คอลัมน์ : ละครชีวิต
ก่อนจะลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สังคมไทยแบ่งเป็น 2 ข้าง
ข้างหนึ่ง รณรงค์ให้ประชาชนไม่รับ เพราะเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ 1.มีที่มาจากเผด็จการ และ 2.มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอ่อนแอ และถูกรังแกกลั่นแกล้งจากผู้ที่มาจากการแต่งตั้งได้
ข้างหนึ่ง รณรงค์ให้ประชาชนรับ เพราะเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ 1.เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง และกลับเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย 2.กลัวเผด็จการ คมช. จะนำรัฐธรรมนูญที่เลวกว่ามาบังคับใช้
แม้จะแบ่งเป็น 2 ข้างชัดเจน แต่ ทั้ง 2 ข้างก็ยอมรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มีปัญหาที่จะต้องแก้ไขกันต่อไปในอนาคต หลังจากมีรัฐบาลใหม่ กระทั่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ยอมรับว่ายังมีข้อบกพร่อง แต่เพื่อให้มีการเลือกตั้ง จึงควรจะรับ แล้วค่อยไปแก้ไขกัน
มีเสียงทักท้วงค่อนข้างมากว่า หากรับไปแล้วจะแก้ไขยาก เพราะจะมีขบวนการต่อต้านคัดค้าน แต่คณะผู้ยกร่างก็บอกว่าแก้ไขได้ตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุด เพราะคณะเผด็จการ คมช. และคณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ จับการเลือกตั้งและประชาธิปไตยที่ประชาชนร้องหาเป็นตัวประกัน และรณรงค์แบบลับ-ลวง-พราง จนกระทั่งผลการลงประชามติออกมาว่า ข้างฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญชนะไปแบบฉิวเฉียด ส่งผลให้ประชาชนทุกคนในประเทศไทยต้องตกอยู่ใต้การบังคับของรัฐธรรมนูญที่มีข้อบกพร่อง และปัญหามากมาย
วันนี้ มีเสียงเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นแล้วว่า กฎหมายสูงสุดกลายเป็นอุปสรรคสูงสุดในการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อำนาจของฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ถูกคานและเตะตัดขาจากผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเป็นตัวแทนของระบอบอำมาตยาธิปไตย จนไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดิน และปฏิบัติหน้าที่นิติบัญญัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ มีเสียงคัดค้านดังขรมจากนักการเมือง และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เคยสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกมาว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กระทั่งยกไปเปรียบเทียบว่า หากประชาชนสนับสนุนให้ ส.ส. แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับสนับสนุนให้โจรแก้กฎหมายเพื่อหนีความผิด
ไม่แปลกเลย ที่โจรและลูกน้องโจรที่เป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ จะต้องออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่แปลกที่ไปกล่าวหาว่าผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย เป็นโจร
สะท้อนให้เห็นว่า โจรและลูกน้องโจรที่เป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รู้จักการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ดันอุตริมาเขียนกฎหมายสร้างระบอบประชาธิปไตย
วันนี้ ผมอยากจะย้อนไปตรวจสอบว่า ในอดีตที่ผ่านมา ใครพูดไว้อย่างไรบ้าง แล้ววันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เป็นคนที่ควรจะเชื่อถือศรัทธาต่อไปหรือไม่
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ แต่สุดท้ายประเทศก็ต้องก้าวไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 หากเทียบกับรถยนต์แล้ว มีเรื่องที่ต้องแก้ 4 ประเด็นใหญ่
1.ยางบวม กล่าวคือ เอาสายตุลาการมาทำหน้าที่ในการกลั่นกรององค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐมากเกินไป ซึ่งปัจจุบันศาลสูงมีภารกิจมากอยู่แล้ว และหากศาลถูกวิจารณ์มากๆ ก็อาจเกิดวิกฤติได้ เนื่องจากศาลหน้าไม่หนาเมื่อเทียบกับนักการเมือง กรณีนี้จึงเปรียบว่า เอาล้อหลังมาใส่ล้อหน้า เมื่อวิ่งอาจระเบิดได้
2.คัสซีเอียง กล่าวคือ วุฒิสภามี 2 เผ่าพันธุ์ จากการเลือกตั้ง และแต่งตั้ง ในส่วนของ ส.ว. เลือกตั้งที่กำหนดให้มี ส.ว. จังหวัดละคนนั้น ก็ถูกวิจารณ์ได้ว่า บางจังหวัดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน แต่ทำไมให้มีตัวแทนคนเดียว เหมือนงานเล็กงานใหญ่ ใช้นอตตัวเดียว
3.หน้าปัดมัว การให้มี ส.ส. ระบบสัดส่วนแบ่งเป็น 8 กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ ก็ไม่รู้ว่าเอาหลักเกณฑ์อะไรมาวัด การแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัดก็ไม่มีความผูกพันระหว่างวัฒนธรรมความเป็นอยู่กัน ส.ส. ระบบเขตใหญ่ บางเขต 3 คน 2 คน หรือจังหวัดเล็กๆ มีได้คนเดียว ทำให้ความรับผิดชอบทางการเมืองในพื้นที่ไม่ชัดเจน เปรียบได้กับหน้าปัดที่ไม่ชัด ทำให้ความรับผิดชอบทางการเมืองไม่ชัดเจน
4.ไม่มีกล่องฟิวส์ ถ้าไฟลัดวงจรมากๆ รถจะไม่ดับ แต่จะวิ่งจนไฟลุกท่วม กล่าวคือ การให้ศาลเสนอกฎหมายเองได้ อาจทำให้ศาลต้องไปล็อบบี้นักการเมืองที่พรรคหรือที่บ้าน ไม่ว่านักการเมืองคนนั้นจะยี้หรือไม่ก็ตาม บรรยากาศนั้นไม่มีใครเชื่อใจได้ว่า นักการเมืองจะไม่แอบต่อรองกับศาล
“เหตุผล 4 ข้อ แม้จะทำให้รถคันนี้สตาร์ทติดเพื่อให้ไต่จากปากหลุมได้ แต่อย่าวิ่งนาน ต้องรีบจอดเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้า และพรรคชาติไทยก็ประกาศชัดว่า จะรับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องแก้ไขภายหลัง ซึ่งเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย จะมีอีกหลายครั้ง” - หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 16 สิงหาคม 2549
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการสัมมนาของสถาบันพระปกเกล้าว่า ไม่อยากให้มองรัฐธรรมนูญเป็นสีขาว กับดำ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ดีอย่างที่คิด แต่ก็ไม่เลวอย่างที่กลัว พร้อมทั้งยืนยัน หากได้เป็นรัฐบาล พรรคจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็นที่จะให้อำนาจถอดถอนไม่อยู่กับ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง – หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 15 สิงหาคม 2549
นายจรัญ ภักดีธนากุล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผมยอมรับว่าไม่ได้ดีและสมบูรณ์ที่สุด แต่มองว่าจำเป็นที่สุดสำหรับการกลับคืนมาของอำนาจแห่งประชาชนอย่างราบรื่น ชัดเจน และแน่นอน ที่บอกว่าถ้าไม่รับก็สามารถนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับปรุงนั้น หนทางมันไม่ได้ชัดเจน ราบรื่น เหมือนการรับร่างที่จะยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที และ คมช. ก็จะสิ้นสภาพทันที เพราะไม่มีหลักประกันว่า คมช. จะหยิบฉบับนั้นมาปรับปรุงจริง ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะดีจะเลว รับร่างแล้วก็ได้ระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของประชาชน ถึงเวลานั้นไปเริ่มกระบวนการยกร่างแก้ไขโดยประชาชน เหมือนตอนเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ได้ เดินแบบนี้จะราบรื่นกว่าการล้มร่างรัฐธรรมนูญ - ที่มา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รายวัน วันที่ 4 สิงหาคม 2550
เพียงแค่ 3 คน เราก็เห็นแล้วว่า ไม่มีใครปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังการเลือกตั้ง แต่ทว่า เมื่อถึงเวลาเข้าจริงๆ ทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ จรัญ ภักดีธนากุล กลับคัดค้านแบบหัวชนฝา ทั้งๆ ที่เคยบอกว่ารัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และแก้ไขได้
บรรดาคำถามทั้งหลายทั้งปวงที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ จรัญ ภักดีธนากุล ถามกับสังคมว่า ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ จึงต้องตอบว่า เพราะรัฐธรรมนูญมันห่วย และประชาชนถูกหลอกให้รับของห่วยๆ โดยหลอกว่ารับแล้วแก้ไขได้
วันนี้ ถึงเวลาที่ประชาชนที่ถูกหลอกให้รับของห่วยๆ จะทวงถามคำสัญญาที่ว่า รับไปก่อนแล้วแก้ไขได้ ก็อยู่ที่ว่าทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ จรัญ ภักดีธนากุล จะพลิกแพลง ตะแคงลิ้น โกหกหลอกลวงอย่างไรต่อไป
นายกอ