุผลส่วนใหญ่อยู่ที่ เป็นเพราะไม่ได้ใช้บริการ หรือใช้บริการน้อยมาก และมองว่าเป็นมาตรการระยะสั้น และเกรงว่าหลังจากผ่าน 6 เดือนจะมีภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นกว่าเดิม หากไม่มีมาตรการอื่น ๆ มารองรับ
สำหรับประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ความนิยมของสาธารณชนต่อ นายสมัคร สุนทรเวช ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกำลังเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 30.7 และเมื่อถึงเดือนมิถุนายนมาอยู่ที่ร้อยละ 52 และเพิ่มเป็นร้อยละ 57.1 ในการสำรวจครั้งล่าสุด อย่างไรก็ตามกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนยังไม่เปลี่ยนแปลงคืออยู่ที่ร้อยละ 40.4