เหตุการณ์ คาร์บอมบ์ ที่เกิดขึ้นทั้งใน จ.ยะลา จ.ปัตตานี และล่าสุดก็เกิดระเบิดรุนแรงขึ้นที่ จ.นราธิวาส สะท้อนให้เห็นถึง สงครามลัทธิความเชื่อ ที่ความขัดแย้งฝังรากลึกและลุกลาม จนยากจะเยียวยา พร้อมกันนั้นก็สะท้อนถึง ความหน่อมแน้ม ของนโยบายในการแก้ปัญหา
เข้าขั้นหมดปัญญา
เมื่อเทียบเคียงกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางหรือ ประเทศที่มีปัญหาเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน เชื้อชาติ ศาสนา แล้วจะเห็นการพัฒนาของการก่อความไม่สงบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากระเบิดที่ซุกตามอาคารบ้านเรือน ตู้โทรศัพท์ จากที่ซุกอยู่ใต้เบาะมอเตอร์ไซค์
เป็นคาร์บอมบ์
ผมรู้สึกสงสารชาวบ้าน สงสารเจ้าหน้าที่ข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่ต้องตกเป็นเหยื่อบริสุทธิ์ ต้องแบกปืนล่อเป้าไปวันๆ ในขณะที่ระดับนโยบายก็คิดแต่เรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์
การสร้างมวลชนก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า
ผมมีข้อมูลใหม่จะเล่าให้ฟัง เดิมทีกลุ่มที่ก่อความไม่สงบในบ้านเรามีด้วยกันถึง 10 กลุ่ม ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติพอหอมปากหอมคอ การสู้รบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการตอบโต้ของฝ่ายรัฐ ทำให้กลุ่มต่างๆเหล่านี้อ่อนแอลง แม้แต่ฝ่ายวางแผน หรือคนให้การสนับสนุนในต่างประเทศก็ทำท่าจะวางมือ
ล่าสุดเหลืออยู่แค่ 3 กลุ่ม
ที่ต้องชิงกันสร้างผลงาน และชิงเป็นแกนนำในการก่อความไม่สงบ นั่นหมายถึงจะต้องให้เกิดภาพของความรุนแรงและความถี่ในการก่อความไม่สงบมากขึ้น
สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ ได้วางยุทธวิธีทางทหารในการแก้ปัญหาไว้หลายอย่าง ซึ่งบางอย่างก็ต้องยอมรับว่าได้ผล โดยเฉพาะการตัดวงจรเครือข่ายต่างๆออกจากกัน
ทำให้ดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะสงบไปชั่วขณะ
โดยเฉพาะการส่งกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่ชนิดปูพรม แน่นอนว่า กลายเป็นดาบสองคม แง่หนึ่งทำให้การก่อการร้ายเบาลงไป
แต่ในแง่ของมวลชนแล้ว กลับแย่ลง ชาวบ้านรู้สึกไม่ไว้ วางใจและหวาดระแวงเจ้าหน้าที่มากขึ้น เพราะเกรงว่า จะถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรงไปหมด
บางหมู่บ้านที่เป็นสีแดงก็ถูกจับตาเป็นพิเศษจนชาวบ้านรู้สึกอึดอัด อีกอย่าง รัฐบาลลืมเรื่องปากท้องของประชาชน ความยากจน ไม่มีอาชีพ เศรษฐกิจภาคใต้ที่ทรุดหนัก
ล้วนแต่เป็นปัจจัยลบทั้งนั้น
ปัญหาภาคใต้ทำให้เราถูกมองจากโลกมุสลิม มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือโอไอซีจ้องตาไม่กะพริบมองด้วยความวิตก เพราะปัญหาไฟใต้ย่อมเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อการเมืองในประเทศเหล่านี้ด้วย.
หมัดเหล็ก
คอลัมน์ คาบลูกคาบดอก