ที่มา ประชาไท
ดูราวกับคำว่า "นิติรัฐ" จะได้รับการเน้นย้ำในฐานะเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการนำสังคมไทยกลับ สู่ความเป็นปกติ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายที่สนับสนุนต่างก็อ้างอิงถึงถ้อยคำนี้ว่า เป็นเงื่อนไขที่ต้องได้รับการปกป้องมากกว่าสิ่งอื่นใด
นิติรัฐ (Legal State) อันหมายถึงรัฐที่ยอมตนอยู่ภายใต้กฎหมาย เป็นแนวความคิดที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อควบคุมการกระทำของรัฐมิให้ดำเนินไปตาม อำเภอใจของผู้มีอำนาจทางการเมือง การใช้อำนาจของรัฐต้องอยู่ใต้กรอบของกฎหมายที่ได้วางไว้ล่วงหน้า บนพื้นฐานความเชื่อว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวนี้จะช่วยสามารถปกป้องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนให้ดำรงได้อย่างมั่นคง มากกว่ารัฐตำรวจอันมีความหมายถึงรัฐที่มุ่งเน้นการใช้อำนาจเป็นด้านหลัก
แนวความคิดเรื่องนิติรัฐเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับและนำไปปฏิบัติอย่าง แพร่หลายในโลกปัจจุบัน ถือเป็นแนวความคิดสำคัญของระบอบเสรีประชาธิปไตยซึ่งมีความเชื่อในระบอบของ กฎหมายมากกว่าตัวบุคคล
แม้นิติรัฐจะเป็นหลักการที่มีความสำคัญอันหนึ่งสำหรับสังคม ประชาธิปไตย แต่พึงต้องระวังไว้อย่างยิ่งยวดเช่นเดียวกันว่าลำพังเพียงแค่การใช้อำนาจของ รัฐ แม้ดำเนินไปภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติไว้ล่วงหน้าก็อาจเป็นการ กระทำที่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมอย่างรุนแรงได้ หากมิได้พิจารณาถึงความชอบธรรมที่ดำรงอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมาย หรือลักษณะการบังคับใช้กฎหมายของรัฐเข้ามาประกอบ
ในประวัติศาสตร์ของการใช้อำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐหลายแห่งก็เป็นการ กระทำที่มีกฎหมายรองรับ แต่ก็เป็นสิ่งที่ถูกโต้แย้งหรือปฏิเสธอย่างรุนแรง ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือการใช้อำนาจของรัฐบาลเยอรมันภายใต้การนำของฮิตเลอร์ มีการออกกฎหมายจำนวนมากที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การริบทรัพย์สินของบุคคลที่มีเชื้อชาติยิว การให้อำนาจแก่ตำรวจลับในการจับกุมและลงโทษบุคคลที่ต้องสงสัยโดยไม่ต้อง ผ่านกระบวนการยุติธรรม หรือกฎหมายที่มีบทลงโทษอย่างรุนแรงกับบุคคลที่ประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์กับ รัฐบาล เป็นต้น
การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเยอรมันในห้วงเวลาดังกล่าวตามที่ กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นการใช้อำนาจที่มีกฎหมายรองรับไว้โดยมิใช่เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่การใช้อำนาจนี้ก็ถูกโต้แย้งในด้านของความชอบธรรมอย่างรุนแรง
ในสังคมไทย การใช้อำนาจของรัฐบาลในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี การกระทำหลายอย่างซึ่งถูกกล่าวหาในภายหลังดังเช่นการขายหุ้นให้กับบริษัท ต่างชาติก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเดิมมีข้อจำกัดจำนวนถือหุ้นของบริษัทต่างชาติเอาไว้
หรือกับรัฐบาลในห้วงเวลาที่คุณชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็มีการแจกที่ดินในโครงการปฏิรูปที่ดินให้กับบุคคลจำนวนมากที่แม้มิได้เป็น เกษตรกร คุณชวนก็ได้ให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย แม้จะถูกโต้แย้งจากสังคมอย่างรุนแรงแต่คุณชวนก็ยืนยันว่า "แม้ไม่อาจทำให้คนรวยได้เท่ากัน แต่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน"
ถ้านิยามความหมายของนิติรัฐไว้อย่างคับแคบ การกระทำของทั้งฮิตเลอร์ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณชวน ในฐานะของผู้นำแห่งนิติรัฐก็ควรได้รับการเคารพมากกว่าการตำหนิติเตียนที่ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมิใช่หรือ
เพราะฉะนั้น นิติรัฐจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายที่จะสร้างความยอมรับหรือความ เป็นธรรมให้เกิดขึ้น และยังมีอีกส่วนซึ่งหมายถึงความชอบธรรมหรือความเป็นธรรมซึ่งควรจะต้องปรากฏ อยู่ในนิติรัฐด้วย หรืออาจเรียกว่าเป็นนิติธรรมของนิติรัฐ
การให้ความหมายของนิติรัฐเพียงแค่การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่ วางอยู่บนกรอบของกฎหมายเพียงอย่างเดียว จึงเป็นการโฆษณาทางการเมืองที่ไม่ได้มีความหมายถึงความถูกต้องเสมอไป ยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบันก็ดูเหมือนความหมายของนิติรัฐมีจำกัดอยู่เพียงการทำ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายได้เท่านั้น จึงเป็นความหมายของนิติรัฐที่ตื้นเขินอย่างยิ่ง
มีอย่างน้อยสองด้านที่จำเป็นต้องถูกตระหนักถึงไปพร้อมกัน หากจะมีการกล่าวอ้างนิติรัฐเป็นเป้าหมายของการนำสังคมไทยคืนสู่สันติสุข
ประการแรก ความชอบธรรมในเนื้อหาของกฎหมาย
กฎหมายจำนวนมากที่ถูกนำมาใช้เพื่อจัดการกับการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่ให้อำนาจอย่างไพศาลแก่รัฐโดยปราศจากการตรวจสอบ และความรับผิด เช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ก็เป็นกฎหมายที่ถูกโต้แย้งอย่างมากในเนื้อหาว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับการใช้ อำนาจของรัฐในระบอบประชาธิปไตย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นผู้หนึ่งที่แสดงความเห็น คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ไว้เป็นอย่างดีท่ามกลางการคัดค้านที่มีอย่างกว้างขวาง
ประการที่สอง ความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย
เฉพาะกับบุคคลที่ยืนอยู่คนละฝ่ายกับอำนาจรัฐ แต่หากเป็นการกระทำของบุคคลที่สนับสนุนรัฐบาลหรือต่อต้านทางด้านผู้ชุมนุมก็ จะไม่มีการนำกฎหมายมาใช้บังคับ เช่น เมื่อมีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน การชุมนุมไม่ว่าของบุคคลฝ่ายใดหรือมีจุดยืนทางการเมืองแบบใดก็ล้วนเป็นสิ่ง ที่ผิดต่อกฎหมายทั้งสิ้น
ความหมายของการนำนิติรัฐกลับมาสู่สังคมไทย จึงมิใช่การที่จะมุ่งบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุมเท่านั้น หากยังต้องตระหนักถึงนิติธรรมว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจขาดหายออกไปได้
ถ้ามีเพียงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แต่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่านิติธรรมดำรงอยู่ก็อาจทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าทั้งหมด เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป โดยไม่ได้มุ่งหวังนำสันติสุขกลับคืนมาแต่อย่างใด