WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, October 11, 2009

สัมภาษณ์คณิน บุญสุวรรณ: 12 ปีรัฐธรรมนูญ 40 และแนวทางปฏิรูปการเมือง

ที่มา ประชาไท

สัมภาษณ์โดย พงษ์พันธ์ ชุ่มใจ

11 ตุลาคม 2540 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ถือเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 โอกาสครบรอบ 12 ปี “รัฐธรรมนูญ 2540” นี้ ขอเสนอบทสัมภาษณ์ ‘คณิน บุญสุวรรณ’ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และทำหน้าที่โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 คณินเมื่อปีที่แล้ว ได้ออกหนังสือชื่อ “รัฐธรรมนูญ 2550 ทำไมต้องแก้” อธิบายเหตุผล 15 ประการ ที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และต้องแก้ทั้งฉบับ ไม่ใช่ทีละมาตรา โดยที่มาตราที่ควรแก้ไขอันดับแรกคือ บทเฉพาะกาล

คณินเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2540 จะถูกยกเลิกไปโดยการรัฐประหาร แต่ในความรู้สึก ในหัวใจของนักประชาธิปไตยและอีกหลายคนยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ในขณะที่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มีที่มาที่ไม่ชอบบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้อต่อการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมในรัฐธรรมนูญ 2550 ได้สร้างความระส่ำระสายทางการเมือง
เขาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ใน 6 ประเด็น ขณะที่ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองของคณินนั้น เขาเสนอให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับปรุงแก้ไข และใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2550
ต่อไปนี้คือทัศนะต่อรัฐธรรมนูญ 2540 และแนวทางปฏิรูปการเมืองของ ‘คณิน บุญสุวรรณ’
000
ผ่านมาแล้ว 3 ปี รัฐประหาร 19 กันยา มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 50 ไปแล้ว อาจารย์ยังเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 40 ยังมีตัวตน มีความหมาย ความสำคัญหรือไม่ อย่างไร
คณิน: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่รัฐธรรมนูญในความหมายที่ผู้คนคุ้นเคยและรู้จักทั่วไป แต่เป็นศูนย์รวมทางด้านปณิธานและจิตวิญญาณของวีรชนประชาธิปไตย 3 รุ่นด้วยกัน คือรุ่น 14 ตุลา 6 ตุลา และพฤษภา 35 เพราะว่าปณิธานของวีรชนประชาธิปไตยทั้ง 3 รุ่น ไม่ได้เพียงต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้น แต่ยังต้องการให้มีสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เป็นรูปธรรม
ที่สำคัญ ต้องการให้การปฏิรูปทางการเมืองเพื่อให้พ้นจากวงจรอุบาทว์ทางการเมือง และรัฐธรรมนูญ40 ก็ไม่ได้ถูกยกเลิกไปตามกระบวนการปกติ มันถูกยกเลิกไปด้วยการรัฐประหาร ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่มีการรัฐประหารแล้ว นอกจากผู้คนยังไม่ลืมรัฐธรรมนูญ 40 แล้ว คนที่แม้จะอาจไปสนับสนุนรัฐประหาร นานวันเข้าอาจรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญ40 ให้ความมั่นคงทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
พูดๆ ง่ายว่ามันเป็นรัฐธรรมนูญที่จับต้องได้ สัมผัสได้ ที่เขาพูดภาษาชาวบ้านว่า “กินได้” นี่เป็นเหตุผลประการที่หนึ่ง แม้รัฐธรรมนูญ 40 จะถูกยกเลิกไปโดยการรัฐประหารก็ตาม แต่ในความรู้สึก ในหัวใจของนักประชาธิปไตยและอีกหลายคนยังเห็นคุณค่าของมัน และเห็นว่ามันยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน
เหตุผลที่สอง หลังจากล้มเลิกรัฐธรรมนูญ 40 ไปแล้ว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีในขณะนั้น คณะรัฐประหารไม่ได้ให้อะไรเลยที่เป็นสิ่งที่ดีกว่า เป็นต้นว่า ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองก็ไม่เกิด ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เรียกว่าหลักนิติธรรม นิติรัฐ ก็ไม่เกิด เสถียรภาพทางการเมืองก็ไม่เกิด มีแต่ความวุ่นวาย
ที่สำคัญอย่างยิ่งคือกฎกติกาที่สร้างขึ้นมาใหม่ ไม่เป็นธรรม เป็นต้นว่าบรรดาประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฉบับต่างๆ ที่ได้ไปแต่งตั้งองค์กรตรวจสอบ องค์กรอิสระ อะไรต่ออะไรเยอะแยะไปหมด กระทั่งไปออกประกาศย้อนหลักเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคแล้วก็หัวหน้าพรรค และตัวรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งออกกฎนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารรวมทั้งพวกพ้อง ถือว่าเป็นการบัญญัติการนิรโทษกรรมไว้ในตัวรัฐธรรมนูญเลย เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง เมื่อได้รัฐธรรมนูญ 50 ที่เห็นชัดเจนว่ามีที่มาที่ไม่ชอบ แม้จะอ้างว่าผ่านประชามติก็ตาม แต่ก็เป็นประชามติแบบมัดมือชก มันมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้อต่อการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง กฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมที่สุด ร้ายที่สุดมันอยู่ในบทเฉพาะกาล ให้บุคคลหรือองค์กรที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองให้ดำรงตำแหน่งไปเลยจนกว่าจะครบวาระโดยไม่ต้องมีการสรรหาใหม่ โดยไม่ต้องมีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าทูลกกระหม่อมเพื่อทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
ประการสุดท้าย กฎ กติกาที่ไม่เป็นธรรมมันสร้างความระส่ำระสายทางด้านการเมือง
ทั้งหมดที่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนจึงยังได้นึกถึงรัฐธรรมนูญ40 และคิดว่าน่าจะนำกลับมาใช้ใหม่
เมื่อปีที่แล้วหนังสือของอาจารย์เรื่อง “รัฐธรรมนูญ 2550 ทำไมต้องแก้” ข้อเสนอของอาจารย์คือให้แก้ทั้งฉบับ โดยให้เหตุผล 15 ประการ หนึ่งในเหตุผล 15 ประการเห็นว่าสิ่งที่ควรแก้อันดับแรกคือบทเฉพาะกาล เมื่อมาถึงสถานการณ์ล่าสุด คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น แต่เขาไม่แตะเรื่องบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550 เลย อาจารย์คิดเห็นอย่างไร
เหตุผลที่ผมบอกว่า ควรต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หมายความว่า ควรจะนำเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาปรับปรุงแก้ไขและนำไปใช้แทนรัฐธรรมนูญ 50 เพราะปี 50 มันแก้ไม่ได้ มันมีเป็นร้อยๆ ประเด็นที่ผิดเพี้ยนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ วิธีการเขียน เนื้อหาสาระ หลักการ แล้วแก้ไปความวุ่นวายก็จะตามมา เพราะมีทั้งกับระเบิด กับดัก มีทั้งกลเกม กลไกต่างๆ ดูคล้ายๆ ว่ามันไม่ใช่รัฐธรรมนูญ แต่เป็นสมรภูมิให้ผู้คนมาฟาดฟันกัน ความสามัคคีมันก็ไม่เกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยุติธรรม มันเห็นชัดเจนว่าบทบาทของฝ่ายตุลาการที่ออกมาตามรัฐธรรมนูญ 50 มันเกินเลยไปกว่าที่สังคมจะคาดหวังความยุติธรรมที่จะได้รับจากฝ่ายตุลาการ กลายเป็นว่าฝ่ายตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้อง ครอบคลุมถึงกระบวนการในการเมือง ความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองต่างๆ
แต่อย่างน้อยที่สุดที่ผมเสนอไว้คือ ถ้ายังไม่สามารถจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือไม่สามารถนำเอารัฐธรรมนูญ 40 มาปรับแก้แล้วใช้บังคับแทน สิ่งแรกที่ควรต้องทำคือต้องแก้ไขที่บทเฉพาะกาล เพราะมีหลายมาตราที่ให้สืบทอดบรรดาองค์กรที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครอง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทั้งตามหลักนิติธรรม และกระบวนการประชาธิปไตยด้วย และที่สำคัญยิ่งคือ มาตรา 309
พูดง่ายๆ ว่าบรรดาบทเฉพาะกาลที่ให้สืบทอดบรรดาองค์กรต่างๆ ไม่ว่า กกต. ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของประธานขององค์กรนี้ที่ให้เป็นกรรมการสรรหา ส.ว. 74 คนด้วย มาตรา 309 ด้วย อย่างน้อยที่สุดควรต้องแก้ไขประเด็นเหล่านี้เพื่อให้มีการสรรหาใหม่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นได้เลย แล้วยกเลิกมาตรา 309 เสียเพื่อให้ทุกคนได้เข้าสู่กระบวนการของความยุติธรรมโดยเสมอภาคเท่าเทียม ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นว่าฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็จะถูกหมด เพราะมีมาตรา 309 คุ้มครองอยู่ อีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็จะผิดหมดเพราะมีมาตรา 309 ครอบงำอยู่
ฉะนั้นเหตุผลที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้นำเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน ก็คือ มันหน่อมแน้ม ไม่ได้มีผลอะไร เนื่องจากมันเป็นกระบวนการซึ่งทางรัฐสภาได้ดำเนินการเพื่อให้ดูคล้ายๆ กับว่าเกิดความสมานฉันท์ ซึ่งทุกคนซ่อนมีดเอาไว้ข้างหลังทั้งหมด พร้อมแทงกันได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งในมติของกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่พูดออกมา มันก็เป็นอัตราต่ำสุดแล้ว ที่พูดกันจริงๆ มันมากกว่านั้น มาตรา 309 ก็ได้พูดกันว่าควรจะเลิกไปเพราะมันไม่เป็นธรรม เรื่องบทเฉพาะกาลการแต่งตั้งองค์กรต่างๆ ควรจะปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สรรหาใหม่ จะมาชุบมือเปิบอยู่ไป 7 ปี 9 ปี แล้วคนเหล่านี้ก็ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารทั้งสิ้น มันก็ไม่เกิดความเป็นธรรมกับอีกฝ่ายหนึ่ง
รวมถึงมีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับด้วยซ้ำไป เพราะรัฐธรรมนูญ 50 มันมีโครงสร้างที่นอกจากจะไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วยังขัดกับหลักนิติธรรมอย่างยิ่งเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องโครงสร้างทางอำนาจที่เรายึดถือ เชื่อถือกันมาช้านานว่าอำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย และทุกฝ่ายต้องเป็นอิสระต่อกัน ตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 50 มีหมวดว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้นมา แบบว่าเพิ่มขึ้นมาเฉยๆ แล้วก็กลายเป็นอำนาจที่สี่ อำนาจที่สี่ที่ว่านี้มีอำนาจมากมาย ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับผิดชอบหรือยึดโยงกับประชาชน รัฐสภา เวลาเดียวกันก็ยึดเหนี่ยวกับฝ่ายตุลาการค่อนข้างมาก กลายเป็นว่าทั้ง 4 อำนาจ อำนาจที่ยิ่งใหญ่คืออำนาจตุลาการและอำนาจที่สี่ที่เกิดมาใหม่ อีกสองอำนาจคือฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแท้ๆ กลับเดินตัวงอ ตัวลีบ เหมือนกับลูกไก่ในกำมือของระบบศาล รวมทั้งองค์กรอิสระ แม้กระทั่งพรรคการเมืองก็เหมือนกัน
ในขณะที่รัฐธรรมนูญบอกว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพของประชาชน เสรีภาพหมายถึงว่าใครจะมาบังคับไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไปบัญญัติให้ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุด มีอำนาจที่จะสั่งยุบพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นสมาชิกโดยที่เขาไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรด้วย และยังให้อำนาจกับคนหยิบมือเดี๋ยวนี้สั่งเพิกถอนสิทธิของกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้คนเหล่านี้มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้อยลงไปกว่าบรรดาคนต่างด้าวด้วยซ้ำไป คนต่างด้าวที่แปลงสัญชาติมาแล้วเกินกว่า 5 ปี ยังสามารถมีสิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น โครงร้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรต้องเปลี่ยนแปลง
ในความเห็นของอาจารย์เหมือนจะเห็นว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรายังไม่พอ แต่ควรยกร่างรัฐธรรมนูญ 40 ใหม่ ทีนี้ รูปแบบการปฏิรูปการเมืองควรเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดประชาธิปไตย และพื้นที่สิทธิเสรีภาพในสังคมไทย
อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่า อาจมีบางฝ่ายโอนอ่อนผ่อนตาม เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ แล้วก็ให้แก้ไขบางประเด็น แม้จะบอกว่าแก้ไขได้ แต่ว่ามันก็ไม่ได้มีประโยชน์เท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีความจริงใจกันก็อาจดำเนินการไปได้
ถ้ามองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง และทุกฝ่ายมีความจริงใจก็ดำเนินการไปได้เลย แม้ไม่ได้ประโยชน์อะไรซักเท่าไรก็ตาม แต่นี่เห็นชัดเจนว่ายังไม่ทันไรก็ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ประธานวิปรัฐบาลเอง นายกรัฐมนตรีเองก็บอกว่าให้มีการทำประชามติก่อน เหมือนกับว่าเป็นการเลี่ยงบาลี เป็นการโยนลูกให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย ก็รู้ๆ อยู่แล้วว่ามันผิดกฎหมาย คนระดับนายกฯ คนระดับวิปรัฐบาล ไม่รู้หรือว่าการทำประชามติมันไม่สามารถทำในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ เสียงบ 2,000 ล้านก็ได้แต่ทำให้ประชาชนแตกแยกกันมากขึ้น แล้วในที่สุดก็เป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายนู้นฝ่ายนี้ออกมา ในเมื่อไม่มีความจริงใจเช่นนี้แล้ว ก็อย่าไปร่วมสังฆกรรมเลย ไปเป็นเหยื่อเป็นเงื่อนไขให้คนบางกลุ่มอ้าง บางกลุ่มก็เล่นสองหน้ากัน
ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดขณะนี้ ผมคิดว่า เอารัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งทุกคนเขารู้จัก และใช้มาเป็นเวลา 8-9 ปี แล้ว หลายคนก็รู้นี่ว่ามีจุดอ่อนจุดด้อยตรงไหน เอามาปรับใช้ ดูสิว่ามันจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของประเทศไทยในภายภาคหน้าหรือไม่ เอารัฐธรรมนูญ 40 มาปรับแก้ไขใหม่ทั้งหมดให้ดีที่สุด แล้วก็ไปถามประชาชนลงประชามติก็ได้ว่าประชาชนจะเอายังไง จะเอารัฐธรรมนูญ 40 ที่ปรับแก้ไขแล้ว หรือรัฐธรรมนูญ 50 บังคับต่อไป ให้มันคุ้มค่าต้องทำอย่างนี้
หรืออีกทีของการทำประชามติก็คือ ยุบสภาแล้วให้ทุกพรรคการเมืองลงเลือกตั้งใหม่ หาเสียงโดยนำเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับประชาชน หรือถ้าแน่จริง รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ประกาศเลยว่าจะยืนยันแบบเดียวกับพันธมิตรฯ ว่าจะใช้รัฐธรรมนูญ 50 ต่อไป แข่งกับบางพรรคการเมืองเสนอว่าเอารัฐธรรมนูญ 40 ถ้าประชาชนเห็นว่าอันไหนดีก็ลงประชามติโดยการเลือกตั้งเลย เพราะไม่มีอะไรจะทดสอบประชามติของประชาชนได้ดีไปกว่าการเลือกตั้ง
ประการต่อมา มันอาจเป็นหนทางนำไปสู่หนทางโดยสันติวิธีก็ได้ เพราะทุกวันนี้มันพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินเองเลย ผลปรากฏเป็นอย่างไรทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ ถ้าแก้บางจุด บางอัน มันก็ไม่มีใครยอมใครอีก ถ้าจริงใจ กล้าหาญพอ ก็ให้ประชาชนเลือกตั้งเลยถ้าคิดว่ารัฐธรรมนูญ 50 มันดีจริงๆ ไม่ใช่มันดีเพราะเข้าข้างตัวเองแล้วพันธนาการคู่ต่อสู้ อย่าไปคิดแทนประชาชน
จะบอกแต่ว่าให้สามัคคี สมานฉันท์ ขณะที่ความยุติธรรมมันไม่เกิด ประชาชนเขาก็รู้สึกอยู่ตลอด คนคนหนึ่งผิดตลอด คนอีกคนถูกตลอด บ้านเมืองจะสามัคคีกันได้อย่างไร ฉะนั้น ก็กล้าๆ หน่อย ถึงเวลาอันสมควรแล้ว ยุบสภาเลย แล้วประกาศหาเสียงเลือกตั้งถ้าได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งบอกเอารัฐธรรมนูญ 50 บังคับใช้ต่อไปเลย อีกฝ่ายบอกจะเอารัฐธรรมนูญ 40 มาปรับแก้แล้วบังคับใช้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยสันติวิธี โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน มันจะได้เลิกทะเลาะกัน ถ้าไม่เลิกก็ช่วยไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีวิธีไหนดีไปกว่านี้ วิธีของการฟังประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ