WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, July 21, 2008

คอลัมน์: สวัสดีวันจันทร์

“...หัวหน้า คปค. ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ ไม่มีสถานะและไม่อาจเทียบกับพระมหากษัตริย์ได้ ไม่ว่าด้วยประการใดๆ การใช้อำนาจหัวหน้า คปค. โดยอ้างความเป็นรัฐาธิปัตย์แต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ จึงเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจโดยชัดแจ้ง...”

เรื่องที่นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ยกขึ้นมาเป็นข้อสังเกตในรายการสนทนาประสาสมัคร เมื่ออาทิตย์ก่อนว่า คณะ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นประเด็นที่จะปล่อยให้ผ่านเลยไปแบบไฟไหม้ฟางเห็นจะไม่ได้

ถ้าเรายังยืนยันว่า ประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา ชนิดที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราก็ต้องปฏิบัติไปตามกฎเกณฑ์และหลักการนั้นโดยไม่บิดพลิ้ว

ประเทศที่ปกครองระบอบนี้จะมีทั้งกฎหมายและประเพณีประกอบกันเป็นหลักปฏิบัติคู่ขนาน แต่ทั้งนี้ประเพณีที่ยกมากล่าวอ้างต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ถ้าขัดต่อกฎหมายประเพณีนั้นย่อมนำมาใช้ไม่ได้

ข้อที่นายกฯ สมัคร นำมากล่าวอ้างเรื่องคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น มีสาเหตุมาจากการที่มีคนพยายามหาทางโค่นล้มรัฐบาลทุกเวลานาทีและวิธีการ ทางหนึ่งที่ทำกันโดยเปิดเผยก็คือ ชุมนุมกันกลางเมือง พูดจา ปราศรัย โจมตีด้วยถ้อยคำหยาบคาย และปล่อยภาพและเสียงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV ตลอด 24 ชั่วโมง

อีกทางหนึ่งก็คือ การใช้วิธีการทางกฎหมายผ่านทางสถาบันต่างๆ เช่น องค์กรอิสระซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร เช่น กกต. บ้าง หรือศาลรัฐธรรมนูญบ้าง ประเด็นมาหลุดเอาเมื่อตอนที่มีคนใช้สิทธิผ่านทาง ป.ป.ช. ซึ่งนายกฯ สมัคร อดไม่ได้เลยตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลของตัวท่านมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2550

จากนั้น ท่านก็มาเป็นรัฐบาลด้วยการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากองค์พระประมุข ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณครบถ้วน ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบประเพณี แต่ ป.ป.ช. ที่คนกำลังใช้เป็นเครื่องมือให้มาถอดถอนท่านและคณะรัฐมนตรีนั้น เป็นองค์กรที่ไม่ได้ผ่านการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คิดดูเอาแล้วกันว่ามันชอบด้วยเหตุผลหรือไม่

เรื่องนี้ฟังแรกๆ ก็ไม่รู้สึกกระไรเท่าไร แต่ครั้นค่อยๆ พินิจพิจารณาไป ก็เริ่มเห็นความสำคัญ เพราะเหตุว่า พลิกปูมหลังดูกันแล้วก็จะพบว่า ป.ป.ช. ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ชื่อย่อว่า คปค. ตามประกาศของ คปค. เอง ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 หลังวันยึดอำนาจการปกครอง 19 กันยายน 2549 เพียง 3 วัน

ประกาศ คปค. ฉบับนั้นระบุว่า ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลบังคับใช้ต่อไป แต่ให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติส่วนที่เกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช.

กับอีกประการหนึ่ง ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มีผลบังคับใช้ต่อไป

จากนั้นคณะ คปค. ก็ประกาศตั้งบุคคล 9 คน เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ได้แก่
1.นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ
2.นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ
3.นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ
4.นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ
5.ศ.ภักดี โพธิศิริ กรรมการ
6.ศ.เมธี ครองแก้ว กรรมการ
7.นายวิชา มหาคุณ กรรมการ
8.นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ
9.น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ

คำสั่งนี้มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คปค. เป็นผู้ลงนาม
ครั้นต่อมา วันที่ 30 กันยายน 2549 จะเกิดฉุกใจอะไรขึ้นมาไม่ทราบได้ คปค. ก็ได้ออกประกาศอีกฉบับหนึ่ง เป็นประกาศฉบับที่ 31 มีสาระคล้ายๆ กับประกาศฉบับที่ 19 เพียงแต่เพิ่มเติมข้อความในข้อ 2 ของประกาศฉบับใหม่ว่า ให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและ มีวาระการดำรงตำแหน่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

แปลไทยเป็นไทยว่า ให้กรรมการ 9 คน ที่แต่งตั้งไปแล้วนั้น เข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2549 นั่นเอง
คำสั่งนี้มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คปค. เป็นคนลงนามอีกเช่นเคย

จากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่เรื่อยมา โดยไม่มีใครเฉลียวใจเลยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีข้อความว่ากระไรบ้าง

ข้าพเจ้าได้ไปตรวจดู พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวแทนท่านผู้อ่านแล้ว พบว่าในมาตรา 12 บัญญัติว่า กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว

ไม่มีกฎหมายอื่นใดบัญญัติว่า นับแต่วันที่หัวหน้า คปค. แต่งตั้ง

นอกจากนี้ เมื่อได้ตรวจสอบไปยัง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น พ.ศ.2541 มาตรา 4 ก็พบว่า มีบัญญัติว่า ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามอัตราในบัญชีท้าย พ.ร.บ. นี้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่มี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่ง

ไม่มีมาตราใดบัญญัติว่า นับตั้งแต่หัวหน้า คปค. แต่งตั้งเช่นเดียวกัน

เพื่อให้เกิดความแน่ใจมากยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าตามไปเปิดดูรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เพื่อค้นหาบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็พบว่า มาตรา 247 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ชัดเจนว่า กรรมการ ป.ป.ช. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

โดยสรุปแล้ว เมื่อประกาศ คปค. ที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฉบับคือ ฉบับที่ 19 และฉบับที่ 31 ไม่เคยยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เพียงแต่งดเว้นบทบัญญัติเกี่ยวกับการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ไว้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อตนเองใช้อำนาจแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. เสร็จแล้ว ก็คืนบทบัญญัติเรื่องการสรรหากลับตามเดิม

ดังนั้นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จึงยังมีผลบังคับใช้โดยครบถ้วน ไม่เคยขาดตอน อีกทั้ง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น พ.ศ.2541 มาตรา 4 ก็มีฐานะเช่นเดียวกัน ยิ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 247 วรรคหนึ่ง บัญญัติย้ำไว้อีก ก็เป็นอันแน่ชัดว่า กรรมการ ป.ป.ช. ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสถานเดียวเท่านั้น กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันนี้ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ จึงไม่มีสิทธิ ไม่มีความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินตอบแทน

หัวหน้า คปค. ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ ไม่มีสถานะและไม่อาจเทียบกับพระมหากษัตริย์ได้ ไม่ว่าด้วยประการใดๆ การใช้อำนาจหัวหน้า คปค. โดยอ้างความเป็นรัฐาธิปัตย์แต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้จึงเป็นการ ก้าวล่วงพระราชอำนาจโดยชัดแจ้ง

กรรมการบางคนในคณะ ป.ป.ช. ออกมาเถียงว่า พวกตนเข้าดำรงตำแหน่งและปฏิบัติงานได้โดยไม่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณก่อน เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับไว้

ข้าพเจ้าเห็นว่านี่คือการหลงประเด็นการต่อสู้ เพราะฝ่ายกล่าวหา เขากล่าวหาว่าท่านไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ท่านจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่

กรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ไม่ต้องลาออก ถ้ามีสำนึกก็เก็บของเดินออกไปเลย เพราะไม่มีสถานะเป็น ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น อีกทั้งต้องคืนเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ ทั้งหมด งานที่ทำไปก็ย่อมเป็นโมฆะ

แต่ถ้ายังฝ่าฝืน ดึงดัน ทำงานอยู่ต่อไป ไม่หยุด ไม่คืนเงินเดือนและค่าตอบแทน ก็จะกลายเป็นผู้ร่วมกับ หัวหน้า คปค. เจตนากระทำการล่วงพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ ซึ่งโทษทัณฑ์จะเป็นประการใดนั้น ให้ไปคิดอ่านกันเอาเอง

ข้าพเจ้าและใครๆ ก็ไม่อยากสอนคนอย่างพวกท่านดอก