ที่มา Thai E-news
ขณะที่ผู้ใหญ่จะสั่งสอนไม่ให้ใจร้อน แต่เมื่อพวกเรานั่งล้อมวงวิจารณ์กันถึงยุทธศาสตร์การต่อสู้ 15 ปีผ่านมาเป็นการตั้งรับ ยังไม่รู้ว่าจะต้องรับอย่างนี้อีกกี่ปีกว่าจะถึงขึ้นยัน เราคงต้องยันด้วยไม้เท้าเป็นแน่ อย่างไรก็ตามการเข้าไปในพื้นที่ที่ทางการกุมไว้ถือเป็นการรุกทางยุทธวิธี
โดย วันลา วันวิไล
31 ตุลาคม 2552
12. ปะตี้ทูโด๊ะ
ผู้หญิง 2 คนนั้นสวยมาก เด็กหนุ่มที่เดินขึ้นมาก็หน้าตาดี ทั้งสามคนเป็นลูกหลานของปะตี้ทูโด๊ะ ผมมองอย่างตะลึงเพราะนึกไม่ถึงว่าในป่าจะมีสาวสวยเช่นนี้
ปะตี้ทูโด๊ะ เป็นชื่อชาวกะเหรี่ยง “ปะตี้” แปลว่า ลุง ปะตี้ทูโด๊ะเป็นใครผมไม่รู้จัก เพียงแต่ต้องการพูดถึงลูกสาวคนสวยของเขา จนใจที่ไม่รู้จักชื่อเธอเลยต้องเอ่ยชื่อพ่อของเธอนำ
ชาวกะเหรี่ยงแถบนั้นเหมือนชนเผ่าอิสระ กระจัดกระจายอยู่ทั้งในเขตแดนพม่าและชายแดนไทย คงไม่ได้สังกัดเป็นพลเมืองของประเทศได ทั้งไม่ได้สนใจที่จะต้องสังกัด
ใกล้ ๆ ค่ายของพวกเรามีบ้านกะเหรี่ยงเรียงกันตามที่ราบแคบ ๆ ริมห้วยประมาณ 30-40 หลังคาเรือน ชนชาติภูเขาเผ่านี้เรียกตัวเองว่า“ปากันยอ” สำเนียงพูดต่างไปจากกะเหรี่ยงที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งพูดคำ “กินข้าว”ว่า “อั้งมี” แต่ที่นี่พูด “ออมี”
พวกเขาปลูกบ้านด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง ไม่มีเหล็กเช่นตะปูหรือลวด ปนแม้แต่นิดเดียว หลังคามุงหญ้าคาหรือใบไม้ เสาบ้านไม้ไผ่ลำยาวทำใต้ถุนสูงมากจนดูไม่น่าแข็งแรง แต่คนกะเหรี่ยงอยู่บ้านที่ปลูกนั้นไม่นานนัก พอดินในไร่ข้าวเริ่มจืด (ปลูกพืชไม่ค่อยงาม มีแมลงรบกวนมาก) เขาก็จะย้ายไปอยู่ที่อื่นตามแนวห้วยที่ยาวเหยียด
เป็นชีวิตที่ง่าย มือถือมีดพม่าเล่มเดียว สามารถฟันป่า ถางไร่ ขุดดิน ปลูกพืชพันธ์ธัญญาหารกินได้ หาปลาหากบมากินได้ เป็นอยู่กับวัฒนธรรมแบบซื่อๆเฉกเช่นธรรมชาติรอบๆตัว แม่ลูกยืนแก้ผ้าโทง ๆ อาบน้ำในห้วย เห็นคนเดินผ่านยังถูตัววักน้ำขึ้นลูบหน้าเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ทั้งหญิงชาย ผู้ใหญ่ เด็ก เคี้ยวหมากปากแดงเขรอะและสูบยาฉุนมวนโต
ต่างหูเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพวกเขา ทำด้วยไม้ไผ่หรือวัสดุอื่นในป่าอันโตขนาดหัวแม่มือ ทำให้ติ่งหูเป็นรูกลวงและห้อยยาน
ปะตี้คนหนึ่งบอกผมว่า รูขนาดใหญ่ที่ติ่งหูเป็นสัญญลักษณ์ของการต่อสู้ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับผู้กดขี่ ผมไม่เคยศึกษาประวัติการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยง จึงไม่อาจยืนยันข้อเท็จจริงของคำพูดนี้ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นความหมายที่น่าคิด เพราะมันจะแตกต่างกันมากถ้ามีคนบอกว่าพวกเขาคิดว่ามันสวยงามที่มีรูใหญ่ที่ใบหู
อาหารของชาวกะเหรี่ยงมีข้าวเป็นหลัก พวกเขาคดข้าวใส่ชามใบโต (น่าจะเรียกว่ากะละมังมากกว่า) กินกับปลาย่าง น้ำพริกที่มีแต่กะปิกับพริกขี้นก (บางคนเรียกว่าพริกกะเหรี่ยง) เผ็ดจนหูอื้อ แกล้มกับผักสดผักต้มสารพัดชนิด ผมเคยนั่งร่วมวงกินข้าวด้วยกัน น้ำใจไมตรีมีให้เหลือเฟือ เขาจะคะยั้นคะยอให้พวกเรากินเยอะๆเช่นเดียวกับที่พวกเขาแต่ละคนจะคดข้าวให้กัน 2-3 ชามโต
ถ้าเราเลิกใส่ใจกับมาตรฐานการครองชีพและอนามัยตามแบบตะวันตก คนกะเหรี่ยงที่ร่างเล็กอายุคงไม่ได้ยืนยาวนัก แต่ยามทำงานช่างแข็งแรงและทรหดอดทนเหลือเกิน ทำให้ผมอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าชีวิตที่ล้าหลัง (ในสายตาของคนเมือง) มันแย่กว่าความสุขสบายในห้องแอร์แต่กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกลงทุกวันจริงหรือ
มีชาวกะเหรี่ยงบางครอบครัวที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับพวกเรา อพยพลงไปอยู่ตามสายน้ำที่ไหลลึกเข้าไปใกล้หมู่บ้านไทยและอำเภอที่คนหนาแน่น หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ปะตี้ทูโด๊ะ นานๆ เราจึงจะไปเยี่ยมเขาสักครั้งหนึ่งและได้สอบถามข่าวคราวการเคลื่อนไหวของทหารตำรวจในพื้นที่แถบนั้นด้วย
ช่วงหน้าฝนปี 2522 หัวหน้าหน่วยจึงให้ผมกับเพื่อนคนหนึ่งไปบ้านปะตี้ทูโด๊ะ
ภูมิประเทศแถบนั้นงดงามมาก ภูเขาบางลูกมีแต่ไม้ไผ่สีเขียวอมเหลือง ทอดเงาลงในสายน้ำใสกระจ่างที่ทั้งกว้างขวางและตรงดิ่งไปยังพุ่มไม้ครึ้ม ถ้าเดินไปทางถนนซึ่งทำเพื่อชักลากไม้จะสบายมาก แต่เราไม่มั่นใจในความปลอดภัย กลับเดินขึ้นลงภูเขาที่รกไปด้วยหนามและข้ามสายน้ำเชี่ยว
เที่ยงวันที่ 4 จึงไปถึงบ้านปะตี้ทูโด๊ะ เป็นเรือนไม้มีใต้ถุนแบบบ้านคนไทยในชนบท ปลูก 3 หลังติดกัน อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ทั้งพ่อแม่แก่เฒ่าและลูกหลาน แบบของความเป็นอยู่ทุกอย่างเหมือนคนไทย ยกเว้นภาษาเท่านั้นที่เป็นกะเหรี่ยงและทำให้ผมสื่อสารกับเขาไม่ได้
เมื่อผมไปถึงเมียของปะตี้ทูโด๊ะและเด็ก ๆ นอนฟังวิทยุทรานซิสเตอร์เพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ สักพักก็หมุนหาคลื่นไปเจอเพลงฝรั่ง แล้วพวกเขาก็หัวเราะกันลั่นบ้าน เพื่อนผมที่พอรู้จักภาษากะเหรี่ยงอยู่บ้างบอกว่า คำในเพลงฝรั่งคล้ายกับคำทะลึ่งในภาษากะเหรี่ยง
สักพักหนึ่งแม่เฒ่านำหญิงสาว 2 คนและเด็กหนุ่มคนหนึ่งขึ้นเรือนมา แม่เฒ่ามาพูดกับผมด้วยน้ำเสียงแหบๆ 2-3 คำ ฟังไม่รู้เรื่อง ผู้หญิง 2 คนนั้นสวยมาก เด็กหนุ่มที่เดินขึ้นมาก็หน้าตาดี ทั้งสามคนเป็นลูกหลานของปะตี้ทูโด๊ะ ผมมองอย่างตะลึงเพราะนึกไม่ถึงว่าในป่าจะมีสาวสวยเช่นนี้
ปกติโลกมักจะไม่ค่อยยุติธรรม คนหน้าตาดีมักจะเป็นลูกหลานของคนในเมืองร่ำรวย (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “มีบุญ”) ส่วนสาวชาวนาชาวไร่มักทำงานหนักตากแดดตากฝน ผิวหน้ากร้าน มีสิวฝ้าตามสภาพ ดังนั้นสาวชาวเมืองมักได้เปรียบกว่าสาวชาวบ้านในทุกกรณี ยิ่งในสังคมของทุนและการค้าเป็นใหญ่ อะไร ๆ ก็จะแปรเป็นทรัพย์สินเงินทองได้หมด ถ้าสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการ ในคติไทยความสวยก็เป็นรูปสมบัติ มันจึงขายได้ แลกเปลี่ยนได้
ผมไม่ได้บังอาจคิดเลยเถิดไปไกล ความสวยของสาวกะเหรี่ยงควรเป็นสมบัติของชาวกะเหรี่ยง ผมเพียงแต่จ้องมองและเห็นความงามเหมือนความงามของสายน้ำที่ผมเดินผ่านซึ่งไหลตรงดิ่งไปยังขุนเขาสีเขียวและมีหมอกบาง ๆ คลุมอยู่ให้เห็นเลือนลาง
เพื่อนผมเข้ามาสะกิดบอกว่า แม่เฒ่าขอให้ช่วยแทงเข็มรักษาโรคปวดเข่า ชาวบ้านรู้ว่าพวกเราเคยร่ำเรียนวิชาแทงเข็มมาบ้างก็มักจะเชื่อถือให้เราปัดเป่าความเจ็บปวดให้เสมอ ผมแทงเข็มให้แม่เฒ่าดูแกจะพอใจทั้ง ๆ ที่ผมรู้ว่าการแทงเข็มเช่นนั้นคงจะไม่ได้ช่วยรักษาโรคอันเกิดจากความเสื่อมชราได้เลย
หญิงสาวคนสวยบอกว่าปวดหลัง ให้ผมแทงเข็มรักษาด้วย เธอนอนคว่ำลงเลิกเสื้อขึ้นผมเอามือจับหาจุดตามแนวกระดูกสันหลังด้วยความเขิน เธอจั๊กจี้หัวเราะไม่หยุด ทุกคนที่นั่งดูต่างหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน เด็กหนุ่มน้องชายของเธอพูดอะไรออกมาทุกคนยิ่งหัวเราะกันครืน ผมทำหน้าตาเลิกลักเพราะฟังไม่รู้เรื่อง
ไม่ว่าเขาจะเป็นโรคอะไรจริงหรือไม่การแทงเข็มเพียงมื้อเดียวด้วยฝีมือของหมอแทงเข็มงู ๆปลา ๆ อย่างผมคงไม่ได้ช่วยอะไรเลย นอกจากให้ความรู้สึกสนุกสนานเป็นกันเองระหว่างคนแปลกหน้าแปลกภาษา ความสัมพันธ์อย่างง่าย ๆ เช่นนี้ของคนนับวันจะยิ่งหายากห่างเหินไปทุกที จะมีหลงเหลืออยู่บ้างในชนบทเช่นนี้หรือในชนเผ่าที่ห่างไกลความเจริญเท่านั้น น่าเสียดายที่มนุษย์เราต้องแลกเอาเสมอระหว่างความเจริญทางวัตถุกับความสัมพันธ์ต่อกันที่แห้งแล้ง
คนพื้นบ้านที่ห่างไกลความเจริญเช่นคนลาวมักทักทายกันด้วยความห่วงใยว่า ซำบายดีบ่ เช่นเดียวกับคนกะเหรี่ยงก็มักทักทายกันว่า อูมือกวา...สบายดีหรือ และคำตอบอมตะนิรันดร์กาลพร้อมรอยยิ้มคือ อูมือกึ๊ หรือสบายดี ทั้ง ๆ ที่อาจจะผ่านงานหนักแทบตายมาหยกๆ ผิดกับคนในเมืองใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางความศิวิไลซ์ ซึ่งแม้จะอยู่รั้วถัดกันก็ไม่เคยเหลียวมองอย่าว่าแต่จะทักทาย
ผมกับเพื่อนจากบ้านปะตี้ทูโด๊ะมาโดยไม่ได้ข่าวคราวอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก เนื่องจากบ้านปะตี้ทูโด๊ะเป็นกะเหรี่ยงที่พูดไทยไม่ค่อยได้ และห่างเหินกับหมู่บ้านไทย ระหว่างทางเดินกลับผมถามเพื่อนว่าตอนที่แทงเข็มให้ลูกสาวปะตี้ทูโด๊ะนั้น น้องชายเขาพูดว่าอะไรคนพวกนั้นถึงหัวเราะกันครืน
เพื่อนผมยิ้มแล้วบอกว่า เด็กนั้นทะลึ่งบอกว่าให้หมอแทงพี่สาวด้วยเข็มเล่มใหญ่
13. รุกในยุทธวิธี
ปลายปี 2522 ผมถูกจัดให้อยู่ในหน่วยหนึ่งจากสองหน่วยที่รับหน้าที่ให้เปิดเขตงานด้านเหนือให้ได้ ทำงานมวลชน (โฆษณาอุดมการณ์กับชาวบ้าน)
เป็นหลักหลีกเลี่ยงการปะทะกับทางการจนกว่าจะถึงเวลาจำเป็น ตามยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง นี่เป็นเพียงการตั้งรับขั้นแรก ตามทฤษฎีว่าเมื่อมีกำลังมากพอก็จะเป็นการรบตามแบบแผนมากขึ้นในขั้นยัน และสุดท้ายจึงจะถึงขั้นรุกเอาชัย
ขณะที่ผู้ใหญ่จะสั่งสอนไม่ให้ใจร้อน แต่เมื่อพวกเรานั่งล้อมวงวิจารณ์กันถึงยุทธศาสตร์การต่อสู้ 15 ปีผ่านมาเป็นการตั้งรับ ยังไม่รู้ว่าจะต้องรับอย่างนี้อีกกี่ปีกว่าจะถึงขึ้นยัน เราคงต้องยันด้วยไม้เท้าเป็นแน่ อย่างไรก็ตามการเข้าไปในพื้นที่ที่ทางการกุมไว้ถือเป็นการรุกทางยุทธวิธี
ครั้งแรกที่ไปถึง เราผูกเปลนอนอยู่ในพุ่มไม้บนเนินริมคลอง บ้านของชาวบ้านอยู่ถัดไป ชานเรือนยื่นลงไปในคลอง เสาบ้านผูกเรือหางยาวไว้ ชาวบ้านคุยกันเราจะได้ยินเสียงงึมงำ เมื่อไปถึงใหม่ ๆ ไม่อยากให้ใครพบเห็นก็อยู่กันเงียบ ๆ
เวลาคุยกันต้องกระซิบเบา ๆ ตลอดเวลา พอตกเย็นหุงข้าวต้องขุดพื้นทรายเป็นเตาทำท่อควันยาว ๆ แล้วเอาใบไม้มาปิดให้ควันขึ้นกระจายไม่เป็นลำให้ชาวบ้านสงสัย กินข้าวเย็นเสร็จผมก็ตามหัวหน้าหน่วยไปนั่งคุยที่บ้านชาวบ้าน อยู่ที่นั่นนานเกือบสองเดือน โดยไม่มีโอกาสรู้เลยว่าหมู่บ้านหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะกลางวันไม่ได้ออกไปไหน นั่ง ๆ นอนๆ อ่านหนังสือและคุยกระซิบกระซาบกันในพุ่มไม้เท่านั้น กลางคืนเดินไปคุยกับชาวบ้าน 2-3 บ้านตามทางแคบ ๆ จนแทบจะจำกิ่งไม้ตามรายทางได้ทุกกิ่ง
เมื่อไม่ได้ผลอะไรคืบหน้าก็กลับเข้าค่ายทำไร่พักหนึ่ง แล้วไปใหม่อีกครั้งกับหัวหน้าหน่วยคนใหม่ คราวนี้โผล่ที่ด้านเหนือของหมู่บ้าน ถือเป็นการสำรวจเริ่มต้นใหม่ ไปพักที่ลาดเขาลิงเสน (ตั้งชื่อเอาเองเพราะไปถึงวันแรกพบลิงเสนฝูงใหญ่)
ตรงข้ามกับท่าน้ำบ้านลุงคง ห้วยไหลคดเคี้ยวไปผ่านหน้าผาใหญ่ ผมและเพื่อนที่ซุกซนอีกคนเดินสำรวจขึ้นไปถึงยอดผานั้น ข้างบนเป็นลานกว้างมีก้อนหินขนาดคนพอยกไหวเต็มไปหมด มีบ่อหินน้ำสีเขียวตะไคร่น้ำขังอยู่หลายบ่อ ในนั้นมีเต่าใหญ่หลายตัว จากหน้าผามองออกไปเป็นทะเลภูเขา เหมือนคลื่นสีน้ำเงินเข้ม ๆ จาง ๆสลับกันไปจนสุดลูกหูลูกตา
เราเริ่มจากบ้านลุงคง เมื่อเข้าไปพูดคุยครั้งแรกแกมีอาการตกใจ ไม่ค่อยพูดจาพอสักพักหนึ่งแกคงรู้สึกวางใจว่าพวกเราไม่ได้เป็นคนอันตราย ผมแวะเวียนไปมาอยู่ 5 บ้านในละแวกนั้น ไม่กล้ารุกไปไกลกว่านั้นเพราะเราหน่วยเล็ก อาจจะควบคุมไม่ได้ถ้าบ้านหลังไกลไม่เป็นมิตรด้วย
ลุงคงเป็นหลักในการช่วยเหลือเราตลอดมา ทั้งซื้อข้าวของให้และบอกข่าวคราวที่เป็นประโยชน์ ผมคิดว่ามีเหตุผล 2 ข้อที่ทำให้ลุงคงทำเช่นนี้ คือ ข้อแรกแกกลัว จึงต้องเดินนโยบายเป็นมิตร ข้อสอง คือ แกใจดี ผมเชื่อในเหตุผลข้อหลังมากกว่า
ชายแก่สำเนียงเหน่อและชอบเคี้ยวกระท่อมคนนี้เรียกพวกเราว่าคุณอา อนุญาตให้พวกเราเดินเข้าออกในบ้านเวลาใดก็ได้ และชอบเก็บพืชผลในไร่ให้พวกเราได้กินเสมอ พวกเราบางคนถึงกับทึกทักเอาว่าแกเป็นพวก “สนับสนุนการปฏิวัติ” แท้จริงแล้ว ลุงคงเป็นคนสมถะและสันโดษ บ้านแกอยู่โดดเดี่ยวและไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ถึงแกจะนิยมพวกเราจริงก็ยากที่จะมีบทบาทเป็นแกนนำหรือแนะชาวบ้านมาเข้าร่วมกับทหารป่า
ผมไปมาหาสู่กับลุงคงอยู่หลายเดือน ความสัมพันธ์ก็อยู่ในระดับเดิม ไม่ขาดไม่หายแต่ก็ไม่คืบหน้าอะไร กลับมีข้อสังเกตว่างานมวลชนที่เราทำไม่ได้มีพื้นฐานทางทฤษฎีสังคมวิทยาเลย แม้จะมีวิธีคิดว่าด้วยงานมวลชนและการปลุกระดมอยู่บ้าง แต่สภาพก็ไม่เอื้ออำนวยนัก จุดสำคัญเราชี้ให้เขาเห็นไม่ได้ว่าเขาควรจะต่อสู้เพื่ออะไร และอย่างไรคือชีวิตที่ดีกว่า ผมอยู่กับชาวบ้านนานจนตัวเองพูดคล่องปรื๋อ ตอบคำถามและโต้ตอบกับชาวบ้านได้หมด แต่มองไม่เห็นว่าอะไรคือกุญแจที่ทำให้เขาคล้อยตาม ทั้งนับวันกุญแจดอกนั้นก็ยิ่งเลือนหายไปจนไม่รู้จะไปหาที่แห่งหนใด
ไม่กี่เดือนต่อมาเมื่อข่าวพวกเราแพร่ออกไป ต.ช.ด. ของทางการก็ขึ้นมาประจำที่หมู่บ้านตอนล่าง และเริ่มลาดตระเวนขึ้นมา ผมก็ต้องผันตัวเองจากผู้ปฏิบัติงานมวลชนมาเป็นนักรบอีกครั้งหนึ่ง พวกเราแบ่งเป็น 3 หน่วย ๆ ละ 5-6 คน ถอยเข้ามาพักในป่าลึกห่างจากบ้านชาวบ้านมาก ตอนเช้าก็ออกเดินไปถึงถนนกลางหมู่บ้าน ลัดเลาะไปตามป่าละเมาะหาดูรอยเท้า ต.ช.ด. และบางครั้งก็ซุ่ม
อยู่ตามแนวถนน เราพบว่า ต.ช.ด.ก็ใช้ยุทธวิธีแบบเดียวกัน คือ แบ่งเป็นหลายหน่วยแล้วซุ่มยิงพวกเรา
2-3 อาทิตย์ผ่านไป ไม่มีการปะทะกันเลยทั้ง ๆ ที่บางครั้งก็เห็นรอยเท้าหมาด ๆ เรากลับเข้าป่าลึกไปนอนหายใจทั่วท้อง 2 คืนกลับออกมาใหม่ วันหนึ่งขณะที่เราซุ่มอยู่ริมทาง เสียงปืนดังขึ้นหลายนัดด้านถนนที่เราเพิ่งเดินผ่านมา อึดใจเดียวเสียงเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินคอกหมู (T28) ก็ขึ้นปฏิบัติการ ทั้งเสียงปืนและระเบิดดังไม่ได้ศัพท์ ระเบิด M26 เริ่มตกใกล้พวกเรา ผมวิ่งตามข้างหน้าไปจับทิศทางอะไรไม่ค่อยได้จนเสียงค่อยลง จึงกลับที่พัก
รุ่งขึ้นอีกหน่วยก็มาหาเราบอกว่าเขาปะทะกับ ต.ช.ด. แต่ไม่มีใครบาดเจ็บ หลายวันต่อมาขณะที่เรานอนพักในป่าลึก ก็ได้ยินเสียงปืนหลายชุด อีกไม่นานนักเสียงเฮลิคอปเตอร์ก็ขึ้นบินเหมือนเดิม เสียงยิงระเบิดดังสนั่นเป็นระยะสลับกับเสียงปืนกล และปืน ค. สนับสนุนจากพื้นดิน ฝ่าย ต.ช.ด.ยิงอยู่ 2 วัน
พอวันที่ 3 อีกหน่วยหนึ่งก็มาหาเราบอกว่าไปปะทะกันที่เชิงเขาใกล้หมู่บ้าน พวกเขาหลบเข้าป่าไปเลย ปล่อยให้ ต.ช.ด.ยิงสุ่มสี่สุ่มห้าให้หนำใจ
มีการยิงเล็ก ๆ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่หน่วยผมไปดักซุ่มที่ริมไร่ใหญ่แล้วกลับที่พักเฉยๆ อีกหน่วยหนึ่งก็เข้าปฏิบัติการ วันนั้นเฮลิคอปเตอร์ของ ต.ช.ด. ลำหนึ่งก็ถูกยิงจนต้องบินหนีไป
วันสุดท้ายที่ผมเรียกตัวเองว่านักรบ เราไปซุ่มอยู่ริมทางใกล้บ้านชาวบ้านภูมิประเทศเป็นที่ซ่อน แต่ไม่เป็นที่กำบัง พุ่มไม้เตี้ย ๆ ทำให้น่าตื่นเต้นเพราะเราจะพลาดไม่ได้ หากสยบอีกฝ่ายไม่ได้ก็หมายถึงต้องแลกกัน นอนรอจนเที่ยงแดดตรงหัวก็คลานเข้าใต้พุ่มไม้และเริ่มเสียแนว ถึงบ่ายท้องร้องเพราะหิวข้าวก็ยังไม่มีอะไรโผล่มา
เพื่อนผมคนหนึ่งกลิ้งตัวเข้ามากระซิบว่า เขาคงอยู่ที่นี่ไม่ได้และตัดสินใจจะกลับบ้านแล้ว ผมงงอยู่พักใหญ่ก่อนจะทวนให้แน่ใจว่า “ออกจากป่าใช่ไหม” เขาพยักหน้า แล้วเราก็คุยกันจนไม่ได้สนใจเลยว่ากำลังอยู่ในแนวซุ่ม 3 วันต่อมาหัวหน้าหน่วยเริ่มระแคะระคายความคิดพวกเราจึงพากันกลับเข้าค่าย
มีการพูดคุยและอภิปรายกันอีก 3 เดือน ทุกอย่างก็อวสาน
****
บันทึกในตอนที่ผ่านมาทั้งหมด:-บันทึกอดีตสหายเดือนตุลา(7):สหายหญิง และนิยายของชมพู