ที่มา ประชาไท
อภิสิทธิ์ลั่นจะปรองดองต้องเลิกชุมนุม ห้ามต่อรอง พรุ่งนี้ให้ตอบ 'รับ' หรือ 'ไม่รับ' ลั่นถ้าไม่รับจะมีมาตรการ "ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะผู้ชุมนุม แต่รวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่และที่ทำงาน" ลั่นรัฐชอบธรรมที่จะทำให้เกิดความมั่นคง-ปกติ บอกผู้ชุมนุมพรุ่งนี้กลับบ้านก่อน เรื่องอื่นพูดกันทีหลัง
ที่มา: ศูนย์สื่อทำ้นียบรัฐบาล
มาร์คลั่นห้ามต่อรองแผนปรองดอง จะคืนทีวีต่อเมื่อมีกลไกที่ชัดเจน
วันนี้ (11 พ.ค.) เวลา 20.10 น. ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เเกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุไม่ยอมสลายการชุมนุมจนกว่านายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือก สุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะมอบตัวในฐานะผู้ต้องหาว่า ขอเรียนย้ำว่าตั้งแต่ที่ตนประกาศแผนปรองดอง 5 ข้อ มานั้น ได้พูดตั้งแต่ต้นว่าไม่มีเรื่องเจรจาต่อรองใดๆ หลาย เรื่องที่ผู้ชุมนุมพูดมานั้นมันเป็นเรื่องที่มีคำตอบอยู่ในแผนอยู่แล้ว เช่น การเรียกร้องให้คืนสัญญาณพีเพิลชาแนลนั้น ตนบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าในแผนนั้นชัดเจนแล้วว่าต้องมีกลไกเข้ามาดูแลก่อนว่าเรื่องการใช้สื่อในลักษณะที่กระทบกับความปรองดองและสร้างความเกลียดชังปลุกระดมนั้น ต้องมีกลไกที่ชัดก่อนจึงจะดำเนินการให้ฝ่ายต่างๆ ดำเนินการต่อไปได้ เป็นต้น
ลั่นเรียกร้องให้สุเทพไปมอบตัวไม่ได้ เพราะไม่มีหมายเรียกหมายจับ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพราะฉะนั้นเรื่องที่แกนนำ นปช.พูดเรื่องเงื่อนไขที่ตนและนายสุเทพต้องไปมอบตัวนั้น มันไม่ใช่เรื่อง เพราะตนบอกแล้วว่าในเหตุการณ์ต่างๆ นั้นจะมีคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนเหตุการณ์ แต่เช้าวันนี้ กรณีที่นายสุเทพเดินทางไปกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น นายสุเทพไม่ได้ไปมอบตัว แต่นายสุเทพต้องการไปแสดงเจตนาว่ารัฐบาลพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่วันนี้แกนนำ นปช.จะมาเรียกร้องให้นายสุเทพ ไปมอบตัวนั้นมันมอบตัวไม่ได้ เพราะไม่มีหมายเรียกและหมายจับใดๆ
จะปรองดองต้องเลิกชุมนุม จี้ให้ตอบรับหรือไม่รับ
เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ตนคิดว่ามันไม่ใช่ประเด็นแต่ ประเด็นคือหากผู้ชุมนุมอยากจะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง แต่จะบอกว่าตอบรับและเข้าสู่กระบวนการเงื่อนไขวันเลือกตั้ง 14 พฤศจิกายน เท่านั้นไม่ได้ เพราะต้องยกเลิกการชุมนุม หากนำประเด็นเล็กประเด็นน้อยขึ้นมามันก็ไม่เลิกชุมนุม เพราะรัฐบาลไม่มีการต่อรอง รับก็รับ ไม่รับก็ไม่รับ และ ขอให้ตอบด้วยว่ารับหรือไม่รับ เวลานี้ประชาชนเดือดร้อนมากพอ แล้วความอดทนของประชาชนกลุ่มอื่นๆ ก็ลดลงมาก ความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกพื้นที่ชุมนุมนั้นก็มีมากทุกวัน ไม่มีประโยชน์อะไรกับใครเลยที่จะมายื้อเวลาในลักษณะแบบนี้ ซึ่งตนคิดว่าหากไม่ตอบรับก็บอกมาเลยว่าไม่ตอบรับ
ถ้าไม่ตอบรับ จะมีมาตรการซึ่งอาจกระทบประชาชนในพื้นที่บ้างไม่เฉพาะผู้ชุมนุม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแกนนำ นปช. ใช้วิธีการที่ว่าตอบรับแต่ยื้อเวลา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไม่มีแล้ว ตนถือว่าการไม่ยุติการชุมนุมถือว่าไม่ตอบรับ และวันนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็รับทราบสถานการณ์และทราบความจำเป็นของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องดำเนินมาตรการต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะผู้ชุมนุม แต่ รวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่และที่ทำงาน จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากประชาชนว่าอาจต้องได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และจำเป็นที่ต้องเตือนทุกฝ่ายว่า สิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำเพื่อคืนความเป็นปกติให้สังคมนั้นต้องทำอย่างเร่งด่วน
พรุ่งนี้ให้กลับบ้าน ถ้ายังไม่ยุติ รัฐมีความชอบธรรมที่จะทำให้เกิดความปกติ
“เพราะฉะนั้นอยากให้ผู้ชุมนุมแสดงออกเลยพรุ่งนี้ แล้วก็กลับบ้านเลย เรื่องอื่นๆ พูดกันทีหลังหากมีความจริงใจกับการปรองดอง เพราะแผนการปรองดองนั้น ผมเดินหน้าทุกเรื่อง วันนี้ ครม.อนุมัติ เรื่องการจัดทำสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่มีการอนุมัติงบประมาณโดยให้สำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในนามมูลนิธิเข้าไปอำนวยการ ส่วนแผนเรื่องสื่อนั้น ผมจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนแผนการ เมืองนั้นผมจะขอให้สถาบันพระปกเกล้าเข้ามามีบทบาททุกเรื่อง เดินไปข้างหน้าทั้งสิ้น ฉะนั้นยุติการชุมนุมเสีย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าหากการชุมนุมยังไม่ยุติ ภาครัฐจะตัดสินใจเข้าไปจัดการ พื้นที่การชุมนุม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนถือว่าตอนนี้ภาครัฐมีความชอบธรรมทุกประการที่จะดำเนินการตามความจำเป็นให้เกิดความมั่นคงและความเป็นปกติ
ปัดตอบวิธีสลายการชุมนุม แต่มีหลายมาตรการ ศอฉ. จะเป็นผู้แถลง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนในพื้นที่ราชประสงค์อาจได้รับความเดือดร้อนช่วงสั้นๆ หมายความว่าจะสลายการชุมนุม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มันคงจะเริ่มจากมาตรการที่จะไปกระทบกับพื้นที่ คือ การใช้ชีวิตข้างใน ไม่ใช่รอบๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าจะไล่คุมพื้นที่ไม่ให้ประชาชนเข้าไปเพิ่ม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีมาตรการหลายอย่างโดยศูนย์อำนวยการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะเป็นผู้แถลง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจการเข้าไปคุมพื้นที่เพียงใด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงเตรียมการมาตลอด แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมใช้เวลามากว่าหนึ่งสัปดาห์แล้วในการที่จะตอบรับกับแผนการปรองดอง ตนถือว่าแผนนี้ต้องเดินหน้าต่อ แต่เหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบมันกระทบกับการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นควรกลับบ้านในพรุ่งนี้
สุเทพประชุม ศอฉ. เล็งกดดันเสื้อแดงหลัง 12 พ.ค. เนื่องจากจะเปิดเทอมแล้ว
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 18.00 น. ที่ ร.11 รอ. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นประธานการประชุม ศอฉ.ในเวลา 17.00 น. โดยมี พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งที่ประชุม ศอฉ. ได้มีการสรุปสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณสี่แยกราช ประสงค์ โดยเฉพาะการประเมินท่าทีของกลุ่มคนเสื้อแดง หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศเสนอแนวทางออกของประเทศด้วยการประกาศการปรองดองแห่งชาติ หรือ โรดแม็ป ไปตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทาง ศอฉ.จะรอดูท่าทีของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) อีก 1 วันเท่านั้น หากยังไม่มีการยุติการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ทาง ศอฉ. ก็คงจะใช้มาตรการกดดันให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกนอกพื้นที่ให้เร็วที่สุด เนื่องจากสัปดาห์หน้าโรงเรียนในพื้นที่เขต กทม. จะเปิดภาคเรียนหมดแล้ว จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบมากยิ่งขึ้น
แจงไปพบอธิบดีเอสไอ เป็นนโยบายอภิสิทธิ์ ไม่ใช่ตามเสื้อแดง
นอกจากนี้ นายสุเทพ ยังได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ศอฉ. ถึงกรณีที่เดินทางไปรับทราบการร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีการขอพื้นที่คืนจาก กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยยืนยันว่า ไม่ได้เดินทางไปตามเงื่อนไขของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีการเรียกร้อง แต่การที่ตนเดินทางไปพบ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น เป็นไปตามนโยบายของ นายอภิสิทธิ์ ที่ต้องการให้ปัญหาความขัดแย้งจบลง และให้เกิดความสมานฉันท์ของบุคคลทั้งสองฝ่าย
การปฏิบัติงานของ ศอฉ. เป็นไปตาม พรก.ฉุกเฉินจึงไม่ผิดทั้งแพ่ง อาญา
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการปฏิบัติงานของ ศอฉ. เป็นไปตามการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ที่ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานในการดูแลความสงบเรียบร้อยของ ประเทศ จึงไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามความคดีอาญา และ คดีแพ่ง แต่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ หรือ ที่สี่แยกคอกวัว ผิดวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้กำหนดไว้ เนื่องจากการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงสร้างปัญหา และทำให้ประชาชนเดือดร้อน โดยเฉพาะการทำให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
สั่ง 'ปทีป' รับมือ แกนนำ นปช. 24 คนจะไปมอบตัวกองปราบ
มีรายงานด้วยว่า นายสุเทพ สั่งการให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จัดกำลังตำรวจดูแลแกนนำ นปช. 24 คน ที่จะเข้าไปมอบตัวที่กองปราบปรามในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) เนื่องจากเกรงว่า จะมีกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางไปให้กำลังใจกับแกนนำที่กองปราบปรามเป็นจำนวนมากจะสร้างความวุ่นวาย
ที่ประชุมยังได้วิเคราะห์ถึงกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ขณะนี้แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงเสียงแตกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มฮาร์คอร์ นำโดยนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง และ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของนายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ทำให้เวลานี้แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงไม่สามารถตกลงกันได้ จึงพยายามเยื้อเวลาออกไปเพื่อต้องการชุมนุมต่อ
ที่มา: เรียบเรียงจาก
นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐมีความชอบธรรมที่จะขอคืนพื้นที่ให้เข้าสู่ภาวะปกติ, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 11/5/2010http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1779&contents=44567