* วางตัวไม่เหมาะในสถานการณ์ขัดแย้ง
“นักวิชาการ” รุมตำหนิ “พล.อ.ปฐมพงษ์” ทำหนังสือถึง “พล.อ.เปรม” ในฐานะประธานองคมนตรี ขอขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ชี้แจง “เขาพระวิหาร” ผิดกาลเทศะ แถม “ป๋า” เกษียนหนังสือกลับ “เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินอย่างหนึ่ง” ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายคำปรึกษา ไม่ได้มีหน้าที่อนุญาตนายทหารคนไหน เป็นห่วงส่อสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในสังคม ติงผู้หลักผู้ใหญ่ควรรู้บทบาท ต้องระมัดระวังในสถานการณ์บ้านเมืองที่แตกแยกทางความคิดเป็น 2 ฝ่าย ชี้องคมนตรีต้องไม่เกี่ยวการเมือง ห่วงคนเชื่อว่าเป็นหัวขบวน “อำมาตยาธิปไตย” ตัวจริง
* ระวังคนเชื่อเป็นหัวขบวน “อำมาตยาธิปไตย”
เรื่องราวของ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคประชาธิปัตย์ พยายามจุดประเด็นล้มล้างรัฐบาล จนเรื่องราวทำท่าว่าจะบานปลายทั้งปัญหาในประเทศ และความสัมพันธ์ตามแนวชายแดนที่อยู่กันอย่างสงบมายาวนาน เป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความกังวลกันอย่างกว้างขวาง
รวมถึงกรณีล่าสุด พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประธานที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด ที่ยังเป็นนายทหารในราชการ แต่งเครื่องแบบเต็มยศขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นเวทีที่มีจุดยืนในการต่อต้านการทำงานของรัฐบาลอย่างชัดแจ้ง
โดยที่ยิ่งน่ากังวลมากขึ้นไปอีก เมื่อพล.อ.ปฐมพงษ์ ระบุว่าได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ ประธานองคมนตรี หรือแม้กระทั่งแกนนำพันธมิตรฯ และอ้างว่ามีการตอบรับจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะประธานองคมนตรี สนับสนุนการขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ว่า “เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินอย่างหนึ่ง”
ทำให้เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้งว่าการทำหนังสือถึงประธานองคมนตรี มิใช่ในนาม พล.อ.เปรม เป็นการส่วนตัว มีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะตำแหน่งประธานองคมนตรี มีการกำหนดกรอบบทบาทหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งเรื่องดังกล่าวยังสุ่มเสี่ยงต่อการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เสี่ยงต่อการกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงยังเสมือนเป็นการรับรองบทบาทของเวทีพันธมิตรฯ อีกด้วย นั้น
รศ.ดร.ศิลป์ ราศี นักวิชาการมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เหมาะด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรกคือ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ กระทำการผิดวินัยทหาร เพราะการทำเรื่องขอร้องประการใดก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับประเทศเช่นนี้ต้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชา นั่นก็คือ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไม่ใช่เรียนมายังประธานองคมนตรีเช่นนี้
ประการที่สองกรณีที่มีการอ้างว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินอย่างหนึ่งของประธานองคมนตรีนั้น ตนไม่เชื่อว่าประธานองคมนตรีจะไม่ทราบว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นสมบัติของประเทศกัมพูชาตามคำสั่งศาลโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พยายามกระทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาดินแดนของไทยอย่างสุดกำลังแล้ว
นอกจากนี้ยังสามารถมองได้ว่าเป็นการพยายามปลุกปั่นสร้างกระแสอะไรต่อไปอีกหรือไม่ เพราะขณะนี้สถานการณ์แบ่งออกเป็น 2 ขั้วทางการเมือง ดังนั้นการที่กล่าวหรือให้ความสนับสนุนคำขอร้องของพล.อ.ปฐมพงษ์ จะเป็นการตอกลิ่มทางความคิดของประชาชนว่า ประธานองคมนตรีเป็นบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนระบอบอำมาตยาธิปไตย ทั้งๆ ที่มีตำแหน่งเป็นถึงประธานองคมนตรีแต่กลับลงมายุ่งเกี่ยวทางการเมือง
“ประธานองคมนตรีเป็นผู้ใหญ่ การยุ่งเกี่ยวทางการเมือง อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและไม่สบายใจกับการแสดงออกเช่นนี้ นอกจากนี้หากประธานองคมนตรีมีความจงรักภักดีในสถาบัน และบ้านเมืองจริง การที่กลุ่มพันธมิตรฯ พูดพาดพิงเบื้องสูงอยู่เสมอๆ ผมยังไม่เคยเห็นท่านออกมาปกป้องเลยสักครั้ง ดังนั้นการจะทำอะไรท่านต้องว่างตัวเป็นกลาง ไม่ต้องเกี่ยวข้องเลย ไม่เช่นนั้นประชาชนจะคิดได้ว่าท่านคือคนสำคัญในระบอบอำมาตยาธิปไตยจริงๆ”
ด้าน ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ส่วนตัวแล้วตนมองว่าประธานองคมนตรี หรือองคมนตรีก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ใช่ผู้วิเศษ สามารถออกความคิดเห็นได้ แต่ก็ควรเป็นในทางที่ถูกที่ควร โดยควรหันหน้ามาร่วมมือกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และควรร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างสันติวิธี และให้เกิดความราบรื่น
ทั้งนี้เรื่องปราสาทเขาพระวิหารที่ประเทศกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับองค์การยูเนสโกนั้น อันที่จริงแล้วไม่มีปัญหาอะไรมากเลย แต่กลุ่มพันธมิตรฯ นำมาเป็นเครื่องมือในการโจมตีทำให้สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาตึงเครียด
ดังนั้น หากประธานองคมนตรี จะทำการช่วยเหลือประเทศชาติจริง ก็ควรจะทำการตักเตือน พล.อ.ปฐมพงษ์ และกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าให้ยุติการยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งจนอาจจะนำไปสู่สงครามดีกว่า ซึ่งทางกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ก็ได้มีการออกแถลงการณ์คัดค้านความรุนแรงในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศแล้ว
ทางด้านนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ระบุว่า กรณีที่ประธานองคมนตรีลงลายมือกำกับคำขอของพล.อ.ปฐมพงษ์ว่า เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินอย่างหนึ่ง เป็นการไม่เหมาะไม่ควรอย่างยิ่งใน 3 ประการคือ ประการแรก ประธานองคมนตรีไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะแสดงความคิดเห็นอะไร แม้หากจะอ้างว่าเป็นสิทธิทางการแสดงความคิดเห็นก็ตาม
ประการต่อมา ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อคณะองคมนตรีว่า มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ ไม่มีหน้าที่มอบคำปรึกษาให้ผู้อื่น ชี้ให้เห็นว่าอาจเป็นการกระทำที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
ส่วนประการสุดท้าย พล.อ.ปฐมพงษ์ เป็นบุคคลที่กระทำไม่ถูกต้องตามกาลเทศะ และไม่มีวินัยทางการทหารโดยการไม่เคารพผู้บังคับบัญชา เนื่องจากเรื่องที่เรียนไปยังประธานองคมนตรีคือ การรักษาอธิปไตยเหนือดินแดน กรณีประสาทพระวิหารนั้น ทำให้เกิดความคลางแคลงว่าแท้ที่จริงแล้ว นายทหารท่านนี้อยู่ใต้บังคับบัญชาใครกันแน่ นี่ไม่ใช่หน้าที่ของประธานองคมนตรี ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นี่คืออำนาจนอกรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดความวิปริตที่มีความต้องการอะไรก็ไปทำเรื่องขอกับประธานองคมนตรี
“นี่เป็นความวิปริตทางปัญญาของผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่านี่เป็นอำนาจนอกรัฐธรรมนูญอย่างที่ทุกคนทราบกัน อยากจะทำอะไรก็ไปขอองคมนตรี ซึ่งอันที่จริงไม่เกี่ยวข้องเลย หากต้องการจะช่วยจริงๆ ประธานองคมนตรีควรที่จะตักเตือน พล.อ.ปฐมพงษ์ ให้อยู่ในกรอบ และเลิกทำตัวผิดวินัยทหารเช่นนี้เสียที เพราะหลายครั้งแล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่นำกองทหารไปรับ นายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ แล้วก็เรื่องเขาพระวิหาร รวมทั้งเรื่องที่ขอผ่านมายังประธานองคมนตรี ทำให้เกิดความสับสนว่าใครกันแน่เป็นผู้บังคับบัญชาตัวจริง” นายวิภูแถลง กล่าว
รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตามหลักแล้วประธานองคมนตรีไม่ควรยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าไม่เหมาะสม เพราะหากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแล้ว ประธานองคมนตรีไม่มีอำนาจสั่งการหรืออนุมัติดังคำร้องที่พล.อ.ปฐมพงษ์ ทำเรื่องมา ทั้งนี้ประธานองคมนตรีก็ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรง เหมือนหวังเป็นการดึงผู้ใหญ่ลงมาเป็นแบ็กอัพให้กับตนเอง นอกจากนี้ประธานองคมนตรีมีหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ไม่ควรกระทำอย่างอื่น
ส่วนกรณีที่มีการเขียนกำกับท้ายเอกสารคำร้องว่า “เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินอย่างหนึ่ง”นั้น รศ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประธานองคมนตรีต้องแสดงความเป็นกลางทางการเมือง และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ทั้งนี้การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในช่วงที่มีการแตกแยกเป็นสองฝ่ายชัดเจนขนาดนี้ เป็นเรื่องที่น่ากังวล ประธานองคมนตรีควรทีจะระมัดระวังตัว เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่ายังคงมีความยุ่งเกี่ยวทางการเมือง
“ส่วนตัว ผมคิดว่าไม่ควรยุ่งอีกแล้ว ประธานองคมนตรีและคณะ มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ว่ามีอำนาจอนุมัติ หรือสั่งการตามคำขอของทหารคนไหน ให้เรื่องเป็นไปตามหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาโดยตรงดีที่สุด ไม่ใช่ลงมาเกี่ยวข้องทางการเมือง ซึ่งหากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะลงมายุ่งเกี่ยวทางการเมืองจริง คุณต้องยอมรับคำวิจารณ์ได้นะ ไม่ใช่ว่าพอเอาเข้าจริงๆ บอกแตะไม่ได้ มันไม่ใช่ เพราะการเมืองเป็นเรื่องสกปรก มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างนี้แล้วหากมองในระยะยาวไม่ดี คนจะไม่ให้ความเคารพในที่สุด ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยดีกว่า” รศ.ประสิทธิ์ กล่าว