มีการหยิบยกประเด็นเรื่องของทุนนิยมสามานย์ เพื่อตีวัวกระทบคราดมาที่รัฐบาลภายใต้การนำของ นายสมัคร สุนทรเวช ในลักษณะว่า รัฐบาลนี้มีโครงสร้างจากกลุ่ม “ทุน”
เราเคยได้ยินแต่คำว่า “ทุนนิยมเสรี” กับ “ทุนนิยมผูกขาด” และโลกวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธระบบ “ทุนนิยม” ที่แพร่ขยาย ขนาดประเทศที่เป็นคอมนิวนิสต์ยังต้องเปิดประเทศออกมาเพื่อหา “ทุน” ส่วนเจ้าของประเทศจะ “นิยม” หรือไม่ ไม่ทราบได้
หากจะย้อนไปในอดีตก่อนการ เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2540 เราจะพบว่า “ทุน” ที่ว่านี้มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ “ทุนเก่า” และ “ทุนใหม่”
ทุนเก่า ในอดีต 30-40 ปีที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย
“ทุนขุนนาง” เป็นตัวชูโรง เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีที่ดินจำนวนมากในครอบครอง ทำธุรกิจแบบเก่า ให้เช่าที่ดิน ไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเนื่องจากเป็นพวกหัวอนุรักษนิยม
“ทุนศักดินา” หรือ “ทุนอำมาตยา” ใช้ความสนิทชิดเชื้อกับผู้นำทางการเมืองในอดีต ทำธุรกิจผูกขาดตัดตอน ไม่เปิดให้มีการแข่งขันภายใต้ โครงสร้างตลาดเสรี โดยเฉพาะ ธุรกิจเกี่ยวกับ ธนาคาร ซึ่ง มีการผูกขาด 16 แห่ง จากคน ตระกูลใหญ่ๆ ไม่กี่ตระกูล เท่านั้น ธุรกิจปูนซีเมนต์ มีการผูกขาดเพียง 3 บริษัท ธุรกิจเหล็ก มีการผูกขาดเพียง 2 บริษัท และ ธุรกิจพลังงาน มีการผูกขาดเพียง 5 บริษัท ฯลฯ
ด้วยการใช้อำนาจทางการเมืองในสมัยก่อน ซึ่งล้วนเป็นพวก “อำมาตยาธิปไตย” เอื้อประโยชน์ให้ เพื่อให้นักธุรกิจเหล่านี้มาเป็น “แบ็กอัพ” ในทางส่วนตัว ใช้จ่ายคล่องขึ้น แลกกับการทำให้ธุรกิจพวกนี้ยืนอยู่ได้ โดย คนไทยอีกหลายสิบล้านคน ได้แต่ นั่งมองตาปริบๆ ปล่อยให้คนกลุ่มนี้ร่ำรวยกันมหาศาลบนการเอารัดเอาเปรียบประชาชนมาช้านาน ประเทศไม่เจริญก้าวหน้า เนื่องจากไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากส่วนต่างของการแข่งขัน
“ทุนใหม่” ส่วนใหญ่จะต้องดิ้นรนถีบตัวออกมาโดยอาศัย องค์ความรู้ ความมีวิสัยทัศน์ เทคโนโลยี และกลไกการเงิน เป็นหลักใหญ่ในการดำเนินการ ภายใต้กฎของรัฐที่จะต้องดำเนินการแข่งขันอย่าง เสรี และ เป็นธรรม ซึ่งทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายหลังการ เปิดเสรีทางการเงินและการค้า ที่ พรรคเก่าแก่ ได้ดำเนินการ ค้างๆ คาๆ เอาไว้ จนทำให้วันหนึ่งประเทศชาติต้องเข้าสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังครั้งใหญ่
ปัญหาคือ
“ทุนเก่า” อิจฉาริษยา “ทุนใหม่”
และ “ทุนใหม่” อิจฉาริษยา “ทุนใหม่” ด้วยกันเอง
มันจึงเกิดเรื่องราวในการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลที่มีผู้นำเปรียบเสมือน “ทุนใหม่” ที่มากด้วยสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด เทคโนโลยี และการบริหารจัดการสมัยใหม่ ที่ทำอย่างไร ทุนเก่า และ ทุนใหม่ ส่วนหนึ่ง ไม่สามารถก้าวตามได้ทัน และอาจจะหวาดกลัวว่าจะถูกอีกฝ่ายกลืนทรัพย์สิน ที่ทาง เงินทอง ไปหมด มีการวิเคราะห์ว่านี่คือที่มาของเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549
“ทุนนิยมสามานย์” ที่มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นมานั้น เป็นเรื่องต้องตั้งคำถามกันว่า ใครกันแน่ที่สามานย์
บริษัทสื่อโกงเงินประชาชน โดยวิธีการกู้เงินจากธนาคารมาทำธุรกิจสื่อสารมวลชน ไซฟ่อนเงินออกจากบริษัท ทำให้บริษัทเจ๊ง แต่ตัวเองร่ำรวย แล้วเอาเงินภาษีประชาชนไปจ่ายหนี้ก้อนมหึมา มีจริงหรือไม่ อันนี้คงต้องไป ถามผู้ตั้งเกมของฝ่ายที่กำลังจะเคลื่อนไหวกันอยู่ในวันที่ 28 มีนาคม 2551 นี้ ว่ารู้หรือไม่รู้
คนที่ทำบริษัทสื่อที่ว่านี้ ทุกวันนี้กลับมายืนอยู่ได้โดยที่มีข่าวคราวการ ใช้เงินทองสนับสนุนนักการเมืองบางคนในอดีต เป็นร้อยๆ ล้าน มีการแจกรถเบนซ์-บีเอ็มดับเบิลยูป้ายแดง กับลูกนักการเมือง หาความสุขความสำราญบนความเดือดร้อนของผู้คน ประชาชนตาดำๆ หากไม่เรียกว่า สามานย์ จะให้เรียกว่าอะไรดี?
พฤติกรรมของบริษัทสื่อที่ว่านี้ มันแย่ยิ่งกว่าการทำธุรกิจผูกขาดของ “ทุนเก่า” ดึกดำบรรพ์ หรือไม่
พฤติกรรมของบริษัทสื่อที่ว่านี้ มันแย่ยิ่งกว่าการทำธุรกิจที่มีการบริหารจัดการสมัยใหม่ รู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของ “ทุนใหม่” ล้ำยุค ทำให้เพิ่มพื้นที่ให้คนมีโอกาสทำมาหากิน เพราะโลกใบนี้แคบลง หรือไม่
พฤติกรรมของบริษัทสื่อที่ว่านี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ช่วยตอบหน่อยว่า มัน “สามานย์” หรือไม่ เพียงใด