ที่มา บางกอกทูเดย์
การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีข้ออ้างที่ชัดเจนประการหนึ่งว่า...เขายอมรับไม่ได้กับรัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหาร มิได้มาตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
จึงเรียกร้องให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี “ยุบสภา” คืนอำนาจให้กับประชาชน ข้ออ้างและข้อเรียกร้องนี้ประชาชนในประเทศจะเห็นด้วยหรือเห็น
ต่าง ก็เป็นความแตกต่างทางความคิดเห็นที่ต้องยอมรับว่ามันดำรงอยู่ และก็เป็นสิทธิของกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับนปช. ที่จะออกมาชุมนุมแสดงจุดยืนของพวกเขาเช่นเดียวกัน เพราะสิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุมเป็นสิทธิของพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ คนไทยต้องเลิกเสียที “.. ถ้าพวกเรา หรือคิดเหมือนเรามาชุมนุมประท้วง ก็ทำได้ และทำอะไรก็ไม่ผิด ถ้าพวกเขาหรือคิดไม่เหมือนเรามาชุมนุมบ้าง ทำไม่ได้ และทำอะไรก็ผิดไป
หมด” การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพและเป็นสิทธิทางการเมืองที่ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายสามารถกระทำได้ ส่วนประชาชนจะเห็นด้วยกับเหตุผล ข้ออ้าง ข้อเรียกร้องในการชุมนุมแต่ละครั้ง แต่ละหนหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของประชาชนอย่างพวกเราที่จะวิเคราะห์ พิจารณา ถ้าเห็นด้วยก็สามารถเข้าร่วมหรือสนับสนุนการชุมนุม ถ้าต้องการหรือถ้าไม่เห็นด้วยก็ปฏิเสธการชุมนุม หรือจะชุมนุมประท้วงผู้ชุมนุมอย่างที่ทำอยู่ก็ทำได้ เพราะเป็นสิทธิทางการเมืองของ
ประชาชนไทยปัญหาการชุมนุมนี้ รัฐบาลจะแก้อย่างไร ก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องแก้ ต้องพิจารณาและตัดสินใจ การเสนอแนวทางปรองดองของท่านนายกรัฐมนตรี กำหนดวันเลือกตั้ง 14 พ.ย. ถือเป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองของรัฐบาลแต่ต้องแยกให้ออกว่า...การชุมนุมใดๆ ก็ตามที่เป็นการละเมิดและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หากข้อเท็จจริงชัดเจนว่าเป็นเช่นนั้น การกระทำนั้นย่อมเป็นความผิดตามกฎหมาย และผู้กระทำผิดจะต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม การ
แก้ไขปัญหาทางการเมืองของรัฐบาล ไม่สามารถมาลบล้างการกระทำความผิด หรือมาเปลี่ยนผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิดได้ เพราะความถูกผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหากฎหมาย เราไม่อาจเปลี่ยนถูกผิดตามกฎหมายได้ด้วยความประสงค์หรือนโยบายของรัฐบาลบางคนอาจคิดว่าแล้วเช่นนี้จะปรองดองได้อย่างไร .. หากสังคมคนส่วนใหญ่เห็นว่า...การให้อภัยจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยทำให้สังคมไทยเดินออกจากวิกฤตได้ ก็ต้องใช้วิถีทางกฎหมายในการแก้ปัญหานี้ การออก
กฎหมาย “นิรโทษกรรม” ลบล้างการกระทำความผิดให้กับผู้กระทำความผิดมาแล้ว เป็นเรื่องที่สามารถทำได้และเคยทำมาแล้วทั้งในนานาอารยประเทศและในประเทศไทย อยากให้สังคมไทยเกิดความชัดเจนว่า...ในทางกฎหมายเราสามารถทำได้ ขนาดฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ล้มล้างกฎหมายสูงสุด ยังนิรโทษกรรมได้เลย แต่ขอย้ำว่า...สมควรทำหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งประชาชนอย่างพวกเราก็สามารถเห็นแตกต่างกันได้ครับ!
รศ. ดร. กำชัย จงจักรพันธ์