ที่มา ประชาไท
ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชีย (ACHR) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีที่ทางกองทัพยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อเย็นวันนี้ (13 พ.ค.) โดยมี ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง และคนอื่น ๆ อีก 2 รายถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กองพันทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ประกาศใช้ "ปฏิบัติการราชประสงค์" เพื่อสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์
โดย ACHR ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกให้แก่นายกรัฐมนตรี เตือนให้หยุดใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ มิเช่นนั้นแล้วนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะตกเป็นผู้รับผิดชอบตามมาตรา 25(3)(a) ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) ในการจงใจใช้กำลังจู่โจมผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชนโดยตรง ซึ่งการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม นปช. ที่ราชประสงค์นั้นถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อมาตราที่ 8 (2)(e)(i) ของ ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
ทาง ACHR เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกการใช้กำลังทหาร และกลับมาใช้วิธีการเจรจากับผู้ชุมนุม เนื่องจากไม่อยากให้เกิดเหตุการที่มีการสังหารผู้ชุมนุมเช่นวันที่ 10 เม.ย. อี
ที่มา
http://www.achrweb.org/press/2010/THAI02-2010.html
ข้อมูลเพิ่มเติม
ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
มาตราที่ 25 ว่าด้วย "ความรับผิดชอบต่อความผิดในฐานะปัจเจกบุคคล"
ข้อ 3 ระบุว่า อ้างจากธรรมนูญนี้แล้ว ผู้ที่จะถือว่าต้องรับผิดชอบและต้องโทษทางอาญาภายใต้การตัดสินของศาลก็ต่อเมื่อ:
วรรค a ระบุถึง กระทำความผิดทางอาญา ไม่ว่าจะโดยปัจเจกบุคคลหรือร่วมมือกับผู้อื่น หรือดำเนินการผ่านทางผู้อื่น โดยไม่ว่าบุคคลอื่นๆ นั้นจะต้องรับผิดชอบต่อความผิดด้วยหรือไม่
มาตรา 8 ว่าด้วย "อาชญากรรมสงคราม"
ข้อ 2 ระบุถึง "อาชญากรรมสงคราม" หมายความว่า:
วรรค e ระบุถึง การละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฏหมายและวิถีปฏิบัติที่ใช้ในเรื่องความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธโดยไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่อยู่ภายใต้ขอบข่ายของกฏหมายข้อตกลงนานาชาติ อาทิ
วรรคย่อย i ความจงใจใช้กำลังโจมตีประชาชนโดยตรงหรือกับปัจเจกบุคคลเป็นราย ๆ โดยที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวกับสงครามโดยตรง
อ้างอิงจาก
http://untreaty.un.org/cod/icc/statute/romefra.htm
http://untreaty.un.org/cod/icc/statute/99_corr/3.htm