WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, May 9, 2010

นิธิ เอียวศรีวงศ์:ยุบสภา-ทางเลือกที่ต้องเลือก

ที่มา ประชาไท


กรอ.ประชุมกันแล้วหาเหตุผลที่จะไม่ควรยุบสภาออกมาได้ว่า เพราะยังไม่มีความขัดแย้งระหว่างสภาและฝ่ายบริหาร จึงไม่มีเหตุจะยุบสภาได้

แต่ใครบอกเล่าว่า เงื่อนไขให้ยุบสภามีได้เพียงอย่างเดียว ยุบเพื่อทำให้ฝ่ายบริหารมีเสียงเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพราะอยู่ในช่วงที่ฝ่ายบริหารกำลังได้รับความนิยม เขาก็ทำกันเป็นปกติในทุกประเทศที่ปกครองด้วยระบบรัฐสภา ยุบเพราะจะเสนอกฎหมายใหม่ที่ต้องการเสียงสนับสนุนแข็งจริง ทั้งๆ ที่เสียงฝ่ายบริหารยังเกินครึ่งในสภาก็ทำกันอยู่เสมอ ยุบเพราะรัฐบาลถูกโจมตีมาก เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ ก็เป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองซึ่งที่ไหนๆ เขาก็ทำกัน

เพราะการยุบสภาเป็นกลไกทางการเมืองที่สำคัญ เอาไว้แก้ปัญหาทางการเมืองเฉพาะหน้า ที่ไหนๆ รวมทั้งเมืองไทยจึงให้อำนาจเด็ดขาดไว้ที่นายกรัฐมนตรี เพราะถึงอย่างไรก็เป็นอำนาจที่จำกัด กล่าวคือยุบแล้วก็ต้องกลับไปหาประชาชนใหม่ จึงไม่มีใครเขาทำประชามติเพื่อยุบสภา หากชอบที่จะปกครองกันด้วยประชาธิปไตยทางตรงอย่างนั้น ทำประชามติกันด้วยเรื่องแผนพลังงานไม่ดีกว่าหรือ

อีกบางฝ่ายออกมาคัดค้านการยุบสภาว่า ถึงยุบไปก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่ไม่ชัดว่าปัญหาที่ว่านั้นคืออะไร แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าการยุบสภาเป็นกลไกการเมืองสำหรับแก้ปัญหาการเมือง ไม่ได้แก้ปัญหาได้ทั่วไป การที่มีคนจำนวนมากออกมายึดถนน และยังมีผู้สนับสนุนไปทั่วประเทศจนกระทั่งกลไกรัฐทำงานไม่ได้ คือปัญหาการเมืองเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ก่อนอื่น

อย่างไรก็ตาม หากนิยามปัญหาที่ว่าแก้ไม่ได้ว่าคือสิ่งที่การชุมนุมเรียกร้อง ได้แก่ความไม่เท่าเทียม, สองมาตรฐาน, และความไม่สมานฉันท์ ถ้าอย่างนั้น ยิ่งไม่ยุบสภาก็ยิ่งแก้ไม่ได้ เพราะเวลาปีกว่าภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ยิ่งตอกย้ำความไม่เท่าเทียม, สองมาตรฐาน และความแตกร้าวมากขึ้นไปอีก แม้ขณะนี้ก็กำลังคิดกันถึงการชดเชยช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผล กระทบจากการชุมนุม โดยไม่ได้แยกระหว่างผู้ประกอบการขนาดใหญ่และเล็ก มันจะเป็นตลกร้ายสักเพียงใด ที่วันหนึ่งเราจะต้องควักกระเป๋าไปอุดหนุนธนาคารกรุงเทพ, บริษัทซีพี และ ฯลฯ ในขณะที่ชาวนาและกรรมกรต้องแบกรับความเสี่ยงในความผันผวนทางเศรษฐกิจไปตามลำพัง

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำนั้น นายกฯพูดเองว่าเริ่มคลี่คลายลงแล้ว เพราะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชียเริ่มฟื้นตัว ผลกระทบของความตกต่ำทางเศรษฐกิจโลกที่กระทบถึงไทยนั้น มาจากการที่เศรษฐกิจไทยผูกอยู่กับเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นแฟ้น แต่หนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้ทำให้ความผูกพันนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะบรรเทาผล กระทบแต่อย่างไร เช่นสร้างฐานการผลิตบางส่วนของไทยให้เข้าถึงตลาดโลกส่วนที่ได้รับผลกระทบ น้อย หรือเพิ่มผลิตภาพเพื่อแข่งขันได้ดีขึ้น เป็นต้น ประเทศไทยเคยอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างไร ก็ยังอ่อนแออยู่เหมือนเดิม

ยิ่งประหลาดมากขึ้นที่กลุ่มคนซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทน ของ "ภาคประชาชน" ยกปัญหาเรื้อรังขึ้นมาว่า ปัญหาเหล่านี้ควรถูกนำมาถกกันในการตัดสินใจว่าจะยุบสภาหรือไม่

ปัญหาเหล่านี้สรุปรวมแล้วก็คือการจัดสรรแบ่งปัน ทรัพยากรนั้นเอง และนี่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมไทยจริง แต่จะแก้ปัญหานี้ได้ไม่ใช่หวังพึ่งรัฐบาลใดๆ ทั้งสิ้น (ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร) รัฐบาลอภิสิทธิ์เองเพิ่งปล่อยให้ กฟผ.ลงนามในสัญญากับบริษัทจีนและพม่า เพื่อสร้างเขื่อนฮัตจี ทำลายวิถีชีวิตของผู้คนอีกหลายพันในลุ่มน้ำสาละวินตอนกลาง (หากนับรวมถึงประชาชนในพม่าด้วยก็หลายหมื่น) แต่ถึงแม้เป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ก็คงปล่อยให้ กฟผ.ลงนามเหมือนกัน

นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เรามีการเมืองที่ชนชั้นนำครอบงำ ดังนั้นจึงจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรโดยดึงเอามาบำเรอชนชั้นนำ และปล่อยปละละเลยประชาชนระดับล่างที่ได้เคยใช้ทรัพยากรนั้นมาอีกวิถีทาง หนึ่งไปตามยถากรรม

แต่เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรได้ นอกจากเปิดพื้นที่ให้ประชาชนระดับล่างได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ นักวิชาการและเอ็นจีโอที่เสนอเรื่องนี้ก็เคยเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวกับประชาชน เช่นให้ข้อมูลที่ทำให้เห็นผลกระทบกว้างไกลกว่าความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของ ประชาชนในท้องถิ่น ช่วยเปิดพื้นที่สื่อให้เสียงคัดค้านการแย่งชิงทรัพยากรเช่นนี้ดังไปถึงคน ชั้นกลางในเมือง และเคยแม้แต่ร่วมเดินขบวนหรือสนับสนุนการประท้วงของชาวบ้านมาแล้ว

ทั้งหมดนี้คือ "กระบวนการประชาธิปไตย" ซึ่งเป็นเครื่องมืออันเดียวที่จะทำให้การจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรในประเทศของ เรามีความเป็นธรรมมากขึ้น และคงจะมีโอกาสพัฒนาต่อไปจนพ้นจากท้องถนนไปสู่พื้นที่อื่นๆ มากขึ้น (รวมถึงสภาผู้แทนราษฎรด้วย) ท่านเหล่านั้นฝันไปหรืออย่างไร จึงคิดว่าปัญหาเรื้อรังระดับโครงสร้างเช่นนี้ อาจแก้ได้ด้วยการเจรจาทุบโต๊ะเปรี้ยงเดียว แล้วทุกอย่างเข้าที่หมด

นอกจากนี้ มันแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองเฉพาะหน้าได้อย่างไร

ควรเตือนไว้ด้วยว่า วิกฤตทางการเมืองที่เราเผชิญอยู่เวลานี้หนักหนาสาหัสมาก เพราะรัฐบาลไม่เหลือทางเลือกอะไรอีกแล้ว นอกจากสลายการชุมนุมด้วยวิธีรุนแรง ซึ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายอย่างขนานใหญ่กว่าที่ประเทศไทยเคยเผชิญมา (แม้ใน 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬ) ซ้ำถึงสลายได้ เรื่องก็ไม่ยุติ เพราะจะเกิดการต่อต้านรัฐในรูปแบบต่างๆ ไปทั่วประเทศ รวมทั้งการก่อวินาศกรรมด้วย

ชนชั้นนำอาจเลือกที่จะไม่เก็บอภิสิทธิ์เอาไว้ โดยยึดอำนาจด้วยกองทัพไปเสียเลย แต่นั่นยิ่งจะนองเลือดมากขึ้น และประเทศไทยจะโงหัวไม่ขึ้นไปอีกหลายปี

ทั้งหมดนี้ แลกกับการยุบสภาทันที อย่างไหนจะเป็นทางออกจากวิกฤตเฉพาะหน้าได้สงบสันติกว่ากัน

แม้กระนั้นก็ยังมีบางคนคัดค้านว่า ถึงยอมยุบสภา หลังการเลือกตั้ง หากได้รัฐบาลที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ชอบ ก็อาจออกมาประท้วงปิดถนนอีก จึงไม่ใช่ทางที่จะแก้ปัญหาได้จริง

ข้อคัดค้านนี้มีความเป็นไปได้ แต่ต้องเข้าใจการประท้วงให้ดี

หัวใจสำคัญของการประท้วงไม่ได้อยู่ที่ยึดถนนหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าได้รับการสนับสนุนจากผู้คนในสังคมกว้างขวางเพียงไร หากได้รับกว้างขวางหนักแน่น กฎหมายอะไรๆ ก็ไม่อาจเอาไว้อยู่ (เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของกฎไม่ได้อยู่ที่กลไกรัฐเท่ากับความเห็นชอบของ ประชาชน) ไม่ว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง, สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือแม้แต่กฎอัยการศึก ฉะนั้น หากอีกฝ่ายหนึ่งมีข้อเรียกร้องที่สังคมโดยรวมเห็นด้วย รัฐบาลใหม่ก็ต้องทำตาม เช่น ขอให้ยุบสภา ก็ต้องยุบสภา แต่หากขอให้ขอพระราชทานนายกฯ สังคมโดยรวมอาจไม่เอาด้วย ถึงตอนนั้นรัฐย่อมสามารถใช้กลไกของรัฐรักษากฎหมายได้

ข้อนี้น่าจะเป็นเครื่องเตือนสติให้ผู้จัดตั้งรัฐบาล ต้องคำนึงถึงการยอมรับของสังคมมากขึ้น ไม่ใช่นำเอาคนอันเป็นที่รังเกียจของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มาเป็นนายกฯ หรือคิดว่าตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร จึงยอมเอายี้มาเต็ม ครม. เพราะจากนี้ไป การกระทำเช่นนั้นจะเป็นผลให้รัฐบาลนั้นไม่สามารถบริหารงานได้เลย

ในระบบการเมืองที่การประท้วงไม่มีพื้นที่อื่นซึ่ง ได้ผลมากไปกว่าท้องถนน จะให้สังคมเข้ามากำกับรัฐได้อย่างไร สิ่งที่น่าคิดก็คือเราจะสร้างพื้นที่ให้สังคมมีพลังในการควบคุมรัฐนอกท้อง ถนนได้อย่างไรต่างหาก แต่การที่สังคมสามารถกำกับควบคุมรัฐได้มากขึ้นนั้น เป็นความก้าวหน้าของสังคมไทยไม่ใช่หรือ

บางคนอาจตั้งคำถามเชิงค้านว่า ถ้าอย่างนั้น เรามิต้องปกครองกันด้วย "ม็อบ" หรอกหรือ ใช่เลยที่เราต้องตกอยู่ในภาวะอย่างนั้น จนกว่าเราจะสามารถสร้างพื้นที่นอกถนนให้แก่สังคมได้ดังกล่าวข้างต้น พูดอย่างที่ผมเคยได้พูดมาหลายครั้งแล้วว่า เราต้องปรับระบบการเมืองของเราให้รองรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมให้ได้ นั่นคือมีคนจำนวนมากที่จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองระดับชาติ ถ้าเราไม่มีพื้นที่ให้เขาในระบบ เขาก็ต้องใช้พื้นที่นอกระบบ ฉะนั้น หากไม่ปรับระบบการเมืองให้ทัน ก็บอกได้เลยว่า เราจะเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองจนกลายเป็นจลาจลเช่นนี้ต่อไปอีกนาน

ทำไมการยุบสภาซึ่งเป็นการกระทำง่ายๆ และเป็นกลไกปกติทางการเมืองเช่นนี้ จึงทำได้ยากเย็นหนักหนาแก่นายกฯ อภิสิทธิ์

โดยสรุปแล้ว อภิสิทธิ์เป็นทางออกเพียงอันเดียวของเครือข่ายอำนาจที่สลับซับซ้อนของสังคม ไทย หากไม่นับการรัฐประหารอย่างออกหน้า อันนับวันก็เป็นเครื่องมือที่ไม่คุ้มทุนมากขึ้น เพราะก่อให้เกิดการสึกหรอของสถาบันแห่งอำนาจมากเกินไป (เช่น กองทัพ, ตุลาการ ฯลฯ) แต่หนึ่งปีกว่าผ่านไป ก็ยังไม่มีทางเลือกอื่นให้ออกมากไปกว่าอภิสิทธิ์ ฉะนั้น การยุบสภาจึงหมายถึงการทิ้งไพ่จนเกือบหมดหน้าตัก เหลือไพ่ที่ใช้การไม่ดีอีกสองใบเท่านั้นคือ

1) สลายการชุมนุมอย่างเด็ดขาดรุนแรง แต่ก็รู้อยู่แล้วว่า จะทำให้ปัญหายิ่งขยายตัวและจัดการยากขึ้น

2) รัฐประหาร พร้อมทั้งให้อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบไว้ในมือของฝ่ายชนชั้นนำเต็มที่ ระบบอำนาจนิยมนี้จะสามารถสยบการต่อต้านอย่างรุนแรงได้ ก็โดยวิธีเดียวคือ เป็นผู้นำการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ซึ่งจะมีผลลิดรอนผลประโยชน์และอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำเอง แม้อาจมีนักอุดมคติในฝ่ายชนชั้นนำที่คิดจะทำเช่นนี้ ก็ยังมีปัญหาว่าจะรักษาเอกภาพของชนชั้นนำไว้ได้อย่างไร มิฉะนั้นแล้ว นักอุดมคตินั้นก็จะถูกชนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่ง หรือหลายกลุ่มร่วมมือกันโค่นล้มลงจนได้

ยุบสภาจึงเป็นทางออกเดียวที่เป็นไปได้มากที่สุด ทั้งแก่ชนชั้นนำเองและแก่สังคมไทยโดยรวม