ที่มา ประชาไท 9 พ.ค. 53 - เครือข่ายสันติประชาธรรมออกแถลงการณ์ ให้รัฐยุติประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยุติการปิดกั้นข่าวสาร และให้ นปช.ยุติการชุมนุมและแกนนำมอบตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้ แถลงการณ์ของเครือข่ายสันติประชาธรรม ยุติประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยุติการปิดกั้นข่าวสาร ยุติการชุมนุมและแกนนำมอบตัว การที่รัฐบาลและนปช.มีท่าทีรอมชอมในการกำหนดวันยุบสภา และเจรจาถึงกระบวนการที่จะนำสังคมกลับสู่การดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่น่ายินดียิ่ง อย่างไรก็ดี แผนการปรองดองที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีประกาศนั้น ยังไม่ได้ให้หลักประกันต่อสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมนปช.ก็ยังไม่แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าจะยุติการชุมนุมเมื่อใด จึงยังมีการเผชิญหน้าที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง เพื่อให้สังคมไทยกลับมาสู่สภาวะปกติ เพื่อเป็นหลักประกันต่อสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย และเพื่อลดเงื่อนไขที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อระบอบประชาธิปไตยจะใช้ความรุนแรง เครือข่ายสันติประชาธรรมขอแสดงท่าทีทางการเมืองในขณะนี้ดังนี้ 1. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลทันที ขณะนี้ปรากฏชัดเจนว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในระยะหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ไม่เพียงให้อำนาจแก่รัฐบาลในการจำกัดเสรีภาพของประชาชน แต่ยังเป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้รัฐใช้ความรุนแรงอย่างปราศจากการไตร่ตรอง จนก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่จำนวนมากในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน ในขณะที่รัฐบาลเรียกร้องให้ นปช. ยุติการชุมนุมและเคารพต่อกฎหมายของประเทศ การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะเป็นหลักประกันพื้นฐานว่ารัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามหลักนิติรัฐของสังคมประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน และจะไม่ใช้อำนาจเผด็จการเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตนในภายหลัง 2. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการปิดกั้นข่าวสารทันที กระบวนการปรองดองทางการเมืองย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้การลิดรอนเสรีภาพในการสื่อสารอย่างรุนแรงในขณะนี้ การสื่อสารทางเดียวโดยรัฐได้ปิดกั้นมุมมองที่แตกต่างทำลายการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริงเพื่อโต้แย้งกัน ฉะนั้น เพื่อให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริงบนเส้นทางของประชาธิปไตย ประชาชนทุกฝ่ายต้องมีโอกาสได้เรียนรู้ข่าวสารและทัศนะที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่รับข่าวสารจากการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐด้านเดียว สื่อในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณดาวเทียม เว็บไซต์ สื่ออินเทอร์เน็ต วิทยุชุมชน หรือสื่ออื่นใดก็ตาม จะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิในการสื่อสารตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน หากสื่อใดหรือผู้ใดใช้สื่อในการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมปกติได้ 3. หลังรัฐบาลประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน กลุ่มนปช. จะต้องยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด และแกนนำต้องมอบตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะนี้เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะให้มีการยุบสภาภายในระยะเวลาประมาณ 5 เดือนนับจากนี้ไป ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายได้พยายามประนีประนอมเพื่อยุติความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายต้องแสดงท่าทีที่จริงใจต่อการเดินหน้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด หากทอดระยะเวลาเนิ่นนานไป ก็จะยิ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่หวังดีต่อการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการประชาธิปไตยใช้ความรุนแรง หากรัฐบาลและนปช.แถลงร่วมกันว่าวันยุบสภาจะเป็นเมื่อใด และหากรัฐบาลและนปช.ระบุวันร่วมกันว่ารัฐบาลจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันทีที่นปช.ยุติการชุมนุมในวันใดพร้อมๆกับการมอบตัวเพื่อต่อสู้คดีของแกนนำการชุมนุมในวันใด ทั้งสองฝ่ายและสังคมโดยรวมก็จะคลายความคลางแคลงใจ หนทางเดียวที่จะทำให้ผู้ไม่หวังดีต่อกระบวนการประชาธิปไตยยุติการใช้ความรุนแรงได้ คือการลดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลและนปช. และคืนภาวะปกติสุขแก่สังคมโดยเร็ว เครือข่ายสันติประชาธรรม 9 พฤษภาคม 2553