ที่มา ข่าวสด
ประเทศไทยก็มีร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) คอยทำหน้าที่นั้นอยู่เฉกเช่นเดียวกัน
โดยสายตาของรัฐมนตรีไอซีทีผู้นี้จะคอยจับจ้องลงมาจากป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามถนนหนทางและทางด่วน พร้อมกับเขียนคำเตือนบอกว่า
"เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเลวร้ายทำความเสียหายให้แก่สังคม และสมควรแจ้งข้อมูลไปยังสายด่วนทันที"
ขณะนี้รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังเปิดแนวรบต่อสู้กับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลอยู่ 2 แนวรบด้วยกัน แนวรบแรกเกิดขึ้นตามท้องถนน ซึ่งเต็มไปด้วยกำลังทหาร-ตำรวจที่คอยคุมเชิงรักษาสถานการณ์ กับ แนวรบใน "โลกไซเบอร์สเปซ" (โลกอินเตอร์เน็ต) ซึ่งทางการพยายามใช้วิธีการ "บล็อก" เสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยคำขู่ผ่าน "โทษจำคุก" ระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้เผยแพร่ข้อมูลและผู้รับข้อมูลข่าวสารในโลกอินเตอร์เน็ตของไทย ต่างพยายามดิ้นรนหาวิธีการต่างๆ เพื่อเข้าถึงข่าวสารที่ถูกเซ็นเซอร์ไปอย่างเต็มที่ เช่น หาวิธีการเจาะผ่าน "ไฟร์วอลล์" (โปรแกรมรักษาความปลอดภัย) ของรัฐบาล หรือบางครั้งก็ใช้เทคนิคเดียวกับที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการใจประเทศจีนกับอิหร่านเคยใช้
นโยบายบล็อกเว็บไซต์อย่างเหวี่ยงแหของรัฐบาลไทยยังส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มคนที่ต้องการเปิดดูเว็บไซต์เพื่อความบันเทิง เช่น เปิดเข้าชมบริการไลฟ์สตรีมมิ่ง (ถ่ายทอดสัญญาณภาพสดๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต) เช่น เว็บ justin.tv, ustream.tv, livestream.tv ซึ่งโดนบล็อกเพราะเผอิญกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มคนเสื้อแดง" เข้าไปใช้เป็นแหล่งเผยแพร่ข่าวสาร
"ในเรื่องการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต ประเทศไทยกำลังค่อยๆ เป็นเหมือนกับประเทศจีนเข้าไปทุกขณะ" ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง กล่าว
ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมานี้ ชื่อเสียงด้านสิทธิเสรีภาพในการพูด-แสดงออกซึ่งความคิดเห็นของไทยถูกบ่อนเซาะทำลาย โดยผลการจัดอันดับดัชนีเสรีภาพสื่อของไทย จัดทำโดยกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนชี้ว่า เมื่อปีก่อนไทยร่วงลงไปติดอันดับ 130 ขณะที่ผลการจัดอันดับครั้งแรกเมื่อปี 2545 ติดอันดับ 65
วิกฤตการการเมืองไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาผลักให้รัฐบาลใช้มาตรการเข้มข้นเข้าควบคุมอินเตอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น กลุ่มคนเสื้อแดงต้องการให้นายกฯ อภิสิทธิ์ยุบสภาฯ เพื่อจัดเลือกตั้งใหม่โดยอ้างว่า การเข้าสู่อำนาจเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ของนายอภิสิทธิ์ปราศจากความชอบธรรม เพราะมีข้อตกลงลับๆ และได้ทหารช่วยกดดัน
การชุมนุมประท้วงรัฐบาลบนท้องถนนกทม. ยืดเยื้อมาเกือบ 2 เดือน และมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 29 ราย บาดเจ็บเกือบ 1,000 ราย เมื่อรัฐบาลตระหนักได้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะปักหลักยาว ในวันที่ 7 เมษายนจึงตัดสินใจประกาศพรก.ฉุกเฉิน พร้อมมีคำสั่งปิดกั้นสื่อ สั่งแบน สั่งเซ็นเซอร์ ห้ามมิให้นำเสนอข่าวใดๆ ที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ปลุกปั่นความรุนแรง และทำลายเสถียรภาพด้านความมั่นคง
ทันทีที่กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ เว็บไซต์ที่รายงานข่าวเกี่ยวข้องกับการเมือง 36 เว็บถูกบล็อก และยังมีการปิดสถานีวิทยุชุมชน ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของคนเสื้อแดง รวมถึงตัดสัญญาณสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของคนเสื้อแดง ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ยังรอดพ้นจากการควบคุมที่ว่านี้ อย่างไรก็ตาม แม้คำสั่งของรัฐจะสั่งปิดเว็บที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง แต่เว็บไซต์ของฝ่ายต่อต้านเสื้อแดง เช่น เว็บกลุ่ม"คนเสื้อเหลือง"กลับไม่ตกเป็นเป้าหมาย แม้บางครั้งจะเผยแพร่เนื้อหารุนแรงสุดขั้ว
"ไม่มีใครออกมาอธิบายว่า เหตุใดเว็บไซต์เหล่านี้ถึงโดนบล็อก ช่วงแรกเริ่มต้นจากการบล็อก 36 เว็บไซต์ จากนั้นก็ 190 เว็บไซต์ ตามด้วย 420 เว็บไซต์" สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าว และว่า ตัวเลขจำนวนที่แน่ชัดของเว็บไซต์ที่ถูกปิดน่าจะสูงกว่านั้น เพราะมีวิธี "ไม่เป็นทางการ" ในการสั่งปิดอีกเช่นกัน เช่น เพิ่มแรงกดดันไปยังผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) เพื่อให้บล็อกเว็บบางเว็บ เป็นต้น
กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า "เว็บเซ็นเซอร์ชิป" หรือการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ในสังคมไทยมีมานานหลายปีแล้ว
ทั้งนี้ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีเว็บไซต์และเว็บเพจส่วนตัวถูกสั่งบล็อกไปกว่า 50,000 เว็บ จริงแล้วๆ รัฐบาลไทยประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะจัดการปราบปรามเว็บทำลายศีลธรรม รวมถึงเว็บลามกและเว็บการพนัน และแทบไม่ค่อยมีเสียงต่อต้านออกมาเท่าไหร่นัก
กระทั่งระยะหลังการเซ็นเซอร์เริ่มรุกคืบเข้าไปสู่เว็บไซต์ข่าวและเว็บการเมือง
กล่าวสำหรับปฏิบัติการควบคุมเว็บไซต์ของไทย เริ่มต้นขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังเหตุรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลชุดนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 ซึ่งอันที่จริงแล้วก็ไม่เป็นมิตรกับการปล่อยให้ผู้คนมี "สิทธิเสรีภาพในการพูด" เหมือนๆ กัน เพราะพ.ต.ท.ทักษิณมักใช้แรงกดดันทางการเงินและการเมืองจำกัดการรายงานข่าวทางลบต่อรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากพ.ต.ท.ทักษิณพ้นจากอำนาจ แนวโน้มการควบคุมเว็บไซต์ในรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกองทัพก็เข้มข้นขึ้น ดูได้จากการผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และหลังจากนั้นรัฐบาลชุดนี้ก็สั่งบล็อกเว็บไซต์นับพันเว็บ ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคง
ในระยะหลังนี้ เว็บไซต์ที่เป็นกระบอกเสียงคนเสื้อแดงตกเป็นเป้าหมายการเซ็นเซอร์ของรัฐบาล แต่ว่า 1 ใน 36 เว็บไซต์กลุ่มแรกที่โดนปิดภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ "prachatai.com" (ประชาไท ดอต คอม) ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มผู้สื่อข่าว วุฒิสมาชิก และนักกิจกรรมรณรงค์เสรีภาพสื่อมวลชน
เว็บแห่งนี้ให้คำจำกัดความตนเองว่าเป็นเว็บหนังสือพิมพ์ออนไลน์อิสระไม่แสวงหาผลกำไร จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในยุคที่มีการปิดกั้นเสรีภาพ-อิสรภาพของสื่อมวลชนไทยอย่างร้ายแรง
"ความพยายามควบคุมอินเตอร์เน็ตเริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ และนับวันยิ่งมากยิ่งขึ้น ภายหลังเหตุรัฐประหารเมื่อปี 2549 แต่ขณะเดียวกันการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตก็กลับกลายมามีบทบาทขึ้นเรื่อยๆ นับแต่นั้นเช่นกัน" จีรนุช เปรมชัยพร เว็บมาสเตอร์ประชาไท กล่าว
ล่าสุด จีรนุชเผชิญกับข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากปล่อยให้มีคนเข้าไปเขียนคอมเมนต์ แสดงความเห็นเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และอาจต้องรับโทษจำคุกถึง 50 ปี
อย่างไรก็ดี เว็บประชาไทก็เหมือนกับอีกหลายๆ เว็บที่กำลังเล่นเกม "แมวจับหนู"กับคำสั่งเซ็นเซอร์ของรัฐบาล ด้วยการย้าย "เซิร์ฟเวอร์" ออกไปนอกประเทศและหาช่องทางอื่นๆ เผยแพร่ข่าวสารให้จงได้
"ถ้ารัฐยังคงบล็อกไม่เลิก ในที่สุดเราอาจใช้วิธีการกระจายข่าวผ่านอีเมล์" จีรนุช ระบุ
แม้รัฐบาลจะพยายามปิดกั้นเว็บ แต่ยังมีหลายวิธีที่นักท่องเน็ตจะเล็ดลอดเข้าไปดูจนได้
โดยวิธียอดฮิตปกติทั่วไป ได้แก่ การใช้บริการเว็บไซต์จำพวก "พร็อกซี่ เซิร์ฟเวอร์ส" (Proxy Servers) ซึ่งช่วยให้นักท่องเน็ตย้ายไปเชื่อมต่อข้อมูลจาก "คอมพิวเตอร์ของบุคคลที่ 3" แทน
ส่วนบางคนก็ใช้โปรแกรม หรือ ซอฟต์แวร์ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเจาะทะลุไฟร์วอลล์ของภาครัฐโดยเฉพาะ
ในความเห็นของจีรนุชมองว่า การเซ็นเซอร์เว็บไซต์ ไม่ใช่คำตอบสำหรับการแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคมไทย เพราะ..
"เท่าที่ติดตามสถานการณ์ที่ผ่านมานั้น วิกฤตการการเมืองจะตึงเครียดยิ่งขึ้นหลังจากสื่อถูกปิดกั้นปราบปราม..
"การปิดกั้นเท่ากับว่ารัฐบาลกำลังดูถูกประชาชน ถ้ารัฐบาลเชื่อว่าประชาชนในชาติมีสติปัญหาและเฉลียวฉลาดพอก็หันมาเคารพประชาชนและปล่อยให้พวกเขาบริโภคข้อมูลข่าวสารจากทุกฝ่ายจะดีกว่า"
เรียบเรียบจากรายงานข่าว
Thailand censors more websites as protest persist.
เขียนโดย แกรนต์ เพ็ก สำนักข่าวเอพี
"บล็อก"เว็บไซต์
ยิ่งห้าม-เหมือนยิ่งยุ!
หมายเหตุ : ข้อมูลที่นำเสนอต่อไปนี้ ไม่มีเจตนาท้าทายอำนาจรัฐหรือแนะนำให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเอาไปปฏิบัติเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ แต่เสนอเพื่อแสดงให้เห็นว่าใน "โลกอินเตอร์เน็ต" ระดับสากล เทคนิคพื้นๆ เรื่องเทคนิคปลดล็อกหรือฝ่าคำสั่งบล็อกโดยภาครัฐสามารถทำได้อย่างง่ายดายชั่วพริบตา ฉะนั้นจะเหมาะสมกว่าหรือไม่ถ้าภาครัฐหันมาใช้วิธีนำเสนอ "ข้อมูล-ข้อเท็จจริง" สู้กับข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม หรือกำหนดนโยบายให้ความรู้ด้านการใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน แทนการสั่งปิด ซึ่งสุ่มเสี่ยงอาจทำให้ประชาคมโลกมองว่าจงใจใช้อำนาจเผด็จการ
1. ใช้บริการเว็บไซต์กลุ่ม Anonymous Proxy หรือ Proxy Server ซึ่งเปิดให้ใช้ฟรี
2. ใช้โปรแกรมกลุ่ม VPN หรือ Virtual Private Network
3. ใช้โปรแกรมซ่อน "ไอพี" หรือแหล่งที่มาคอมพิวเตอร์ที่ใช้เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
4. ใช้เว็บเบราเซอร์ FireFox แล้วติดตั้งโปรแกรมเสริมเพื่อฝ่าเข้าไปชมเว็บที่ถูกบล็อก
5. ใช้บริการเข้าชมผ่านเว็บไซต์แปลภาษาออนไลน์
6. เปิดให้ชมเว็บผ่าน Cache บนหน้าเว็บไซต์กูเกิ้ล
7. เปิดเข้าชมผ่านเว็บไซต์ Internet Archive
8. เปลี่ยนที่อยู่เว็บไซต์ หรือ ยูอาร์แอล จากขึ้นต้นด้วย http:/ เป็น https://
9. การพิมพ์ที่อยู่เว็บไซต์ เปลี่ยนจากการพิมพ์ชื่อภาษาอังกฤษ เป็นพิมพ์ที่อยู่เว็บด้วยไอพีแบบ "ตัวเลข" แทน