“นักวิชาการ” ออกโรงให้ความรู้คนไทยกรณี “พระวิหาร” ที่ถูกลากมาเป็นประเด็นการเมือง เตือนมองปัญหาอย่างมีสติและพิจารณาข้อมูลรอบด้าน เชื่อหลักเขตแดนที่เห็นแตกต่างกันอยู่ทั้ง 2 ชาติ จะสามารถยุติลงได้ด้วยกลไกของคณะกรรมการร่วมที่นำโดย ผบ.สส. ซึ่งจะหารือกับฝ่ายกัมพูชาในวันนี้ พร้อมทั้งแนะรัฐบาลทำเอกสารให้เป็นชุดเดียวกัน เพื่อลดความสับสนในอนาคต
ต่อกรณีเขาพระวิหาร ที่มีคนบางกลุ่มพยายามลากมาเป็นประเด็นทางการเมือง ชุดชนวนเคลื่อนไหวทั้งในประเทศและตามแนวชายแดน จนเกิดความโกลาหลวุ่นวายไปทั่วนั้น
รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นข้อพิพาททุกวันนี้เป็นเรื่องของพระวิหาร ฉะนั้นในชื่อของคดีจะเป็น ปราสาทพระวิหาร แต่เผอิญตัวปราสาทไปตั้งอยู่บนเขาที่มีชื่อเดียวกัน ซึ่งคนไทยจะเรียกว่าเขาพระวิหาร แต่ว่ากัมพูชาจะเรียกว่าปราสาทพระวิหาร
ถามว่าศาลโลกคืออะไร ศาลโลกมีอำนาจในการสั่งพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ คนที่จะมาใช้สิทธิเป็นโจทก์หรือจำเลยที่จะมาฟ้องศาลโลก จะต้องเป็นรัฐอธิปไตยเท่านั้น คดีปราสาทพระวิหาร จริงๆ เป็นข้อพิพาทเหนือปราสาทพระวิหาร แต่ตั้งประเด็นง่ายๆ ว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทย ต่อมาตอนหลังทางกัมพูชาให้ศาลโลกวินิจฉัยความถูกต้องของแผนที่ด้วย ซึ่งเป็นแผนที่ฝ่ายเดียวที่ฝรั่งเศสทำ ซึ่งทางศาลโลกก็ไม่ได้วินิจฉัย เพราะว่าส่งมาช้าเกินไป ถ้าศาลโลกมาวินิจฉัยประเด็นนี้เข้าไปด้วย จะยิ่งยุ่งเข้าไปกันใหญ่
เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าทำไมตั้งชื่อว่าไตรภาค ปราสาทพระวิหาร ผมมองเป็นหนังสตาร์วอร์มี 3 ภาค 1.คือคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 เป็นภาคแรก ภาคสองคือขึ้นทะเบียนมรดกโลก ภาคสามที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต คือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเมตรที่ต่างฝ่ายต่างอ้าง ซึ่งทั้ง 3 ภาคมีความสัมพันธ์กัน 4.6 เกิดจากที่ไทยถือสันปันน้ำ ส่วนของเขาถือตัวแผนที่ก็จะไปสัมพันธ์ในภาคที่ 1 ส่วนภาคที่ 2 ไทยก็จะแย้งกันตั้งแต่คำพิพากษา ไปรับทำไมกับแถลงการณ์ฝ่ายเดียวของรมว.กระทรวงการต่างประเทศ แล้วก็โยงไปถึงแถลงการณ์ร่วมจอยคอมมูนิเก้ ร่วมไปถึงคำสั่งศาลปกครองที่คุ้มครองชั่วคราว เพราะในนั้นเขียนอ้างขึ้นแถลงการณ์ของ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เอกสารทุกอย่างของทั้ง 3 ภาคจะมีความสัมพันธ์กันหมด นี้คือความซับซ้อนของคดีนี้
ประเด็นแรกที่เราต้องรู้ คืออยากให้ประชาชนคนไทยกลับไปอ่านคำพิพากษาของศาลโลกให้ดีๆ โดยเฉพาะประเด็นแรกที่บอกว่าศาลพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ภายใต้อาณาเขตหรือดินแดน ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ถามว่าประเด็นนี้ชัดหรือยัง บางคนก็บอกว่าชัดแล้ว บางคนก็บอกไม่ชัด นักการเมืองบางท่านก็บอกว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาแต่พื้นที่เป็นของไทย
เอาจริงๆ ตามความเห็นผมมองจากคำพิพากษาของศาลโลกที่ยังไม่ได้ตัดสินแนวเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาเลย ศาลโลกตัดสินแต่เพียงเรื่องตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยและดินแดนของกัมพูชา คือตัวอำนาจและดินแดนต้องไปด้วยกันในทางกฎหมายระหว่างประเทศ
ฉะนั้นในปี 2505 เราเสียตัวปราสาทพระวิหาร แต่ปัญหามันมีอยู่ว่าพื้นที่รองรับจะต้องเป็นของใคร ประเด็นนี้หลายคนก็ถกเถียงกันว่า ตัวปราสาทเป็นของใครแต่ไปตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ก็ตีความไปต่างๆ นานา แต่ที่ชัดๆ คือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาและก็ร่วมไปถึงพื้นที่รองรับใต้ตัวปราสาท
ประเด็นต่อมาที่เราต้องทำความเข้าใจในการพิพากษาคือคำตัดสินของศาลโลก 9 : 3 คณะกรรมการ 9 ท่านบอกให้ปราสาทพระวิหารอยู่ฝั่งเขมร หลายคนเข้าใจผิดว่า 3 ท่านชี้ให้เป็นของไทย แต่เข้าใจผิดเพราะว่ามีเพียง 2 ท่านเท่านั้น ส่วนอีกหนึ่งท่านเป็นผู้พิพากษาชาวจีน บอกว่าประเด็นเรื่องดินแดงและอธิปไตยเป็นเรื่องซีเรียส แกตัดสินใจไม่ได้หรอกว่าจะเป็นคุณหรือโทษ จนกว่าข้อเท็จจริงจะยุติ ในเมื่อตัวแผนที่แย้งกันอยู่กับตัวสนธิสัญญา ท่านเป็นคนรอบคอบบอกว่าแบบนี้ศาลตัดสินไม่ได้ ท่านจึงบอกว่าให้ศาลโลกไปแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ไปนำเสนอข้อเท็จจริงตรงนี้ให้กระจ่างและยุติเสียก่อน และนำเสนอข้อเท็จจริงให้ศาลทราบ ท่าจึงจะตัดสิน แต่ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ท่านก็ไม่เห็นด้วย คะแนนจึงออกมาเป็น 9: 3
ถ้าถามต่อมาว่าคำพิพากษาเป็นอย่างไร ผูกพันไหม เราไม่ต้องปฏิบัติตามได้หรือไม่ จัดตั้งข้อสงวนได้ไหม ในตัวธรรมนูญศาลโลก คือเป็นตัวกำหนดการทำงานของศาลโลก ในธรรมนูญในมาตรา 59 บอกว่า คำพิพากษาผูกพันคู่ความ มาตรา 60 บอกว่า คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด อุทธรณ์ไม่ได้ เหมือนกับคดีที่ดินรัชดา ศาลฎีกาแผนกศาลอาญาจบศาลเดียว พูดง่ายๆว่าศาลของผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับศาลโลกเหมือนกันคือจบศาลเดียว ไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา
เพราะฉะนั้นประเด็นก็คือว่ามันมีผลผูกพันแน่นอน ส่วนขั้นตอนที่ว่าประเทศที่แพ้คดีจะปฏิบัติตามหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องธุระของศาล เขาเลยไปใส่อยู่ในกฎบัตร ยูเอ็นชาร์เตอร์ มันแยกออกจากกัน คือธุระของศาลแค่ตัดสินคดีเท่านั้นนะจบ ส่วนที่บอกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามหรือไม่ว่าจะต้องมีการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาให้ไปอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งมาตรา 94 ได้แบ่งออกเป็นสองกรณีคือข้อแรกสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล
ถ้าผมจำไม่ผิดผู้นำของไทยก็ออกแถลงการณ์ว่าไทยจำต้องยอมรับและปฏิบัติตาม นี้ก็คือมาตรา 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามเราก็ต้องถอนตัวออกจากประชาชาติ นั้นก็จะกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต อันที่สองบอกว่าเป็นมาตรการEnforcement คือบังคับในกรณีที่ตัวเองไม่ยอมปฏิบัติตาม คือถ้ายอมปฏิบัติตามก็จบ แต่ถ้าไม่ตามในรัฐที่ชนะคดีอย่างกรณีนี้ก็ร้องไปที่คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ให้ออกมามาตรการ Sanction ขึ้นซึ่งก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร
ประเด็นต่อมาก็คือว่าแถลงการณ์ฝ่ายเดียวของรมว.กระทรวงการต่างประเทศ นายถนัด คอมันตร์ ที่บอกว่าจะขอสงวนสิทธิ์ ถ้ามองว่าประเด็นนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไหม ผมมองว่ามันไม่น่ามีผลอะไร เพราสังคมไทยไม่ได้มีการตั้งคำถามโดยตรงว่าแถลงการณ์ฝ่ายเดียวของ คุณถนัด คอมันตร์ มันมีผลระหว่างประเทศไหม หรือมันเป็นเพียงการกระทำแค่ฝ่ายเดียวที่ผูกพันกัมพูชาผูกพันศาลโลก ก็อาจจะผูกพันแค่เพียงฝ่ายเดียว แล้วถ้าถามต่อไปว่ามันจะมีผลไปลบล้างคำพิพากษาไหม ผมมองว่าไม่มีเพราะว่า ในนั้นเขียนไว้ว่าคำพิพากษาถึงที่สุดมันเสร็จเด็ดขาด มันจบอยู่ตรงนั้น ศาลตัดสินไว้ว่าอย่างไร ก็ให้ปฏิบัติตามนั้นแล้วกัน ศาลก็ย้ำหลายครั้ง
ส่วนภาค 3 ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของพื้นที่ ต่างฝ่ายต่างก็อ้างสิทธิ หลายคนใช้ว่าพื้นที่ทับซ้อนผมไม่อยากใช้ เพราะว่าอำนาจอธิปไตยมันซ้อนใครไม่ได้ ในทางกฎหมายซ้อนกันยากมาก ผมเลยไปเลี่ยงคำอื่นว่า พื้นที่ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าเป็นของฉัน ตอนนี้เข้าใจว่ามีกลไกแก้ไข โดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมที่จะเข้ามาเจรจา ผมมองว่าคงต้องใช้เวลานาน และเข้าใจว่าบริเวณปราสาทพระวิหารคงต้องใช้ระยะเวลาอีกนานกว่าจะปักปันเขตแดน
ส่วนประเด็นของการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ผมขอเรียนว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง ในอนุสัญญา 1972 อนุสัญญามรดกโลก เขาบอกไว้เลยว่า ยังเคารพอำนาจอธิปไตยของรัฐอยู่ และไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวเขตแดนหรือแนวพรมแดน ทางยูเนสโกจะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เขาก็พิจารณาแค่ในเรื่องของวัฒนธรรมและในเรื่องของมรดกโลกเท่านั้นเอง
ผมเข้าใจว่าตอนนี้คดีปราสาทเขาพระวิหารมันแย้งกันอยู่ เนื่องจากว่าในอนุสัญญามรดกโลกเขาให้หลักว่า มรดกโลกในส่วนที่เป็นวัฒนธรรมหรือธรรมชาติตั้งอยู่อาณาเขตไหน หลักมันมีอยู่แค่นี้ นอกนั้นก็มีสิทธิ์เสนอ ซึ่งถ้อยคำก็ไปตรงกับคำพิพากษาของศาลโลกที่ผมเรียนไปก่อนหน้านี้ เหมือนกับพนมรุ้งของเราตั้งอยู่ที่ประเทศไทยเราก็เสนอไป กัมพูชาก็คงจะเห็นว่าถ้อยคำมันเหมือนมันก็เป็นสิทธิ์ของเขา เขาก็เลยใช้สิทธิ์ตรงนี้ยื่นไป ซึ่งเขาทำมาเป็นสิบปีแล้วตั้งแต่ปี 1993 หรือ 1994 ถ้าเราไม่ลงนามแถลงการณ์ร่วมเขาก็ขอขึ้นทะเบียนได้อยู่แล้ว เพราะอนุสัญญามันเปิดช่องให้เขา
เราต้องมาทำความเข้าใจกันถึงยูเนสโกว่า เป็นทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ พูดง่ายๆ ก็คือว่ามีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ และไม่ใช่เป็นองค์กรระหว่างประเทศแบบเหนือรัฐ สั่งไม่ได้ ซึ่งก็อาจจะมีหลายประเทศที่ถอนตัวจากองค์กรระหว่างประเทศ
ผมอยากจะวิงวอนพี่น้องประชาชนชาวไทยว่าให้มีสติและมีข้อมูลที่รอบด้านพอสมควร ไม่เช่นนั้นมันจะเกิดความวิตกกังวลต่างๆ นานา ตอนนี้เอกสารมันไม่นิ่ง รัฐบาลไม่ยอมทำให้มันเป็นชุดเดียว ต่างคนต่างอ้าง ตอนนี้มันก็สับสนปนเปไม่หมด
กลับมาประเด็นที่ว่าจะถอนตัวออกจากองค์กรระหว่างประเทศก็สามารถทำได้ ส่วนที่เสียเงิน เป็นการเสียเงินบำรุงสมาชิกซึ่งก็มีทุกองค์การ ประเด็นมันมีความซับซ้อนในแง่ที่ว่า ทรัพยากรหรือวัฒนธรรมมรดกตั้งอยู่ที่ประเทศไหน ประเทศนั้นก็มีสิทธิ์เสนอ ปรากฏว่ามันมีเกณฑ์อยู่อันหนึ่งที่คณะกรรมการมรดกโลกตั้งเอาเอง ก็คือเกณฑ์เรื่องความสมบูรณ์ เป็นเกณฑ์ภายในที่คณะกรรมการมรดกโลกใช้พิจารณา ซึ่งประเด็นนี้ทางเราพยายามเสนอเงื่อนไขที่ว่า คุณต้องคำนึงถึงส่วนประกอบอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ฝ่ายไทยด้วย ไม่เช่นนั้นมันก็จะขัดกับเกณฑ์ที่คุณตั้งขึ้นมา ประเด็นก็มีความสลับซับซ้อน
เป็นไปได้ที่เรื่องดังกล่าวจะลามไปถึงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่คงจะเป็นเรื่องของอนาคต คงจะอีกนานเพราะว่า 1.เป็นประเด็นใหญ่ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันยังมีความขัดกันอยู่ ระหว่างตัวแผนที่ 11 ฉบับ ซึ่งทางเขมรเขมรยึดถือมาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศส ของไทยถือสนธิสัญญาปี 2407 ที่ใช้สันปันน้ำ ตรงนี้ผมคิดว่ายังคงต้องใช้กลไกของเจบีทีคณะกรรมการร่วมให้เจรจากันไปว่าจะทำอย่างไร
ตอนนี้ในส่วนที่ผมเป็นกังวลคือพื้นที่อนุรักษ์ว่าพื้นที่ตรงนี้จะกินเข้ามาฝั่งไทยไหม และอำนาจจัดการจะเป็นอย่างไร