คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
แม้ยังไม่มีเหตุการณ์ขั้นร้ายแรงเกิดขึ้นตรงชายแดนไทย-กัมพูชา
แต่ภาพที่กองกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือของทั้ง 2 ประเทศ ทยอยถูกส่งไปสมทบฝ่ายตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คงไม่อาจพูดได้อีกแล้วว่า...สถานการณ์ยังปกติ
รอเพียงคำสั่งจากผู้บัญชาการระดับสูง นายทหารที่ประจำการอยู่ ณ พื้นที่ก็จำ ต้องพร้อม “ปฏิบัติการ” ทันที...เพียงแต่นาทีนี้ยังไม่อาจรู้ได้ว่า เลวร้ายที่สุดคือ สั่งให้ทำอะไร
ทั้งทหารไทย และกัมพูชา ที่เห็นหน้าค่าตากันมาตลอด เป็นทหารที่ประจำอยู่ชายแดน ไม่ได้เพิ่งถูกส่งไปภายหลัง ย่อมมีสายใยของความเป็นมนุษย์ยึดโยงเข้าไว้ด้วยกันแล้ว ไม่ต่างจากชาวบ้านที่ทำมาหากินอยู่ ณ บริเวณนั้น
ถ้าวันใดจะต้องทำร้ายกัน…ก็คงเป็นเรื่องที่เจ็บปวดใจไม่น้อย
เรื่องทำนองนี้ คนที่ “มาแล้วก็ไป” เช่นม็อบคลั่งชาติ หวงก้างแผ่นดินทั้งหลายแหล่ จึงไม่มีวันเข้าใจ หรือไม่ก็ไม่ใส่ใจ
เพราะตัวเองมาแล้วก็ไป ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างแท้จริงเหมือนกับชาวบ้าน หรือนักธุรกิจไทยในกัมพูชาเหล่านั้น
ม็อบป่วนที่ขอแค่มี “ใบสั่ง” กับความหน้าด้านอีกเล็กน้อย ก็ทำเรื่องเสียหายร้ายแรงได้หน้าตาเฉย
หากรัฐบาลเด็ดขาดกับกลุ่มคนที่ “ยั่วยุ” ให้เกิด “สงครามระหว่างประเทศ” เหล่านี้ได้…ก็คงจะดีไม่ใช่น้อย
เพราะที่กลุ่มนี้กระทำ ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ การปีนรั้วเข้าไปในเขตพื้นที่ทับซ้อนที่กำลังเป็นปัญหากันอยู่ เหล่านี้ ไปไกลเกินกว่าคำว่า สิทธิพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ แล้ว…
หากแต่เป็นพฤติการณ์ที่อาจเรียกได้ว่า กำลัง บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ!
เมื่อเข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ อันอาจนำมาซึ่งการต่อสู้ระหว่างประเทศ การสูญเสียเลือดเนื้อ หรือการสูญเสียความน่าเชื่อถือต่อสายตาสังคมโลก…
เหล่านี้น่าจะมีน้ำหนักพอแล้ว ที่รัฐจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับภัยต่อความมั่นคงระหว่างประเทศเหล่านี้
เพราะเป็นความร้ายแรงชนิดที่ความมั่นคงเล็กๆ น้อยๆ ภายใน เช่น การจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล…ไม่อาจเทียบกันได้เลย
ความมั่นคงชนิดอื่นๆ อาจมีผลสั่นคลอนได้แค่รัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงาน
แต่กับความมั่นคงที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังล่อตะเข้อยู่แถวตะเข็บชายแดน-เขาพระวิหาร มีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงของ “คนทั้งประเทศ” อย่างไม่ต้องสงสัย
เพราะหากวันใดที่เรื่องระหว่าง 2 ประเทศ ขยายเป็นเรื่องขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
เมื่อนั้น ไทยก็อาจหลีกเลี่ยงการพิพาทหรือคำตัดสินใดๆ ไม่ได้ เว้นเสียแต่จะสั่งปิดประเทศ
ความพยายามของกัมพูชาในเวลานี้ ที่จะยื่นเรื่องให้ยูเอ็นเข้ามาให้ความสนใจกับเรื่องนี้
มองในแง่หนึ่งก็เป็นการฉกฉวยโอกาสทางการเมืองภายในประเทศของเขาเอง ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป
แต่ถ้าไม่มีคนโง่เขลาเบาปัญญาในประเทศเราไปสร้างเงื่อนไข เติมเชื้อไฟ ก็อาจไม่มีอะไรให้ฝั่งนั้นใช้เป็นเชื้อเพลิงได้
ที่น่าหงุดหงิดใจก็คือ เหตุใดรัฐบาลไม่ทำอะไรตั้งแต่ต้น
ม็อบกลางถนนในเมืองกรุง ที่ปล่อยให้ชุมนุมกันได้เสรี ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า นั่นเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
แต่กับม็อบสถุลแถวชายแดน ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติอย่างร้ายแรงนั้น ไม่น่าจะมีข้ออ้างใดที่เป็นการให้โอกาสได้
จนวันนี้ หากคิดจะห้ามปรามอะไร ก็แทบจะสายไปเสียแล้ว
เพราะเรื่องมันลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นภาพของกองกำลังทหาร 2 ประเทศ ทยอยมาตรึงกำลัง และนานาชาติก็เริ่มเข้ามาให้ความสนใจ
ถึงวันนี้ หากคิดจะจัดการอะไรกับม็อบเถื่อนที่ทำลายความมั่นคง ก็คงกลายเป็นได้แค่การทะเลาะกันเองของคนภายในประเทศ…
ให้ประเทศอื่นๆ เขาได้หัวเราะเยาะอย่างสมเพช ก็เท่านั้น