ที่มา ไทยรัฐ
นายประสาน ตันประเสริฐ ประธานคณะกรรมการบริหารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยหลังการหารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการเตรียมดำเนินการหลังการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ว่า ยอมรับว่าภาคเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศสอบถามความชัดเจนมาค่อนข้างมาก ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้ทำให้นักลงทุนมีการชะลอแผนการลงทุนแล้วเนื่องจากไม่มั่นใจว่าแผนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือต้องปรับใหม่หรือไม่ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะมีการเสนอนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม ต่อไป
“เม็ดเงินลงทุนด้านปิโตรเคมีกว่า 100,000 ล้านบาท โดยเฉพาะเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กว่า 70,000 ล้านบาท และเครือซิเมนต์ไทย 30,000 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการรวมกันประมาณ 10 โครงการ โครงการเหล่านี้ต่างก็ผ่านความเห็นชอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหมดแล้วและบางโครงการก็เริ่มก่อสร้างไปแล้ว เมื่อมีการเปลี่ยนมาเป็นเขตควบคุมมลพิษจึงทำให้ไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องมีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่หรือไม่ ทำให้นักลงทุนที่ยังไม่ได้ลงทุนเกิดความกังวลเช่นกัน”
นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ต้องรอความชัดเจนว่าแผนการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพราะตามกฎหมายแล้วเมื่อประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษอำนาจการประกาศเกณฑ์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะไปขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้นๆเป็นหลัก โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แล้วจึงเสนอของบประมาณบริหารจัดการมายังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในวันที่ 9 มี.ค. คณะกรรมการกลั่นกรองงานก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะนัดหารือเพื่อที่จะสรุปแนวคิดเห็นของ กกร.เสนอต่อเวทีการประชุมคณะกรรมการรวมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นากยรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจากการหารือร่วมกันล่าสุดเอกชนเห็นพ้องกันว่าควรจะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมใน จ.ระยอง อย่างเป็นระบบ และเป็นมาตรฐานสากล ดังนั้นระหว่างรอการศึกษาจึงควรชะลอการบังคับคดีหรือการประกาศเขตควบคุมมลพิษออกไปก่อน
“ขณะนี้ผลการศึกษาปัญหาดังกล่าวมีความหลากหลายและหลายมุมมอง ทั้งจากภาครัฐ นักลงทุน ประชาชนในพื้นที่ และเป็นข้อมูลที่ต่างคนต่างทำ จึงเห็นว่าน่าจะเป็นการศึกษาระดับชาติ หากพบว่า จ.ระยอง มีปัญหาแล้วจะได้หยุดการลงทุนไป เอกชนก็จะได้ตัดสินใจได้ จะได้ไม่ทำให้ ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมของไทยดูไม่ดีในสายตาของนักลงทุน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ในปัจจุบันภาคเอกชนก็ทำตามระเบียบเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วและมั่นใจว่าบางอย่างเกินมาตรฐานสากลด้วยซ้ำ”
นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า ผลพวงจากการประกาศเขตควบคุมมลพิษดังกล่าวส่งผลให้ภาคเอกชนมีการชะลอการลงทุนทั้งโครงการเก่าและใหม่เพื่อรอให้รัฐบาลมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนสิ่งแวดล้อมเนื่องจากกังวลว่าจะต้องลงทุนอะไรเพิ่มหรือไม่และระเบียบจะเป็นอย่างไร การขออนุญาตจะผ่าน กนอ.หรือหน่วยงาน จากขณะนี้ต้องขออนุมัติจาก กนอ.ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องมีความชัดเจน หากไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเข้าใจว่าการลงทุนกับประชาชนในพื้นที่ จ.ระยองจะต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างได้เหมาะสมไม่มีมลพิษไม่ทำลายสุขภาพของคนในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนกว่า 138 ราย ในนิคมฯมาบตาพุดก็มีแผนกำจัดมลพิษให้อยู่ในระดับไม่เกินมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดอยู่แล้ว
“กรณีดังกล่าวอำนาจการออกใบอนุญาตการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจะถูกย้ายไปยังท้องถิ่นในการจัดทำแผนสิ่งแวดล้อมซึ่งเข้าใจว่าตามรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมดูแล แต่เอกชนก็ต้องการให้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่เป็นมาตรฐานสากล ดังนั้น เห็นว่าวิธีที่ดีสุดต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาที่เป็นระดับชาติและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายด้วยเพื่อให้ชัดเจน หากไม่เช่นนั้นจะกระทบการลงทุนในระยะยาวและภาพลักษณ์การลงทุนในประเทศด้วย”.