ที่มา ประชาไท ก่อนอื่น ฝากใครก็ได้ไปบอกม็อบเสื้อแดงให้เลิกเหอะ อยู่ไปก็มีแต่จะถูกโจมตีว่ายึกยักยึกยื้อเสียการเมืองเปล่าๆ ผมเข้าใจดีว่าแกนนำคงไม่พอใจที่มีการตั้งข้อหาผู้ก่อการร้าย แบบป้ายสีเหวี่ยงแห ขณะที่ไม่มีการสอบสวนความผิดหรือความบกพร่องอย่างร้ายแรงของผู้สั่งการ “ขอพื้นที่คืน” เมื่อวันที่ 10 เมษายน จนทำให้เกิดเหตุนองเลือด (ซึ่งก็คืออภิสิทธิ์นั่นแหละ ที่ต้องรับผิดชอบเป็นรายแรก) แต่เมื่อม็อบเรียกร้อง “ยุบสภา” และแกนนำไปขานรับข้อเสนอ “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่วันที่ 14 พฤศจิกายนของอภิสิทธิ์แล้ว ก็เท่ากับเงื่อนไขการชุมนุมจบแล้วครับ คุณจะมาตั้งแง่เรื่องโรดแมพปรองดอง 5 ข้อ แล้วต้องเขียนโรดแมพของคุณทำไม ก็เพราะเสื้อแดงไม่เห็นจำเป็นต้องไปยอมรับโรดแมพ 5 ข้อของอภิสิทธิ์ ไม่รับอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องถกเถียงเรื่องนี้ ส่วนที่สลายการชุมนุมแล้ว จะถูกดำเนินคดีก็ให้มันดำเนินไป จะได้เห็นกันชัดๆ ว่าสองมาตรฐาน ยึดทำเนียบยึดสนามบิน ไม่เป็นกบฎ ไม่เป็นผู้ก่อการร้ายแต่ยึดราชประสงค์ แถมยังถูก “ขอพื้นที่คืน” จนมวลชนบาดเจ็บล้มตาย 800 กว่าคนกลับกลายเป็น “ผู้ก่อการร้าย” บ้าไหม เรื่องพวกนี้ต้องมาสู้กันหลังยุติการชุมนุมแล้ว รวมทั้งเรื่องความรับผิดกรณี 10 เมษา เพราะต้องเข้าใจว่าอารมณ์สังคมยังหมกมุ่นกับความกดดันเรื่องม็อบเฉพาะหน้า เมื่อสลายความกดดันไปแล้ว จึงจะสามารถกลับมารื้อฟื้นใหม่และเป็นฝ่ายไล่จี้เรียกร้องความรับผิดชอบอย่างชอบธรรม ผมรู้ว่ามวลชนส่วนหนึ่งก็ไม่ยอม ทำใจไม่ได้ เพราะตั้งเป็าหมายไว้สูงกว่าการยุบสภาเยอะแต่ก็ต้องชี้แจงกันให้เข้าใจ ว่านั่นมันต้องต่อสู้ระยะยาว เสื้อแดงต้องมองด้วยว่าหลังจากอภิสิทธิ์เสนอโรดแมพ แล้วแกนนำเสื้อแดงขานรับ กระแสการเมืองมันพลิกนะครับ กลับไปเป็นฝ่ายพันธมิตรและเสื้อหลากสีที่เสียหายแทน เพราะแสดงความบ้าคลั่งเช่นยังเรียกร้องให้แม่ทัพภาคที่ 1 ประกาศกฎอัยการศึก ผู้คนเขาก่นด่ากันพึม แต่พอเสื้อแดงยึกยัก กระแสก็จะตลบกลับมาหงุดหงิดเสื้อแดง เออ พันธมิตรกับประชาธิปัตย์เขาจะกัดกัน แล้วคุณยังไปดึงสถานการณ์ให้กลับมาเข้าเนื้อตัวเอง โรดแมพ:ขี่กระแสรักสงบ มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า หลังสถานการณ์ครั้งนี้คงต้องประเมินอภิสิทธิ์ใหม่ หรือไม่อย่างนั้นก็ผู้ที่อยู่เหนือกว่าและคอยเป็นกุนซือให้อภิสิทธิ์ (ไม่ใช่ผู้ใหญ่ แต่เป็นกำนัน-ฮา) เพราะอภิสิทธิ์แสดงให้เห็นว่ามีความ “เหี้ยมหาญ” (ยืมศัพท์กำลังภายใน) อยู่ไม่น้อย อภิสิทธิ์พูดตั้งแต่ตั้งโต๊ะเจรจาว่า 9 เดือนยุบสภาต่อรองได้ เป็นที่รู้กันเหมือนประกาศขายรถบ้าน ผู้หญิงขับมือเดียว (อีกมือทาลิป) ต่อรองได้ รู้กันอยู่ว่าอภิสิทธิ์ต้องการให้ต่อรองเหลือ 6 เดือน แต่ถ้าพูดตอนนั้นก็ไม่มีความหมาย อภิสิทธิ์รอจนกระทั่ง “นวด” ม็อบเสื้อแดงให้ต้องยอม พร้อมทั้ง “นวด” สังคม (รวมทั้งคนในพรรค ปชป.เอง) ให้ต้องยอม โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์นองเลือด 10 เมษา อภิสิทธิ์รู้แล้วว่าปราบม็อบไม่ได้ จึงหันมาใช้การคุกคามแบบปฏิบัติการจิตวิทยา (ปล่อยข่าวทุกวันว่าจะสลายตอนตีสอง) ใช้การสร้างกระแสร่วมกับสื่อ “นวด” จนม็อบไม่มีทางไป ไม่สามารถพลิกกระแสได้ ไปต่อก็ไม่ได้ ลงก็ไม่ได้ ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ภาพที่ดูเหมือนกับว่า อภิสิทธิ์ไม่กล้าตัดสินใจ ร้ายไหมล่ะ? หรือไม่ก็ผู้ที่เป็นกุนซือให้นั่นแหละเจ๋ง คร่ำหวอด เข้าใจเกมการเมืองและการเล่นกับอารมณ์สังคม หันมาดูโรดแมพปรองดอง ผมไม่เชื่อว่าอภิสิทธิ์จะคิดคนเดียวโดยไม่ได้ไฟเขียวจาก “กำนัน” ซึ่งก็น่าจะคืออำมาตยาสายพิราบ ผู้วางหมากชาญฉลาดกว่าสายเหยี่ยว ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของไทยให้ดี เราจะพบว่าสายเหยี่ยวจะออกมาใช้ความรุนแรงปราบปรามพลังประชาธิปไตยหรือพลังฝ่ายก้าวหน้าก่อน แล้วก็จะมีสายพิราบเข้ามาคลี่คลายสร้างความปรองดอง ลูบหลัง ทำให้อารมณ์โกรธแค้นการตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง ยุติลง (แล้วสังคมก็ไปไม่ถึงไหนสักที) มันอาจไม่ใช่ความจงใจ หรือจงใจ แต่ก็เป็นวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ครอบงำอยู่ทั้งสังคม ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมดูโรดแมพแล้วกระสาว่า ฝ่ายอำมาตย์อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งที่ร่วมคิดกับอภิสิทธิ์ กำลังจะเปลี่ยนขั้นตอนทางยุทธศาสตร์ นั่นคือลดการใช้อำนาจ ลดแรงกดที่จะทำให้เกิดแรงต้าน แต่ยังกุมอำนาจไว้คุมเชิง ปล่อยให้การเมืองเดินไปในสภาพที่ดูเหมือนปกติ และคืนความเป็นธรรมให้บางส่วน เช่นอาจจะนำไปสู่การนิรโทษกรรม 111 คน 109 คน ถามว่าทำไมต้องลดการใช้อำนาจ ก็ใช้ไปหมดแล้วนี่ครับ ทักษิณติดคุกแล้ว ทักษิณถูกยึดทรัพย์แล้ว มันไม่เหลืออะไรที่จะกระตุ้นความโกรธแค้นว่า “สองมาตรฐาน” ของมวลชนอีก ยุบพรรคก็หมดความหมายแล้ว ไม่ว่าจะเลิก ม.237 หรือไม่ก็ตาม ไม่มีใครโง่เป็นกรรมการบริหารพรรคไปลงเลือกตั้ง ส.ส.เขต ฉะนั้นในทางกำลังอาวุธ ยุบสภาเดือนกันยายน รับประกันล้านเปอร์เซ็นต์ไว้ล่วงหน้าว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็น ผบ.ทบ. อยู่ยงคงกระพันอีกหลายปี ทหารก็ลดแอคชั่นทางการเมืองลงได้ แต่ยังคุมเชิงอยู่ ยังมี พ.ร.บ.ความมั่นคงอยู่ ยังมี กอ.รมน.ที่มีอำนาจเสมือนรัฐบาลเงาครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีงบประมาณไม่อั้น ในทางตุลาการภิวัตน์ คดีสำคัญไม่เหลืออีกแล้ว หรือเหลือก็ไม่ได้มีสาระสำคัญทางการเมือง อาจมีแค่คดีเดียวคือยุบพรรค ปชป. แต่อย่าลืมว่าต่อให้ยุบพรรคก็ไม่จำเป็นต้องตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค เพราะไม่ใช่ ม.237 ฉะนั้นจึงมีทางเลือกสองทางคือ ไม่ยุบ แล้วทำให้เสื้อแดงโกรธแค้นลุกฮือขึ้นมาอีก หรือยุบ ยอมสละพระแม่ธรณีบีบมวยผม แต่อภิสิทธิ์ยังอยู่ ส.ส.ยังอยู่ ในภาพรวม ตุลาการภิวัตน์ก็สามารถลดบทบาทลง แต่ยังคุมเชิงอยู่ อย่าหวังว่าจะมีการรื้อระบบสรรหาองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. ชุดนี้ก็ยังจะเสวยอำนาจไปจนครบ 9 ปี โอเค อาจจะมีการแก้รัฐธรรมนูญบางส่วน แต่ไม่แตะอำนาจหลักๆ ที่เป็นเสาค้ำ (เรื่องการตรวจสอบศาลยิ่งไม่ต้องหวัง) ปมเงื่อนสำคัญคือ ทำอย่างไรให้อภิสิทธิ์กลับมาเป็นนายกฯอีก ซึ่งไม่แน่เหมือนกันนา ใครที่เชื่อว่าเพื่อไทยชนะ อย่าเชื่อให้มากนัก ถ้าชนะแล้วไม่ถึงครึ่ง คุณจะตั้งรัฐบาลได้อย่างไรปชป.ก็ยังร่วมกับพรรคเดิมๆ เป็นรัฐบาลได้ต่อไป เพราะในการเลือกตั้งจะต่อสู้กันดุเดือดแน่นอน ทั้งการใช้ใบเหลืองใบแดง ใช้อำนาจรัฐ อำนาจมืด หรือว่าอำนาจเงิน (ใครว่ามีแต่พรรคเพื่อไทยใช้เงินทักษิณ กลุ่มทุนอีกฝ่ายรวมกันมีเงินมากกว่าทักษิณหลายเท่า เห็นมาแล้วตอนปี 50 บางเขตหัวคะแนนพลังประชาชนโดนบล็อกจนออกจากบ้านไม่ได้ ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ ดูฝ่ายตรงข้ามยิงอุตลุด) ถ้าอภิสิทธิ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง จบเห่เลยนะครับ เพราะเสื้อแดงจะไล่ให้ยุบสภาลาออกไม่ได้ อย่างเก่งก็เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ แล้วถ้าอภิสิทธิ์เดินโรดแมพปรองดองต่อแก้ไขบางอย่าง แต่ที่สำคัญไม่แก้ ไม่ทำอะไรสองมาตรฐานที่จะเป็นการยั่วยุให้มวลชนเสื้อแดงโกรธ (ก็ทำไปหมดแล้ว ไม่มีเหลือแล้ว) อภิสิทธิ์ก็จะขี่กระแส “ไทยนี้รักสงบ” คนส่วนใหญ่ พลังเงียบ นักธุรกิจ อยากให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ แม้จะซุกปัญหาไว้ใต้พรม แม้จะไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ช่างหัวมันเถอะ มันจะไประเบิดอีกทีก็ตอนอภิสิทธิ์หมดก๊อก ปชป.ทำพังเองแบบทุกครั้งที่ผ่านมานั่นแหละแต่ต้องรอนานพอดูเหมือนกัน ผมนึกเปรียบเทียบหลัง 6 ตุลา “สูตร” ก็คล้ายๆ อย่างนี้ คือมีการเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนอย่างเหี้ยมโหดแล้วรัฐบาลหอยขึ้นมามีอำนาจ ขวาจัดสุดโต่งประกาศจะอยู่ 12 ปี กวาดล้างพลังประชาธิปไตยลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่ไปสักพักก็ถูกยังเติร์กรัฐประหาร ชูเกรียงศักดิ์ขึ้นมา แล้วก็เปลี่ยนเป็นเปรม มาสร้างความ “ปรองดอง” นิรโทษกรรม 66/23 ประชาธิปไตยครึ่งใบ แบ่งอำนาจให้กลุ่มธุรกิจและคนชั้นกลางได้มีสิทธิมีเสียงบ้าง ถามว่าเกิดความยุติธรรมไหม 6 ตุลาถูกลบลืมไป ใครฆ่านักศึกษาประชาชนยังไม่รู้เลย ถามว่าประชาธิปไตยก้าวหน้าไหม จากปี 17 เต็มใบเหลือครึ่งใบ แต่ก็เหมือนจาก 100 ถูกยึดไปหมดในรัฐบาลหอย เขาให้คืนมา 50 ก็ยังดี ผมยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คนที่ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมเนี่ยมักจะลงเอยด้วยการเป็นผู้ร้าย หรือไม่ก็มีชนักปักหลัง ไม่ได้เป็นพระเอก คนที่เป็นพระเอกมักจะเป็นคนที่ประนีประนอม ไกล่เกลี่ย เช่น 14 ตุลาตอนแรกขบวนการนักศึกษาเป็นพระเอก ต่อมาก็เป็นผู้ร้าย พฤษภา จำลองเป็นไง ถูกหาว่าพาคนไปตาย พระเอกกลับกลายเป็นอานันท์ นายกฯ ที่ไม่ใช่แค่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐประหารตั้งเลยละ ยังเป็นพระเอกได้ ในต่างประเทศไม่เหมือนกันนะครับ เช่นเกาหลี นักศึกษาประชาชนที่สู้เผด็จการปักจุงฮี ชุนดูฮวาน เขาเป็นพระเอกตลอดกาล ผมดูหนัง The Classic (ตกงานมีเวลาดูหนังเกาหลี ฮิฮิ) ยังมีฉากพ่อแม่นางเอกไปประท้วงโดนแก๊สน้ำตาทั้งที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องเลยซักนิด อันนี้ก็ฝากเตือนพวกพันธมิตรไว้ด้วยแล้วกัน คือผมไม่คิดว่าพันธมิตรเป็นพระเอก แต่ที่ผ่านมาคุณเป็นขวัญใจคนชั้นกลาง ระวังมันจะพลิก เงื่อนไขที่แตกต่าง ทำไมชนชั้นปกครองอำมาตยาต้องคิดปรองดอง ก็เพราะเขาเห็นแล้วว่าถ้าปล่อยให้เสื้อแดงเติบโตขยายตัว จะเขย่าอำนาจนอกระบบที่ชี้นำสังคมตลอดมา วิธีการที่ไม่ทำให้ขยายตัวถ้าคิดแบบเหยี่ยวคือปราบ ถ้าคิดแบบพิราบคือลดแรงกดดันที่จะทำให้เกิดแรงต้าน เปรียบเหมือนคุณชนะศึกแล้ว 80% ในขณะที่ใครๆ คิดว่าคุณจะรุกต่อเพื่อให้ชนะ 100% คุณกลับลดลงมาเหลือชนะแค่ 70% ก็พอ คุณยังครองอำนาจได้ และปิดฉากชัยชนะได้อย่างนุ่มนวล ไม่ต้องเสี่ยงกับแรงฮึดต้านของฝ่ายตรงข้าม สมมติเช่นถ้านิรโทษกรรม 111 คน 109 คน ปลดล็อกเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่จำเป็นแล้วทำให้เสื้อแดงไม่มีเงื่อนไขจะเคลื่อนไหว ก็สามารถขี่กระแส “ไทยนี้รักสงบ” ครองอำนาจต่อไปได้ โดยสมการนี้จะตัดหรือลดบทบาทคน 3-4 กลุ่มออกไป คือทักษิณ กับแกนนำเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ ซึ่งเชื่อว่าจะเจอคดีท่วมหัวจนไม่มีเวลาเอาตัวไปทำอะไรอื่น นอกจากนี้ยังอาจจะมีการ “จัดการ” กับแกนนำในพื้นที่ ซึ่งคงต้องระวังเพราะอาจมีทั้งวิธีมืดวิธีสว่าง แล้วอย่าคิดชั้นเดียวนะครับ บางทีอาจมี 2 ชั้น เช่นตัดสินโทษกันแล้วรัฐบาลอาจเป็นฝ่ายยื่นขอพระราชทานอภัยโทษให้ด้วยซ้ำ เจอแบบนี้คุณยิ่งพูดไม่ออก เคลื่อนไหวอะไรไม่ได้ต้องยุติบทบาทไปเลย กลุ่มถัดมาก็คือนักประชาธิปไตย ฝ่ายสองไม่เอาทั้งหลาย ซึ่งคงไม่ต้องทำอะไรมากหรอก ก็เหลือพื้นที่แค่ให้บ่นกันอยู่ในเว็บประชาไท (ที่ ศอฉ.ไม่ยอมปรองดองด้วย) เพราะถ้าสามารถสร้างอารมณ์สังคมให้ปรองดอง สังคมไทยก็ไม่เคยคิดเรื่องประชาธิปไตยอยู่แล้ว กลุ่มสุดท้ายคือ พันธมิตร บอกแล้วว่าอย่าคิดว่าจะเป็นพระเอกตลอดไป เพราะถ้าอภิสิทธิ์สร้างความปรองดองได้ พระเอกหล่อตัวจริงของคนชั้นกลางจะขโมยซีน แล้วทำให้พวกคุณหมดบทบาท ค่อยๆ แห้งตายอยู่ในพรรคการเมืองใหม่ พันธมิตรก็ไม่ต่างจากเสื้อแดง ถ้าปล่อยให้กระแสประชาชนเติบโตทั้งสองข้าง เป็นปฏิภาคต่อกัน ผลักกันและกัน เหมือนขั้วบวกขั้วลบสร้างประจุไฟฟ้า ก็เป็นอันตรายต่ออำนาจนอกระบบ ที่เขาอยากให้อยู่สงบๆ ดีกว่า ฉะนั้นถ้าปรองดองกันได้ พันธมิตรก็หมดบทบาท พันธมิตรถึงออกมาเต้นแร้งเต้นกา “ไม่ปรองดอง” อยู่นี่ไง กลายเป็นว่าเสื้อแดงกับพันธมิตรมีจุดยืนเหมือนกันอย่างปลาส คือต่างฝ่ายต่างก็ “ไม่ปรองดอง” งานนี้พันธมิตรจะลำบากกว่าเสื้อแดงด้วยนะครับ เพราะแม้แกนนำหรือมวลชนส่วนหนึ่งที่คิดฝันถึง “การเมืองใหม่ใสสะอาด” ยังอยู่ แต่มวลชนรวมทั้งผู้สนับสนุนเช่นสื่อ นักวิชาการ ส่วนหนึ่งก็จะแยกตัวออกไป “ปรองดอง” เราจะเริ่มเห็นการแยกขั้วที่ชัดเจนระหว่างพธม.การเมืองใหม่ กับอีแอบ พธม. แต่ที่แท้ ปชป. (ดูตัวอย่างม็อบเสื้อหลากสี คนหายไปเกินครึ่ง) ผมอาจจะวิเคราะห์ได้ไม่ถูกทั้งหมด แต่ผมเชื่อว่าทิศทางหลักของอภิสิทธิ์ ที่เป็นตัวแทนอำมาตยา ถึงอย่างไรก็ต้องไปในทางนี้คือ ขี่กระแสรักสงบของคนส่วนใหญ่ ยึดคำขวัญของพรรคภูมิใจห้อย “ปกป้องสถาบัน สงบ สันติ สามัคคี” มาโดดเดี่ยวทักษิณ โดดเดี่ยวเสื้อแดงที่คิดจะแก้ปัญหาโครงสร้างสังคม โดดเดี่ยวเสื้อเหลือง-ที่คิดจะแก้ปัญหาโครงสร้างสังคมเหมือนกัน (แต่แก้แบบ 70-30) รวมทั้งโดดเดี่ยวนักประชาธิปไตย เพียงแต่ปัญหาก็คือ ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่เหมือนสมัย 6 ตุลา 14 ตุลา พฤษภา หรือก่อนๆ หน้านั้น เพราะมันยืดเยื้อยาวนานกว่า และมีมวลชนเข้าร่วมขบวนที่ “ไม่ปรองดอง” ทั้งสองข้างจำนวนมาก-มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทุกครั้งรวมกันยังเทียบไม่ได้ มวลชนเหล่านี้จะยอมหรือไม่ หลังจากปลุกกันมา 193 วันว่าต้องการ “การเมืองใหม่” แต่ได้มาร์คกับยี้ห้อย “เพื่อความสงบ” หลังจากสู้สงกรานต์เลือดมา 2 ครั้ง บาดเจ็บล้มตายเป็นเบือเพื่อ “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” แต่จะไม่ได้อะไรเลยนอกจากการปรองดองแบบซุกปัญหาไว้ใต้พรม ก็ต้องวัดใจกันละครับ ส่วนตัวผมทำใจไว้แล้วว่าการต่อสู้ทุกครั้งในโลกนี้ไม่เคยมีหรอกที่คุณจะได้ความยุติธรรมคืนมาเต็มร้อย ได้ประชาธิปไตยตามที่หวังไว้เต็มร้อย แต่อย่างน้อยเราก็ควรได้คุณภาพใหม่ ฉะนั้นต้อง “ไม่ปรองดอง” แต่ต้องยกระดับการต่อสู้สู่คุณภาพใหม่เช่นกันคือต่อสู้โดยไม่สุดขั้วและไม่รุนแรงเสียเลือดเนื้อ ใบตองแห้ง 9 พ.ค.53 .................................