"สมัคร"กระทุ้งเตือนสื่อเอง เสนอข่าวกลายเป็นกระบอกเสียงกลุ่มโจร ยืนยันไม่เปิดเจรจาโจรแบ่งแยกดินแดน มท1.เชื่อมั่นสถานการณ์ลดลง
ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ -เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 20 มี.ค.51 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังเดินทางกลับจากการเยือนประเทศสิงคโปร์ถึงการเรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากประชุมเสร็จก็คงจะไม่แถลงว่าจะทำอะไรบ้างแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะรับหน้าที่ไปดำเนินการต่อ ตนจะไปกระโดดออกไปแสดง เพราะทั้งตนและ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ก็โดนกันมาแล้วจนเข็ด และตอนนี้ก็จะไม่พูดถึงเรื่องนี้อีก
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่ากลัวตายก่อนที่จะลงไปพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ จะส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ก็เขาเป็นคนชอบพูดความจริง แต่คนเราไม่ค่อยยอมรับความจริง คุณเฉลิมเขาบอกว่าเขากลัวตายก็เท่านั้นเพราะเขาเป็นคนธรรมดา แต่ถ้าคุณเฉลิมประกาศซ่ากูไม่กลัวตายคนก็จะบอกว่าคุณเฉลิมเก่งมันก็เท่านั้น เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยาใดๆ ส่วนคนที่ไม่กลัวเขาก็ลงไปด้วย สถานการณ์ทั้งหมดมันไม่ต้องมีจิตวิทยาอะไรอีกแล้ว เวลานี้เราก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไรและกำลังพยายามแก้ปัญหาอยู่ซึ่งทุกอย่างก็กำลังจะค่อยยังชั่วแต่ก็มีเกิดเหตุรุนแรงอีก
“ถ้าสื่อมวลชนไม่เสนอข่าวเอิกเริกจนเกินไปก็จะช่วยกันรักษาสถานการณ์ได้ เราไม่ได้ปิดบังเพราะข่าวก็ยังเป็นข่าว ผมจะพยายามไม่ออกมาพูดอะไร”นายกรัฐมนตรีกล่าว
เมื่อถามว่าคิดว่าร.ต.อ.เฉลิมควรจะลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัดหาคใต้ ไม่ใช่ลงไปประชุมแค่ที่จังหวัดสงขลาหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิม ลงไปแล้ว แต่เมื่อเขาบอกว่ากลัวก็เลยประชุมที่จังหวัดสงขลา แต่ถ้าหากเขากล้าขึ้นมาก็อาจจะลงไปในพื้นที่ก็ได้ ต่อข้อถามว่าแล้วนายกฯ จะลงพื้นที่บ้างหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า “ถ้าผมไปผมก็ไม่บอกให้ใครทราบ เพราะถ้ารู้ทุกคนก็คงไม่ต้องทำงานอะไร ต้องมาคอยดูแลป้องกันนายกฯ” ต่อข้อถามว่าจะมีการตั้งรองนายกฯหรือรัฐมนตรีคนใดไปรับผิดชอบโดยตรงหรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า ไม่ต้องตั้ง ใครที่มีหน้าที่ก็จะรับผิดชอบดูแลเอง ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ส่วน ร.ต.อ.เฉลิมนั้น จะดูแลปัญหายาเสพติด แต่กระทรวงมหาดไทยก็มีนายพระนาย สุวรรณรัฐ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแล ศอ.บต. และมีผู้ว่าฯ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคนเหล่านี้ก็ต้องไปดูแล นอกจากนี้ยังมี ผบ.ทบ. พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ผู้ช่วย ผบ.ตร. ก็มีหน้าที่ดูแลและทำงานกันอยู่ ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิมเสนอแนวคิดให้ทหาร และตำรวจที่เชี่ยวชาญด้านการรบลงไปเป็นปลัดอำเภอในพื้นที่นั้น ก็ขอให้มาบอกกับตนจะได้ช่วยกันคิด เรื่องนี้เป็นเรื่องภายใน ร.ต.อ.เฉลิมควรมาพูดกันก่อน หากเจอตนจะถามเรื่องนี้อีกที
“วันนี้คนไทยอยากถามว่าผู้ก่อความไม่สงบต้องการอะไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันไม่มีเหตุผล ไม่น่าจะมาทำกับบ้านเมืองเราขนาดนี้ อยากจะให้ผู้สื่อข่าวมีความคิดเหมือนกับพวกเราคนไทยด้วยกัน แล้วเขียนบทความออกมา กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รู้สึกเสียทีว่านี่คือบ้านเมืองของเรา แต่สื่อปัจจุบันทำหน้าที่คล้ายกับเป็นกระบอกเสียงกับฝ่ายที่เคลื่อนไหว เวลาเกิดเหตุก็ทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต จะให้คนใหญ่คนโตลงไป แล้วก็จะเกิดความเสียหายตามมา ผมเป็นนายกฯที่เลือกวิธีการทำงานแล้วจะไม่พูดจาซ้ำซากอะไรอีก” นายสมัคร กล่าว
ต่อข้อถามว่าประชาชนในพื้นที่มองว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาภาคใต้เท่าที่ควร นายสมัคร กล่าวอย่าวมีอารมณ์ว่า “ ที่บอกว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจผมขอรายชื่อหน่อยได้หรือไม่ว่ามีใครบ้างหรือมีเจ้าหน้าที่คนไหนที่ขวัญกำลังใจเสีย เวลานี้ผมยังรู้สึกขอบคุณราษฎรอีก 73 จังหวัดซึ่งเขาไม่เคยออกปากเลยว่าเขาไม่ได้รับการดูแลอย่างเทียม ไม่เหมือนคนใน 3จังหวัดที่รัฐบาลลงไปแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ วิธีการแก้ผมไม่ต้องนั่งแหกปากบอกใคร แต่ยืนยันว่าเราแก้ไขเต็มที่ไม่ว่าจะเป็ฯตำรวจ ทหาร ทำงานกันอย่างเต็มเหนี่ยว ผมได้ฟังขั้นตอน วิธีการการดำเนินการทุกอย่างทั้งหมด เหตุการณ์ก็ค่อยๆดีขึ้นแล้ว เวลานี้สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการคือให้ผมแหกปากประกาศออกไปแล้วหากพลาดพลั้งอะไรไปก็จะมีการนำไปขยายผลให้เป็นเรื่องนานาชาติ อย่างที่ผมเคยบอกว่ามีความพยายามไปเจรจานอกรอบเพื่อที่จะให้รัฐบาลไทยไปเจรจากับคน 2 กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไทยไม่ขอเจรจา
เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่รัฐบาลลดเบี้ยเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนจะไปดูให้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่
"เฉลิม"ยันไป3จว.แน่ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมหารือกับหัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 โดยใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ โดย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวตอนหนึ่งว่า การสะท้อนปัญหาของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่พบว่ายังขาดแคลนในเรื่องของอาวุธและเครื่องมือในการปฏิบัติงานเช่นเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ กล้องโทรทัศน์วงจรปิด และที่เกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์ในการตรวจพิสูจน์ที่เกิดขึ้น โดยในวันพรุ่งนี้ (21 มี.ค.) ตนจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการตามที่ทุกฝ่ายได้เสนอ
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลในเชิงลึกของฝ่ายทหารและตำรวจพบว่าบางเรื่องจำเป็นจะต้องมีการเจรจากับนอกประเทศ ซึ่งต้องหาช่องทางติดต่อกับบุคคลที่สามารถคุยกับฝ่ายตรงข้ามได้ สำหรับนโยบายในการแก้ปัญหาของรัฐบาลยังยืนว่าจะใช้การเมืองนำการทหาร และความสมานฉันท์เป็นหลัก รวมทั้งวิธีการเจรจาโดยรัฐบาลนี้จะไม่ใช้กำลัง และจำเป็นต้องประสานข้อมูลกับทุกฝ่ายซึ่งหลังจากนี้จะหารือกับผู้นำศาสนาในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไม่การประชุมครั้งนี้ไม่เชิญฝ่ายค้าน เหตุผลเพราะเป็นการประชุมปิด แต่ถ้าประชุมเปิดก็พร้อมที่จะเชิญมาเข้าร่วมหารือ
นอกจากนี้ รมว.กระทรวงมหาดไทย ยังยืนยันเจตนาเดิมว่าจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน แต่เหตุผลที่ยังไม่ลงขณะนี้เพราะต้องการรับทราบปัญหาโดยตรงจากพื้นที่ก่อนเพราะถ้าลงไปจะทำให้เจ้าหน้าที่เสียเวลา ไม่ใช้เพราะกลัวตายหรือเสียดายชีวิต เพราะถ้ากลัวคงไม่รับอาสานายกลงมาแก้ปัญหาและไม่จำเป็นต้องห่วงตัวเองเพราะไม่มีอะไรจะเสียมีแต่ตัวกับหัวใจ และไม่รู้ว่านายกจะเปลี่ยนตัววันไหน ส่วนเหตุความระรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะนี้ไม่ใช่เรื่องของการเมืองหรือการที่นายสมัครเป็นนายกหรือตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่เป็นไปตามสถานการณ์ที่พาไปแต่จริง ๆ ตั้งแต่ตนมาทำหน้าที่สถานการณ์รุนแรงลดลงกึ่งหนึ่ง ถามว่าหนักใจไหมกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นยอมรับว่าหนักใจต้องขอพรจากพระอัลเลาะห์และไว้พระให้ช่วยเพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยโชคช่วยด้วย
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะตนจะเน้นการใช้เทคโนโลยีในการติดตามงานตรวจสอบความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในแต่ละวันผ่านทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ร.ต.อ.เฉลิม ยังได้ขอความร่วมมือไปยังกลุ่มผู้หลงผิดกลบตัวกลับใจเข้ามาให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ซึ่งพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรม แต่การที่จะนิรโทษหรือนิรโทษกรรมจะต้องทราบที่มาที่ไปก่อน เช่นเดียวกันหากประชาชนในพื้นที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนผ่านหน่วยงานในพื้นที่ได้โดยตรงทั้ง ศอ.บต. ศูนย์ดำรงธรรม แต่หากไม่มั่นใจก็สามารถร้องเรียนมายังตนได้โดยตรงซึ่งพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะในเรื่องของการดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงบ่ายวันนี้ (20 มี.ค.) มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธาน พิจารณากระทู้ถามสดเรื่องการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สอบถามนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี
นายสุเทพ กล่าวว่า ในการดูแลปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ มีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง อยากถามว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง และในตอนหาเสียงพรรคพลังประชาชนได้ประกาศกับประชาชนทั้งประเทศว่า จะสานต่อนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงเกิดข้อสงสัยว่ายุทธศาสตร์และนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลนี้ จะยึดถือตามแนวนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ และถ้าใช่จะทั้งหมดหรือบางส่วน และถ้าไม่ใช่ รัฐบาลนี้ใช้ยุทธศาสตร์อะไร รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ฝ่ายค้านได้เสนอกฎหมายไปนานแล้ว รัฐบาลจะผลักดันกฎหมายเพื่อให้การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพได้เมื่อไหร่ และจะรายงานผลการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อใด
นายสมัคร กล่าวว่า ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้นั้น นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด มีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำอยู่แล้ว และพรรคพลังประชาชนไม่เคยบอกว่าจะนำนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาปฏิบัติ รัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารงานได้เพียง 1 เดือนครึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก รับหน้าที่ในเบื้องต้น ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง แต่ไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ เกรงว่าจะเป็นการเปิดเผยให้คนที่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รับรู้แนวทาง สำหรับเรื่องการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน เจ้าหน้าที่กำลังพิจารณาอยู่ เมื่อเสร็จแล้วจะนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
"ผมจะทำรายงานให้ ส.ส.ได้ทราบว่า เหตุการณ์ก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมีก่อนที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา ผมก็ให้เครดิต ส่วนรัฐบาลเก่าทำไว้อย่างไร ผมไม่ขอเอามานินทา เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 แล้ว ผู้บัญชาการทหารบกได้ดำเนินการด้วยความเรียบร้อย และสิ่งที่จะแสดงให้เห็นคือความเปลี่ยนแปลงหลังจากเปลี่ยนคนบริหาร ผมรับผิดชอบเต็มที่ในฐานะทั้งสองตำแหน่ง และจะทำเป็นตารางเปรียบเทียบให้ดู" นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า วิธีการแก้ปัญหาทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตอบในรายละเอียดทุกเรื่อง ว่าจะส่งทหารลงพื้นที่จำนวนเท่าไหร่ บางเรื่องตอบได้ก็จะตอบ รัฐบาลจะไม่ตกหลุมให้ใครใช้สภาผู้แทนราษฎรเป็นเครื่องมือในการสอบถาม
นายสุเทพ กล่าวตอนท้ายว่า ไม่ได้ใช้สภาผู้แทนราษฎรเป็นเครื่องมือหลอกถามนายกรัฐมนตรี แต่ที่ถามเพราะเห็นว่าเป็นปัญหาที่ประชาชนห่วงใย ส่วนนายกรัฐมนตรีจะไม่พูดอะไร ก็ถือเป็นสิทธิ และหากไม่พูดอะไรเลย ก็เป็นเรื่องดี เพราะถ้าพูดมากไปประชาชนจะเกิดความสับสนได้ หรือถ้าพูดครึ่งๆ กลางๆ อาจมีการนำไปตีความต่าง ๆ นา ๆ และทำให้นายกรัฐมนตรีเสียหาย