ที่มา ข่าวสด
การเมืองในสมัยประชุมรัฐสภาสามัญนิติบัญญัติ
ฝ่ายค้านไม่สามารถยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ก็จริง
แต่ถ้าดูจากปัจจัยตัวแปรอื่นที่ห้อมล้อมรัฐบาลตอนนี้ มีหลายอย่างบ่งบอกว่าถึงอย่างไรเส้นทางอนาคตของรัฐบาลก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอน
เพราะแค่กระทู้สดแรกของฝ่ายค้านที่ประเดิมถามนายกฯอภิสิทธิ์ เกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการสลายม็อบเสื้อแดงเดือนเม.ย.-พ.ค. จนมีคนตาย 90 ศพ บาดเจ็บอีก 2,000 คน
โดยเฉพาะฉากสังหารหมู่ 6 ศพในวัดปทุมวนาราม
ก็สะท้อนให้เห็นได้คร่าวๆ ว่าอะไรยังเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล
ยังมีตัวแปรเฉพาะหน้าอย่างกรณีร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่กำลังจะเข้าสภาวาระ 2-3 วันที่ 18-19 ส.ค. ที่รัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันให้ผ่านไปให้ได้
ถ้าไม่ผ่านนายกฯ ก็ต้องลาออกซึ่งจะเป็นการยกระดับความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นไปอีกขั้น
ที่ต้องลุ้นเหนื่อยคืองบประมาณในส่วนของกองทัพและกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องฝ่าด่านทดสอบจากฝ่ายค้านอย่างหนักระดับน้องๆ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ในสภาพรัฐบาลมีเสียงในสภาเกินฝ่ายค้านเพียง 20 เสียง ไม่ถึงกับ"ปริ่มน้ำ"แต่ก็ประมาทไม่ได้ มีโอกาสพลิกผันได้ตลอดเวลา ฝ่ายค้านเองก็คงไม่ปล่อยโอกาสแบบนี้ให้ผ่านไปง่ายๆ เพราะถ้าเกิดฟลุกขึ้นมาก็ถือว่าได้กำไรโดยไม่ต้องลงทุน
อย่างไรก็ตามหลายคนเชื่อว่า เปอร์เซ็นต์ที่รัฐบาลจะพังเพราะร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ผ่านสภาถึงจะมีแต่ก็น้อย เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของนักการเมืองทุกคน
ฝ่ายค้านถึงจะออกมาตีโพยตีพายในบางจุดแต่สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้ผ่าน
ยกเว้นส.ส.ร่วมรัฐบาลจะตลบหลังกันเองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สาเหตุที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่สามารถโค่นรัฐบาลล้มลงได้
เพราะอย่างที่รู้กันว่ารัฐบาลชุดนี้มีสัญญาใจแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับบรรดาหุ้นส่วนอำนาจไว้อย่างเป็นมั่นเหมาะ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กลุ่มพันธมิตรฯ หรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค
ในส่วนของกองทัพ สัญญาใจดังกล่าวคือการให้พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผบ.ทบ.อย่างสง่างาม และคนที่จะขึ้นมารับช่วงเก้าอี้แทนต้องเป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการต่อท่ออำนาจนายทหารสาย"บูรพาพยัคฆ์"ก็ตาม
สำหรับกลุ่มพันธมิตรฯ ในตอนแรกดูเหมือนความสัมพันธ์กับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะไปได้สวย เห็นได้จากคดีความต่างๆ ของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่คืบหน้าไปอย่างเชื่องช้าผิดกับคดีนปช.ที่รวดเร็วราวติดปีก
จนมาในระยะหลังนับจากการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มพันธมิตรฯ อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ด้วยเหตุที่ทั้ง 2 พรรคมีฐานเสียงกลุ่มเดียวกัน ซึ่งน่าจะมีปัญหาในระยะยาวและไม่ส่งผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย
ตัวอย่างสดๆ คือการเลือกตั้งซ่อมเขต 6 กทม. ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากพรรคการเมืองใหม่ไม่ถอนตัวไปเสียก่อน นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ จะชนะนายก่อแก้ว พิกุลทอง ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่
ล่าสุดประเด็นปราสาทเขาพระวิหาร กำลังเป็นที่ติดตามดูว่าจะทำให้ความสัมพันธ์รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มพันธมิตรฯ เลวร้ายลงไปถึงระดับใด
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างพรรคแกนนำกับพรรคร่วมรัฐบาลก็อยู่ในอารมณ์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
ดีเพราะมีการกระจายงบประมาณกันอย่างทั่วถึง หรือบางพรรคอาจจะได้มากกว่าเพื่อนแต่พรรคที่เหลือก็ยอมรับได้
ส่วนอารมณ์ร้ายน่ามีสาเหตุจากเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ที่พรรคร่วมมองว่าพรรคประชาธิปัตย์มีเจตนา"เตะถ่วง"มากกว่าต้องการเดินหน้าแก้ไขจริงจัง
สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้คือเมื่อพ.ร.บ.งบประมาณผ่านไปพร้อมกับโผโยกย้ายกองทัพ เท่ากับพันธสัญญาต่างๆ ที่เป็นเงื่อนไขค้ำจุนรัฐบาลกำลังจะหมดไป
พรรคประชาธิปัตย์จะถูกลอยแพหรือไม่
ด้วยเงื่อนไขต่างๆที่กำลังจะหมดอายุในเวลาอันใกล้
ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองขนานใหญ่ เพื่อลบภาพลักษณ์ว่าเป็นพรรคที่คบยาก เก่งแต่พูดเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้เพื่อน
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ตักเตือนลูกพรรคตนเองให้ลดละเลิกการใช้วาจาทิ่มแทงคนรอบข้าง ไม่เช่นนั้นเพื่อนหายหมดแน่
โดยเฉพาะการผ่านพ.ร.บ.งบประมาณฯ กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มยิ่งต้องรักษาน้ำใจพรรคร่วมมากเป็นพิเศษ
แต่สิ่งที่ตามมาก็คือข้อครหาว่าพรรคประชาธิปัตย์รู้เห็นให้พรรคภูมิใจไทยดูดส.ส.พรรคอื่นมาเข้าพรรคตัวเอง เพื่อเสริมทัพรัฐบาลทางอ้อม
โดยไม่กลัวว่าพรรคภูมิใจไทยจะเติบโตเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในอนาคต เพราะถึงอย่างไรเรื่องงบประมาณก็เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในเวลานี้ ส่วนเรื่องเลือกตั้งยังเป็นอะไรที่ไกลเกินไป
ถ้าฟังจากนายสุเทพ พูดกับลูกพรรคในวงสัมมนาที่ภูเก็ตนั่นก็คือรัฐบาลตั้งเข็มเวลานับถอยหลังไว้ที่ 12 เดือนหรือราวก.ค.ปีหน้า
ห่างไม่มากกับที่ผู้จัดการฝ่ายค้านอย่างร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ประเมินว่ารัฐบาลน่าจะอยู่รอดปลอดภัยจนถึงเม.ย.ปีหน้า เนื่องจาก 8-9 เดือนต่อจากนี้เป็นช่วงรัฐบาลปลอดจากการถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ
อย่างไรก็ตามการประเมินอายุรัฐบาลของนายสุเทพและร.ต.อ.เฉลิม อยู่บนพื้นฐานว่าจะต้องไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองอื่นแทรกซ้อนขึ้นมา
อย่างเช่นคดี"ยุบพรรคประชาธิปัตย์" ที่ทั้งนายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังหนักอกหนักใจกับผลตัดสินคดีที่คาดว่าน่าจะออกมาภายในสิ้นปีนี้
เพราะนั่นคือจุดพลิกผันใหญ่ที่จะส่งผลต่อโฉมหน้าการเมืองในอนาคต
สรุปว่าถึงรัฐบาลจะผ่านศึกอภิปรายงบประมาณไปได้ก็ยังมีเรื่องให้ต้องออกแรงฝ่าฟันอีกหลายด่าน
ซึ่งล้วนแต่เป็น"ด่านหิน"ทั้งสิ้น