ที่มา มติชน
ทนายนชป.ยุ16แกนนำไม่ต้องมอบตัวหวั่นไม่ได้ประกันตัว
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นายคารม พลทะกลาง ทนายผู้รับมอบอำนาจจากนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวภายหลังศาลอาญายกคำร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหมายจับ นายวีระ มุสิกพงศ์ กับพวกที่เป็นแกนนำและแนวร่วม นปช.รวม 16 คน กระทำผิด พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ว่า ศาลยกคำร้อง เนื่องจากต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่ตนและทนายความได้ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้ นอกจากนี้ฝ่ายเราไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ เพราะเกรงว่าจะถูกตำรวจจับกุม ทำให้พยานหลักฐานและคำเบิกความมีน้ำหนักน้อยลงไปด้วย แต่ไม่เสียใจ เพราะได้พยายามช่วยเหลือแกนนำ นปช.เต็มที่แล้ว
เมื่อถามว่าทางแกนนำนปช.จะเข้ามอบตัวในวันที่ 15 พฤษภาคม นี้แน่นอนหรือไม่ นายคารมกล่าวว่า ยังไม่แน่ว่าแกนนำ นปช.ทั้งหมดจะติดต่อเข้ามอบตัวกับตำรวจตามกำหนดเดิมหรือไม่ แต่ส่วนตัวได้ให้คำแนะนำไปไม่ควรไปมอบตัว เนื่องจากตำรวจจับกุมตามอำนาจพ.ร.บ. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งคาดว่าจะไม่ได้ประกันตัว และถูกนำตัวควบคุมยังสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ
ศาลอาญายกคำร้อง6แกนนำเสื้อแดง ค้านออกหมายจับฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 11 พฤษภาคม ที่ห้องพิจารณาคดี 701 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องคดีที่นายคารม พลทะกลาง ทนายผู้รับมอบอำนาจจากนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหมายจับ นายวีระ มุสิกพงศ์ กับพวกที่เป็นแกนนำและแนวร่วม นปช.รวม 16 คน กระทำผิด พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
โดยศาลได้ไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องจำนวน 4 ปาก คือนายคารม พลทะกลาง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้อง และนายสุวิทย์ ทองนวล ผู้ช่วยนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และนายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความพยานผู้ร้องแล้ว เห็นว่า ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยลงมาว่า พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นถือว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ยังคงมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป ส่วนกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าสถานการณ์การชุมนุมยังไม่ร้ายแรง ที่จะทำให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เหตุการณ์ปรากฎหลักฐานชัดว่ามีผู้ชุมนุม นปช.จำนวนมากบุกรุกเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงมีเหตุผลที่รัฐบาลสามารถประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ขณะเดียวกันฝ่ายผู้ร้องไม่ได้นำตัวจำเลยมาเบิกความและชี้ให้เห็นว่าได้รับผลกระทบจากพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไร ดั้งนั้นการออกหมายจับแกนนำ นปช.ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เห็นควรให้เพิกถอนหมายจับดังกล่าว จึงมีคำสั่งยกคำร้อง