ที่มา ประชาไท
ในสายตาผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง อาจมองการที่ “อภิสิทธิ์” ลงทุน “นั่งเครื่อง-ขี่ ฮ.” พร้อมกำลังอารักขากว่า 4.7 พันนาย ลงอุบลฯ เพื่อไปมอบเงินชดเชยให้ยายไฮ เป็นเรื่องฉาบฉวยหรือหวังผลทางการเมืองในพื้นที่ภาคอีสาน แต่สำหรับ “ไฮ ขันจันทา” นี่เป็นการต่อสู้และรอคอยการชดเชยเยียวยาที่ยาวนานกว่า 32 ปี
“ยายไฮ” หรือ นางไฮ ขันจันทา
(ที่มา: นิตยสารแพรว, vol.25 no.596 เดือนมิถุนายน 2547)
การเดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) ตั้งแต่เช้าเวลา 07.00 น. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี แล้วนั่งเฮลิคอปเตอร์ต่อไปยัง “ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน” ของสมัชชาคนจน ที่ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ไม่ได้ไปเพียงเพื่อหาโลเคชันบันทึกเทปรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับ นายกฯอภิสิทธิ์" อย่างเดียว
อีกภารกิจสำคัญคือการมอบเงินชดเชย 4.9 ล้านบาท ให้ “ยายไฮ” หรือนางไฮ ขันจันทาและเพื่อนบ้าน ที่เรียกร้องค่าชดเชยในการเสียโอกาสทำนาจากการได้รับผลกระทบการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าหรืออ่างเก็บน้ำห้วยละห้า ซึ่งเป็นการเรียกร้องของนางไฮกับทุกรัฐบาล มาเป็นเวลากว่า 32 ปี
ในสายตาผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง อาจมองการที่ “อภิสิทธิ์” ลงทุน “นั่งเครื่อง-ขี่ ฮ.” พร้อมกำลังอารักขากว่า 4.7 พันนาย ลงอุบลฯ เพื่อไปมอบเงินชดเชยให้ยายไฮ เป็นเรื่องฉาบฉวยหรือหวังผลทางการเมืองในพื้นที่ภาคอีสาน เจาะ “พื้นที่สีแดง” ฐานเสียงสำคัญของพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย แต่สำหรับ “ไฮ ขันจันทา” นี่เป็นการรอคอยการชดเชยเยียวยาที่ยาวนานกว่า 32 ปี
000
ค้านตั้งแต่เริ่มสร้าง
อ่างเก็บน้ำห้วยละห้า บ้านโนนตาล กิ่ง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ก่อสร้างโดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) รูปแบบโครงการเป็นฝายน้ำล้น เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2520 ก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2521 [1] โครงการดังกล่าวทำให้ที่นาของยายไฮและเพื่อนบ้าน 21 ราย จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำไม่สามารถทำนาได้
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ได้แก่ครอบครัวของนางไฮ ขันจันทา นายฟอง ขันจันทา และนายเสือ พันคำ ได้คัดค้านโครงการตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง กระทั่งโครงการก่อสร้างสำเร็จจนน้ำท่วมมิดที่นา โดยเห็นว่าที่นาจะจมใต้น้ำของอ่างเก็บน้ำ และทั้งสามยืนยันไม่เคยเซ็นยินยอมยกที่ดินให้ทาง รพช.สร้างอ่างเก็บน้ำ
ร้องเรียนทุกสมัย ‘เปรม’ ยัน ‘ชวน’
ก็ยังมีการร้องเรียนต่อราชการทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านตำบล อำเภอจังหวัด จนถึงทำเนียบรัฐบาลในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2520 ก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหา
นิตยสารแพรว ฉบับเดือนมิถุนายน 2547 มีบทสัมภาษณ์ยายไฮ “ไฮ ขันจันทา หญิงไทย ใจเกินร้อย” [2] ตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ยายไฮเปิดเผยถึงสภาพความลำบากหลังน้ำท่วมที่นาของตนหลังการสร้างอ่างเก็บน้ำว่า
“อ่างเก็บน้ำสร้างเสร็จปี 2521 จากนั้นมาชีวิตของฉันและครอบครัวก็จมอยู่ใต้น้ำ เสียที่ทำกินไปเกือบหมด ที่ดินที่เหลืออยู่ก็กลายเป็นที่ตาบอด ไม่มีทางออกทางเข้า ถ้าทำนาคงต้องอุ้มควายเข้าไป เคยไปขอซื้อที่ติดกันทางเหนือเป็นเงินแปดหมื่นบาทเพื่อเป็นทางเข้าออก เจ้าของที่เขาไม่ยอมขาย แล้วฉันจะทำอย่างไร เคยปลูกข้าวแจกชาวบ้าน กลับต้องไปรับจ้างทำนา จนเล็บหลุดทั้งสองข้าง พ่อฟอง (สามี) ก็ ต้องไปรับจ้างสารพัดเพื่อหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องลูกๆ บางทีต้องเดินไปขอข้าวที่หมู่บ้านอื่นมากิน เวลาเดินก็ต้องแยกย้ายกันไปคนละทาง ไม่อย่างนั้นจะได้ข้าวมาไม่พอกินกันทุกคน ลูกๆไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะฉันไม่มีเงินส่ง”
ไม่เคยพบ “เปรม” สักครั้ง
ในช่วงนั้นยายไฮเคยไปร้องเรียนที่ทำเนียบ แต่ก็ไม่เคยพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น จนยายไฮถึงกับกล่าวว่า “ประเทศไทยไม่มีนายกฯ” ยายไฮสัมภาษณ์ใน “นิตยสารแพรว” ไว้ดังนี้
“เจอแต่ผู้ช่วยนายกฯ (พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์) ยื่นหนังสือเสร็จฉันก็กลับอุบลฯเลย เพราะมีเงินพอแค่ค่ารถไปกลับเท่านั้น ค่ารถเมล์ก็ไม่มี เดินเท้าเปล่าจากหัวลำโพงไปทำเนียบ จากทำเนียบไปหัวลำโพง ห่อข้าวไปกิน กินกันสามคนหนึ่งห่อ ข้าวก็เย็น บูดเน่า แต่ก็ต้องกิน เพราะไม่รู้จะไปซื้ออย่างไร มันแพงไปหมด น้ำก็เอาใส่กระติกไป ข้างหนึ่งเป็นเชี่ยนหมาก อีกข้างเป็นกระติก ห้องน้ำห้องท่าก็ไม่ยอมเข้า ทนเอาจนกลับมาถึงบ้าน”
“นับจากปี 2521 มาจนถึงวันนี้ ฉันไปร้องเรียนกับนายกฯ มาทุกสมัยแล้ว มันทำให้ฉันรู้ว่าประเทศไทยไม่มีนายกฯ เพราะ ไปทีไรเขาก็บอกว่านายกฯไปประเทศนั้นประเทศนี้ ฟังแล้วก็คิดว่านายกฯไม่มีในประเทศไทย แล้วเขาไปปกครองที่ไหนล่ะนี่ กลับมาจากทำเนียบทีไรร้องไห้ทุกที วันหนึ่งได้ขึ้นไปพูดบนเวทีสมัชชา ฉันเดือดแล้ว เลยบอกว่า … ประเทศเฮาไม่มีนายกฯ (หัวเราะ) เพราะไม่มีใครสนใจปัญหานี้เลย เกิดมาชาตินี้ไม่ได้พบนายกฯ สักสมัย”
เข้าร่วมสมัชชาคนจน เรียกร้องกับ “ชวน”
ต่อมายายไฮและเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบตัดสินใจร่วมต่อสู้กับสมัชชาคนจนเมื่อปี 2542 ในปี 2543 รัฐบาลชวน หลีกภัย แต่งตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนขึ้นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าและลงมติว่า “ควรให้ดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์และความเสียหายโดยคณะกรรมการระดับจังหวัดหากพบว่าเสียหายก็ให้จ่ายค่าชดเชยตามความเป็นจริง”
แต่แล้วคณะรัฐมนตรีสมัยนั้นก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ดำเนินการ เนื่องจากเห็นว่าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าเป็นโครงการชลประทานขนาดเล็กจัดสร้างขึ้นตามความต้องการและการเรียกร้องของคนในพื้นที่เป็นความต้องการและตกลงกันของคนในท้องถิ่นการก่อสร้างลักษณะนี้มีมากมายในประเทศทางราชการไม่เคยจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใดหากต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับราษฎรอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าก็จะเป็นเหตุให้ต้องพิจารณาถึงโครงการทำนองเดียวกันอีกนับหมื่นโครงการทั่วประเทศซึ่งจะเป็นภาระด้านงบประมาณ
คณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ สมัยทักษิณ แต่ยังไม่คืบ
ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้รับเลือกในปี 2544 มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนที่มีนายปองพล อดิเรกสาร เป็นประธานมีการตั้งอนุอนุกรรมการฯ คณะทำงานต่างๆ สำหรับกรณีอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าได้ผ่านกระบวนการของการแก้ไขปัญหาแล้วหลายขั้น เริ่มจากการตรวจสอบผลกระทบจริง โดยได้ข้อเท็จจริงว่า มีผู้เดือดร้อน 3 ราย และได้รังวัดที่ดินของทั้ง 3 ราย รวมทั้งสิ้น 61 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวาง นอกจากนั้นยังมีการตรวจการเซ็นยินยอมให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ภายหลังคณะทำงานซึ่งมีทั้งจังหวัดอุบลราชธานีและเจ้าหน้าที่ รพช. ให้ความเห็นว่า “...น่าเชื่อว่ามีการร้องคัดค้านการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้ามาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2520 จนถึงปัจจุบัน ความเห็นดังกล่าวได้นำไปสู่การมีมติในที่ประชุมให้มีการจ่ายค่าชดเชยและค่า เสียโอกาสให้กับผู้ได้รับผลกระทบในเวลาต่อมา โดยดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ผ่านกลไกลการทำงานระดับจังหวัด”
คณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นก็จะประกอบด้วยกลไกระดับชุมชน ได้แก่ กำนันตำบลนาตาล ประธาน อบต.นาตาล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 เข้ามามีส่วนร่วมกับตัวแทนผู้เดือดร้อนและตัวแทนราชการส่วนอื่น การพิจารณาทำรายละเอียดเงินค่าชดเชยและค่าเสียโอกาสสำหรับผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 3 ราย โดยคณะทำงานคิดราคารวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,857,215 บาท ซึ่งเงินค่าชดเชยจำนวนนี้จะจ่ายได้ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนก่อน
แต่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ที่มีนายปองพล อดิเรกสาร เป็นประธานได้ให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วยให้จ่ายค่าชดเชยในกรณีอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าเพราะ เกรงว่าจะเป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มอื่นๆ อีก และอ้างว่า รพช.และจังหวัดอุบลราชธานีก็ไม่เห็นด้วยที่จะจ่ายค่าชดเชยเช่นเดียวกัน
เดือนกันยายน 2545 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนได้พิจารณาทบทวนการให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า โดยให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) เป็นผู้จัดหาที่ดินทำกินให้ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน โดยให้กรมที่ดินหาข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินของราษฎรดังกล่าว ว่า ที่ดินที่ได้รับผลกระทบมีเนื้อที่เท่าใด แล้วส่งเรื่องให้ สปก. ดำเนินการ ต่อมาจึงได้ใช้มตินี้ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า โดยให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการให้ชาวบ้านหาที่ดินตามจำนวนความเสียหายที่ เกิดขึ้น จากนั้น สปก.จะจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อที่ให้กับชาวบ้านทั้งสามรายต่อไป
ภายหลัง สปก. ให้ความเห็นว่ายังไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อที่ดินจึงได้ขอให้จังหวัดอุบลราชธานี เข้าไปดำเนินการเกี่ยวกับการต่อรองราคาในที่ดินที่ราษฎรได้จัดหาไว้ ให้อยู่ในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาประเมินหรือหากต่อรองไม่ได้ก็ให้แสดง เหตุผลความจำเป็นต่อการซื้อที่ดินในแปลงที่จัดหาไว้ ซึ่งหลังจากนั้นยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อกระทั่งปัจจุบัน
รอไม่ไหว ยายไฮขุดสันอ่างเก็บน้ำ! สรยุทธ์เชิญออกทีวี
และวันที่ 11 มีนาคม 2545 ผู้ได้รับผลกระทบจากอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าทั้งสามครอบครัวได้เข้าชุมนุมสร้างเพิงพักที่บริเวณสันอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า และยื่นข้อเสนอว่า “จะระบายน้ำเพื่อเอาที่นาคืน”
และในเช้าตรู่ของวันที่ 19 เมษายน 2547 ยายไฮ ขันจันทา ได้นำลูกหลานใช้จอบเสียมลงขุดคุ้ยดินที่อัดเป็นตัวอ่างเก็บน้ำ หวังให้น้ำในอ่างระบายออกเพื่อเอาที่นาที่จมอยู่ใต้น้ำคืน โดยนางเพชร ขันจันทา ลูกสาวยายไฮ ได้เขียนจดหมาย “ขอความเป็นธรรม” ชี้แจงสถานการณ์ไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วย [3]
จดหมายถึงนายก ทักษิณ วันที่ 20 เมษายน 2547 เรื่อง ขอความเป็นธรรม เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ข้าพเจ้า นางเพชร ขันจันทา อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ 10 ต.นาตาล กิ่ง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี เป็นลูกสาวคนสุดท้องของนางไฮ ขันจันทา ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโนนตาล กิ่ง อ.นาตาล จ.อุบลฯ อ่างเก็บน้ำสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2521 นับเป็นเวลากว่า 27 ปีแล้ว อ่างเก็บน้ำห้วยละห้า เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กระทรวงมหาดไทย ท่วมพื้นที่นาทั้งหมดประมาณ 400 ไร่ การสร้างอ่างเก็บน้ำจะดำเนินการได้จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของที่ดินก่อนจึง จะสา มารถสร้างได้ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นไปตามนั้น เจ้าของที่ ได้แก่ นางไฮ ขันจันทา นายฟอง ขันจันทา และนายเสือ พันคำ ทั้งสามคน ไม่เคยได้มีการเซ็นยินยอมอนุญาตแต่อย่างใด แต่ทาง รพช.ก็ได้ดำเนินการการก่อสร้างบริเวณที่นาของทั้งสามคน จนแล้วเสร็จ หลังการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า น้ำได้ท่วมที่ดินของทั้งสามคน เป็นจำนวน 62 ไร่ โดยที่ไม่มีการชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น หลังน้ำท่วมเจ้าของที่ทั้งสามคนก็ยังคงเสียภาษีที่ดินของตนเองที่จมน้ำอยู่ ตลอดเวลากระทั่งปัจจุบัน โดยมีหลักฐานที่ดิน นส.3 ก. และใบเสร็จที่พร้อมจะแสดงเป็นหลักฐานตลอดเวลา อ่างเก็บน้ำห้วยละห้าได้ทำให้ครอบครัวของข้าพเจ้าที่มีพี่น้องถึง 10 คน ต้องประสบกับความทุกข์ยาก ไม่มีที่ดินทำกิน อดอยากหิวโหย ต้องเร่ร่อนหารับจ้าง จนเวลาผ่านไป 27 ปี ตลอดเวลา นางไฮ ขันจันทา ได้เดินทางไปร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ตั้งแต่ระดับจังหวัด จนถึงทำเนียบรัฐบาล และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 27 ปี รัฐบาลชวน และรัฐบาลปัจจุบันได้ยอมรับความผิดพลาดของหน่วยงานราชการที่ปลอมลายเซ็นของนางไฮ ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและรับรองการจ่ายค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสตลอดระยะเวลา 27 ปี รวมทั้งการจัดซื้อที่ดินคืนให้ครบตามจำนวนที่สูญเสีย แต่จนกระทั่งปัจจุบัน ไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการเรื่องดังกล่าว นางไฮและข้าพเจ้า และลูกคนอื่นๆ ก็ยังได้เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดอุบลฯ และที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือขอให้ดำเนินการแต่ก็ไม่มีการตอบรับแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2547 นางไฮ จึงลงมือขุดสันอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า เพื่อระบายน้ำเอาที่นากลับคืน เพื่อปีนี้นางไฮ และลูกหลาน เหลนจะได้มีนาทำ มีข้าวกินไม่ต้องอดอยากยากจนอีกต่อไป การกระทำครั้งนี้ ถือว่าเป็นการทำตามสิทธิพลเมือง ช่วยเหลือตนเอง ไม่รอคอยความช่วยเหลือลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป อนึ่ง อ่างเก็บน้ำห้วยละห้า ได้ถูกนำไปใช้ในการทำน้ำประปาหมู่บ้านในปี 2537 เป็นต้นมา หากมีการระบายน้ำออกข้าพเจ้ายืนยันว่ายังมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ถูกทับซ้อนโดย อ่างห้วยละห้าเหลืออยู่ ซึ่งจะพอใช้สำหรับการทำประปาใน 3 หมู่บ้านอย่างแน่นอน ดังนั้นประชาชนผู้ใช้น้ำจะไม่มีความเดือดร้อนแต่อย่างใด จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับนางไฮ และลูกหลานเหลนทุกคนด้วย ขอแสดงความนับถือ (นางเพชร ขันจันทา) ลูกสาวนางไฮ ขันจันทา ผู้เดือดร้อนจากอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า |
และเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 14 พ.ค. 2547 ยายไฮได้ไปออกรายการ “ถึงลูกถึงคน” ดำเนินรายการโดยนายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี หรือช่อง 9 อสมท.
เยียวยาครั้งแรก “ทักษิณ” โชว์แก้ปัญหาแบบประชานิยม
เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีทราบเรื่องจากรายการโทรทัศน์จึงให้ นายยงยุทธ ติยะไพรัช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลงพื้นที่ทันทีเพื่อรับทราบปัญหา โดยนายยงยุทธพบปะผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งครอบครัวของยายไฮ นายฟอง ขันจันทา และนายเสือ คำพัน ที่บริเวณสันอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่ยายไฮ ปลูกบ้านปักหลักประท้วงหน่วยราชการ รวมทั้งใช้เป็นที่พักอาศัยเพื่อขุดสันอ่างเก็บน้ำเพื่อระบายน้ำ นายยงยุทธ ยังพบตัวแทนชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้านที่เป็นคู่กรณียายไฮด้วย ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าต้องการใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำดังกล่าวเพื่อทำน้ำประปา
ชาวบ้าน 3 หมู่บ้านที่ได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าเห็นว่าหากยอมปล่อยน้ำและคืนพื้นที่ให้นางไฮ อาจทำให้คนอื่นๆ เรียกร้องสิทธิคืนเช่นกัน แต่เมื่อได้รับการชี้แจงว่าชาวบ้านทุกคนที่มีกรรมสิทธิ์จะได้คืนทั้งหมด และรัฐบาลจะดำเนินการสร้างระบบน้ำประปาหมู่บ้านให้ ก็ทำให้บรรยากาศคลายความตึงเครียดลง และชาวบ้านก็ไม่คัดค้านการดำเนินการของภาครัฐดังนั้น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอที่จะช่วยเหลือโดยโทรศัพท์ขอรับนโยบายจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อมีคำสั่งไปยังหน่วยทหารพัฒนาในการก่อสร้างระบบน้ำประปาหมู่บ้านให้ชาวบ้าน โดยยืนยันว่าภายในวันที่ 16 พ.ค. 2547 หน่วยทหารพัฒนาจะเดินหน้าทำโครงการประปาหมู่บ้านให้ทั้งนี้ ชาวบ้านรู้สึกพอใจและเห็นว่าหากมีน้ำจากบ่อบาดาลที่ทหารขุดเจาะมาใช้แทนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำอีกต่อไป จึงไม่ขัดข้องหากจะมีการะบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ [4]
ในวันที่ 16 พ.ค. 2547 พล.ต.นิยศ พันธุ์โอสถ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยทหารพัฒนาเคลื่อนที่ ได้นำทหารจำนวน 8 นาย พร้อมรถขุดเจาะ 3 คัน เข้าสำรวจพื้นที่ในหมู่บ้านนาตาล นานคร และโนนตาล เพื่อทำการขุดเจาะบ่อน้ำกินน้ำใช้ให้กับประชาชน ตามคำสั่งของนายกฯ และได้เดินทางมาดูที่อ่างเก็บน้ำห้วยละห้า เพื่อดูบริเวณที่จะทำการระบายน้ำออก อย่างไรก็ตามการระบายน้ำออกจากสันอ่างเก็บน้ำยังไม่เกิดขึ้นทันที โดยนายพิสิษฐ์ วงศ์ฟูเฟื่องขจร หัวหน้าโครงการชลประทานอุบลราชธานี กล่าวเมื่อ 10 มิ.ย. ว่า เดิมกำหนดจะปล่อยน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำคือวันที่ 11 มิ.ย. 2547 นี้ แต่เนื่องจากอาคารฝายน้ำล้นเป็นครุภัณฑ์ของทางราชการ การทุบทำลายต้องได้รับการยินยอมเป็นหนังสือจากทางจังหวัด จึงได้มีหนังสือขออนุมัติทุบทำลาย พร้อมกับของบประมาณดำเนินการ และคาดว่าจะสามารถเข้าไปทำการทุบอ่างเก็บน้ำได้ประมาณวันที่ 15 มิ.ย. 2547
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบปัญหาดังกล่าว วันที่ 10 มิ.ย. 2547 จึงมีคำสั่งให้ พ.อ.ธนันท์ มนูนิมิตร ผู้บังคับการหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 กองบัญชาการทหารพัฒนา นำเครื่องมือหนักพร้อมกำลังพลเข้าเจาะระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า เวลา 22.00 น. ตั้งแต่คืนวันที่ 10 มิ.ย. 2547 [5]
ต่อมาในวันที่ 21 ต.ค. 2547 ยายไฮ ขันจันทา พร้อมครอบครัว เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอบคุณนายกฯที่ให้การช่วยเหลือกรณีปัญหาที่ดินที่ถูกเวนคืนไปทำฝายกั้นน้ำห้วยละห้าจนได้ที่ดินกลับคืน พร้อมทั้งขอให้นายกฯ ช่วยฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เพราะการเรียกร้องที่ผ่านมา 27 ปี ทำให้สูญเสียทรัพย์สินจนสิ้นเนื้อประดาตัว โดย พ.ต.ท.ทักษิณ รับปากจะรักษาต้อกระจกให้ด้วย โดยให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมอบหมายให้นายยงยุทธ ติยะไพรัช เลขาธิการนายกฯ ดูแล โดยยายไฮร้องไห้ตลอดเวลาที่เล่าสารทุกข์สุกดิบให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ฟัง ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถึงกับน้ำตาคลอเบ้า นอกจากนี้ ยายไฮยังอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีไปตลอดชีวิต [6]
มาร์คเริ่มชิงซีนพบ “ยายไฮ”
ก่อนที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะนำเงินชดเชยมามอบให้ยายไฮเมื่อ 10 ต.ค. 2552 นั้น เมื่อ 4 ปีที่แล้ว อภิสิทธิ์ ก็เคยพบกับยายไฮมาก่อน โดยขณะนั้นเขาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และเป็นผู้นำฝ่ายค้าน โดยระหว่างที่สมัชชาคนจนเดินทางมาชุมนุมทวงถามข้อเรียกร้องจากรัฐบาล เมื่อ 16 มี.ค. 2548 ซึ่ง “ยายไฮ” ก็เดินทางมาทวงข้อเรียกร้องด้วย เนื่องจากยังไม่ได้รับเงินชดเชยจากการที่ที่ดินถูกนำมาสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า
โดยเมื่อ 16 มี.ค. 2548 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินทางมาเยี่ยมเยียนประชาชนในกลุ่มสมัชชาคนจนที่ปักหลักชุมนุมหน้ารัฐสภา ซึ่งเป็นที่สนใจของชาวบ้านมาก และแกนนำกลุ่มได้บอกเล่าถึงปัญหาที่ตนเองประสบ และอยากให้ฝ่ายค้านเข้ามาช่วยประสานงานในการยื่นเรื่องให้รัฐบาลเข้ามาดูแล
โดยนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวกับแกนนำกลุ่มชาวบ้านว่า ปัญหาทั้งหมดที่ชาวบ้านเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือนั้น แบ่งเป็น 1.ปัญหาเฉพาะเรื่อง ปัญหาเฉพาะพื้นที่ที่มานานและยากที่จะแก้ไขให้จบภายในเร็ววัน โดยพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นสื่อกลางในการส่งข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้กับรัฐบาล 2.ปัญหาด้านนโยบายพรรคประชาธิปัตย์จะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาว่าด้านนโยบายของพรรคจะช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ขอให้ทุกคนสบายใจ และต่อไปนี้พรรคประชาธิปัตย์จะทำงานร่วมกับภาคประชาชนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน
โดยนายอภิสิทธิ์ได้เดินทักทายกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะยายไฮ ขันจันทา นายอภิสิทธิ์ได้เข้ามาพูดคุยแล้วยายไฮบอกให้นายอภิสิทธิ์ช่วยแก้ไขปัญหาที่ค้างคามาตั้งนาน โดยบอกว่าเป็นเวลากว่า 27 ปี กว่าจะได้ที่ดินกลับคืนมา ตนถึงกลับหมดเนื้อหมดตัว เป็นหนี้เป็นสิน สิ่งที่เดือดร้อนไม่ได้เดือดร้อนอะไร ที่เดือดร้อนคือปากท้องเท่านั้น [7]
ช่วงปลายปี 2547 ยายไฮรับเป็นพรีเซ็นเตอร์โครงการ “60 ล้านใจ สานสายใยพี่น้องใต้ด้วยดอกไม้และนกกระดาษ” เพื่อเชิญชวนประชาชนส่งใจผ่านทางนกกระดาษเพื่อนำกำลังใจไปสู่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์, 1 พ.ย. 2547) “คนดัง” แต่เรื่องยังไม่จบ
นอกจากนี้ หลังเรื่องราวการทุบอ่างเก็บน้ำของยายไฮถูกตีข่าวในทุกแขนง สังคมก็ให้ความจับจ้องมาที่นางไฮ กลายเป็น “ยายไฮ” คนดัง มีการกล่าวถึงยายไฮทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยวันแม่แห่งชาติปี 2547 มหาวิทยาลัยมหิดลได้มอบรางวัล “แม่สู้ชีวิต 4 ภาค” ให้กับยายไฮ โดยเข้ารับประทานรางวัลจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เมื่อ 15 ส.ค. 2547
วันที่ 18 ธ.ค. 2547 รับปริญญาดุษฏีกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงชวลิตกุล จ.นครราชสีมา และวันที่ 10 มี.ค. 2548 รับรางวัลในวันสตรีสากล จากกรมกิจการสตรี กระทรวงพัฒนาสังคม [8]
นอกจากนี้ในช่วงปลายปี 2547 ยายไฮยังรับเป็นพรีเซ็นเตอร์โครงการ “60 ล้านใจ สานสายใยพี่น้องใต้ด้วยดอกไม้และนกกระดาษ” เพื่อเชิญชวนประชาชนส่งใจผ่านทางนกกระดาษเพื่อนำกำลังใจไปสู่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ [9]
ในปี 2548 โครงการผู้หญิง 1,000 คน เพื่อรางวัลโนเบลสันติภาพ พ.ศ. 2548 (1,000 Women for the Nobel Peace Prize 2005) ยายไฮร่วมกับผู้หญิงในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีก 43 คน ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วย [10]
ยายไฮเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะรัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการจ่ายเงินค่าชดเชยให้ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนเคยศึกษาเอาไว้ จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกโค่นอำนาจ และเปลี่ยนเป็นรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
เข้าสู่ยุคสุรยุทธ์ ปัญหาไม่คืบ
วันที่ 15 มิ.ย. 2550 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มสมัชชาคนจน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมหารือกับตัวแทนกลุ่มสมัชชาคนจนจำนวน 30 คน เพื่อรับทราบความคืบหน้าและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในด้านต่างๆ ตามข้อเรียกร้อง
โดยหนึ่งในปัญหาคือการขอค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินจำนวน 3 รายกรณีอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา แต่ก็ยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมา [11]
กระทั่งวันที่ 9 พ.ย. 2550 ยายไฮ และลูกหลานรวม 20 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผ่านนายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้จ่ายเงินชดเชยการเสียโอกาสในที่ดินทำกินจำนวน 4,948,215 บาท ซึ่งรัฐนำไปทำเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าเป็นเวลานานถึง 27 ปี และเงินค่าเสียโอกาสดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับและติดตามการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทยเป็นเวลากว่า 1 ปี แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า [12]
เปลี่ยนรัฐบาลจากสมชายสู่มาร์ค “ยายไฮ” ยังขอบคุณทักษิณ แต่ไม่คิดถึง
หลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 มีรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าของการแก้ปัญหา กระทั่งเกิดกรณียุบสามพรรคการเมือง เปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ขวัญใจ นางเนียม พันธ์มณี หรือ “ยายเนียม” อดีตหมอลำชาวอำเภอม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ผู้มอบแหวนทองเหลืองให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อหมั้นหมายให้เป็นเขยอีสาน ระหว่างเดินทางไปช่วยลูกพรรคหาเสียงที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อปลายปี 2550
ในช่วงเปลี่ยนรัฐบาลนี้เอง คมชัดลึกฉบับวันที่ 21 ธ.ค. 2551 เผยแพร่ข่าว “ "ยายใฮ"ในวันไร้เงา"ทักษิณ"ไม่คิดถึง-ไม่สงสารเพราะโกงบ้านเมือง” รายงานโดย วิชิต มีสวัสดิ์ มีคำถามหนึ่งจากวิชิตว่า “มาวันนี้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีแล้ว ยายไฮ...คิดถึงอดีตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "ทักษิณ" หรือไม่” ยายไฮที่เมื่อ 4 ปีก่อน เคยอวยพรทักษิณให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีไปตลอดชีวิต มาคราวนี้ ยายไฮตอบว่าขอบคุณที่ทักษิณช่วย แต่ไม่คิดถึงเพราะดูข่าวเห็นว่า “เป็นคนโกงบ้านโกงเมือง” และเห็นว่าดูบุคลิกอภิสิทธิ์แล้วน่าจะเป็นคนดี
“ยายไฮยกมือพนมขึ้นเหนือศีรษะและพูดคำว่า "สาธุ" ทันที พร้อมกับบอกว่า ต้องขอบคุณนายกฯ ทักษิณ ที่มีส่วนช่วยให้ไม่ต้องถูกจับคดีที่ไปทุบอ่างเก็บน้ำ และช่วยให้ได้ที่นาคืน ถ้าเขาไม่มาช่วยเรื่องคงไม่จบ แต่ก็ช่วยแค่นั้นนะ เพราะตอนหลังไปขอให้ช่วยเรื่องค่าเสียโอกาสก็เงียบไป ไม่ได้รับการเหลียวแลอีกเลย ตอนหลังดูข่าวเห็นว่าเป็นคนโกงบ้านโกงเมือง ก็ไม่คิดถึง ไม่สงสารนะ ส่วนตอนนี้มีนายกฯ ชื่ออภิสิทธิ์ ดูบุคลิกแล้วน่าจะเป็นคนดี เท่าที่ติดตามดูข่าวได้ยินนายกฯ บอกว่า จะดูแลชาวบ้านที่ยากจนในทุกภาคของประเทศ ถ้าทำได้อย่างที่พูดก็คงดี อยากฝากให้มาช่วยชาวบ้านยากจนด้วย เห็นข่าวยายเนียมทางโทรทัศน์ นักข่าวสัมภาษณ์เรื่องแหวน เห็นเรื่องที่พูดถึงนายกฯ คนใหม่ว่าเป็นคนดี ก็เห็นด้วยว่านายอภิสิทธิ์ดูแล้วน่าจะเป็นคนดี แต่จะทำงานได้หรือไม่ต้องคอยติดตามดู” [13]
รัฐบาลอภิสิทธิ์ มติ ครม. ชงอนุมัติเงินชดเชย
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2552 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือ เรื่อง ข้อเสนอแนะและแนวทางในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มสมัชชาคนจน 16 ประเด็น ร่วมกับตัวแทนสมัชชาคนจน 45 คน โดยมีความคืบหน้า 10 ประเด็นรวมทั้งปัญหาอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า [14]
และการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 22 มิ.ย. 2552 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติจ่ายจำนวนเงินชดเชยค่าเสียโอกาส เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า จ.อุบลราชธานี ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยจ่ายให้ยายไฮ ขันจันทากับพวก 3 คน เป็นวงเงิน 4,948,217 ล้านบาท
วงเงิน 4.9 ล้านบาท แยกเป็นจ่ายให้นางไฮ ขันจันทา 1,208,153 บาท นายเสือ พันคำ 2,389,142 บาท และนายฟอง ขันจันทา 1,350,922 บาท [15]
โดยในการพิจารณาอนุมัติเงินค่าทดแทนดังกล่าว มีการนำเสนอความเห็นไม่ตรงกันเล็กน้อย ระหว่างนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคประชาธิปัตย์ กับรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย โดยนายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กับนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ด้านนายสาทิตย์ผลักดันให้อนุมัติ แต่นายธีระไม่เห็นด้วยพร้อมแสดงความเป็นห่วงว่าจะทำให้เป็นตัวอย่าง ต่อไปอาจมีกรณีแบบเดียวกันแล้วมาขออีกมาก อย่างไรก็ตาม นายสาทิตย์ยืนยันว่า กรณีราษฎร 3 คนดังกล่าวนั้น แตกต่างและมีความชัดเจน เนื่องจากทั้ง 3 คน แสดงท่าทีคัดค้านการก่อสร้างฝายมาแต่ยังไม่เริ่มสร้าง แล้วต่อมาอนุมัติให้เปิดฝาย ก็เป็นสิ่งบ่งบอกความชัดเจนว่ารัฐมีความผิดพลาดที่ไปก่อสร้างฝาย เมื่อฟังเหตุผลฝ่ายสนับสนุน คณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติตามที่เสนอ [16]
000
จึงเป็นที่มาของการที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นั่งเครื่องบินไปอุบลฯ ต่อเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปจ่ายเงินชดเชย4.9 ล้านบาท ให้กับยายไฮ ขันจันทา และเพื่อนบ้านที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทยบ้าน อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานีในวันนี้
เป็นมาตรการเยียวยาครั้งที่สองโดย “อภิสิทธิ์” หลังจากเมื่อ 5 ปีก่อน “ทักษิณ” สั่งการปล่อยน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเมื่อปี 2547
คำถามต่อ “อภิสิทธิ์” ว่าเรื่องช่วยคนจนจริงหรือทำฉาบฉวยหวังผลทางการเมืองในพื้นที่ภาคอีสาน ตอนนี้หลายคนอาจมีคำตอบแล้ว แต่สำหรับ “ยายไฮ” และเพื่อนบ้านที่ได้ผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้าในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” นับเป็นการรอคอยที่ยาวนานกว่า 32 ปี
สำหรับยายไฮ คำถามบางอย่างคงมีคำตอบแล้ว สำหรับการบริหารจัดการเงินชดเชย 1.2 ล้านบาทนั้น ยายไฮมีไอเดียว่าจะแบ่งออก 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเก็บไว้ใช้เอง อีกส่วนแบ่งให้ลูกทั้ง 10 คน และอีกส่วนซื้อที่นาเพิ่มเติม [17]
อ้างอิง
[1] เหตุการณ์และความคืบหน้าของการต่อสู้และเรียกร้องค่าชดเชยจากการได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า ของนางไฮ ขันจันทา และเพื่อนบ้าน ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปี 2547 ส่วนใหญ่ในที่นี้อ้างอิงจาก “ขุด..อ่างเก็บน้ำห้วยละห้าเอานาคืน” โดย สมภาร คืนดี, ใน เว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอ, 26 เม.ย. 2547, http://www.thaingo.org/cgi-bin/content/content2/show.pl?0201 [2] “ไฮ ขันจันทา หญิงไทย ใจเกินร้อย”, บทสัมภาษณ์นางไฮ ขันจันทา, ใน นิตยสารแพรว, เดือนมิถุนายน 2547
[4]'ยายไฮ'เฮ รัฐบาลคืนสิทธิ ที่ดินทำกิน, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 17 พ.ค. 2547
[5] "แม้ว"สั่งปล่อยน้ำคืนที่ดิน"ยายไฮ", มติชน, 11 มิ.ย. 2547
[6]ยายไฮบุกทำเนียบพบนายกฯขอทุนตั้งตัว, แนวหน้า, 22 ต.ค. 2547
[9] ชมภาพ “ยายไฮ”รับบทพรีเซนเตอร์ดับร้อนภาคใต้, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 1 พ.ย. 2548
[10] 12 หญิงไทยติดโผชิงโนเบลสาขาสันติภาพโลก, ผู้จัดการออนไลน์, 29 มิ.ย. 2548
[12] "ยายไฮ" จี้บิ๊กแอ้ดจ่ายชดเชย 3.9 ล.,เว็บไซต์ข่าวสด, 10 พ.ย. 2550
[14] สมัชชาคนจนพอใจรัฐแก้ไข 10 ประเด็นปัญหาคืบหน้า, สำนักโฆษก, 11 มิ.ย. 2552