กรุงเทพฯ 20 มี.ค.-กรุงเทพโพลล์สำรวจพบประชาชนเชื่อสถานการณ์ทางการเมืองยังน่าเป็นห่วง ไม่เห็นด้วยกับการนัดชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ 28 มี.ค. เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยก แนะยุติการชุมนุม เจรจาอย่างประนีประนอม-สมานฉันท์ ชี้รัฐบาลติดตามสถานการณ์และปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างถูกต้องและเป็นธรรม
ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,214 คน ในหัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไรกับการนัดชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ 28 มี.ค.นี้” ระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2551 พบว่า ประชาชนร้อยละ 25.9 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ช่วยสอดส่องและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ได้รู้ข้อเท็จจริงของปัญหาต่าง ๆ ขณะที่ร้อยละ 57.4 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า สร้างความวุ่นวาย ทำให้เกิดความแตกแยก ควรให้รัฐบาลทำงานนานกว่านี้ก่อน และร้อยละ 16.7 ไม่แสดงความเห็น
ส่วนความรู้สึกต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน ปรากฏว่า ประชาชนร้อยละ 84.7 เห็นว่าน่าเป็นห่วง และร้อยละ 15.3 เห็นว่าไม่น่าเป็นห่วง สำหรับความคิดเห็นในการไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ พบว่า ประชาชนร้อยละ 5.1 ไปร่วมชุมนุม ขณะที่ร้อยละ 80.8 ไม่ไปร่วมชุมนุม และร้อยละ 14.1 ไม่แน่ใจ ส่วนสาเหตุการนัดชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ พบว่า ประชาชนร้อยละ 20.5 เชื่อว่าไม่พอใจการดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 19.5 เชื่อว่าไม่พอใจการเดินทางกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนร้อยละ 15.5 เชื่อว่าเกิดจากแย่งชิงผลประโยชน์และตอบโต้ทางการเมือง ขณะที่ร้อยละ 6.3 เชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ ก่อกวนทางการเมือง และร้อยละ 38.2 ไม่แสดงความเห็น
ส่วนผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเคลื่อนไหวและนัดชุมนุมในครั้งนี้ พบว่า ประชาชนร้อยละ 30.2 ระบุว่าฝ่ายพันธมิตรฯ แกนนำ และผู้ชุมนุม ขณะที่ร้อยละ 21.9 ระบุประชาชนและประเทศชาติ ร้อยละ 3.0 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนร้อยละ 1.4 ระบุผู้ที่เสียผลประโยชน์ทางการเมือง ร้อยละ 1.2 ระบุรัฐบาล ร้อยละ 6.1 ระบุไม่มีใครได้ประโยชน์ และร้อยละ 36.2 ไม่มีความเห็น
สำหรับสิ่งที่ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลควรปฏิบัติต่อเรื่องนี้ พบว่า ประชาชนร้อยละ 38.3 เห็นว่ารัฐบาลควรติดตามสถานการณ์และปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างถูกต้องเป็นธรรม ขณะที่ร้อยละ 13.2 เห็นว่ารัฐบาลควรรับฟังข้อมูลจากการชุมนุมแล้วนำไปปรับปรุงการทำงาน ส่วนร้อยละ 12.8 เห็นว่ารัฐบาลควรใช้มาตรการที่เข้มงวด เพื่อควบคุมการนัดชุมนุม ขณะที่ร้อยละ 6.5 เห็นว่ารัฐบาลควรหาทางเจรจาตกลงกันโดยสันติวิธี ร้อยละ 4.4 เห็นว่ารัฐบาลควรให้อิสระในการชุมนุมตามวิถีทางประชาธิปไตย และร้อยละ 24.8 ไม่มีความเห็น
ผลสำรวจยังพบว่า สิ่งที่ประชาชนอยากฝากถึงกลุ่มพันธมิตรฯ คือ ยังไม่ควรมีการชุมนุม เพราะประเทศชาติเสียหาย ให้เจรจาอยางประนีประนอม สมานฉันท์ ให้ชุมนุมโดยสงบ อย่าใช้ความรุนแรง เป็นกำลังใจให้ชุมนุมต่อไปเพื่อประชาธิปไตย.-สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-03-20 15:45:44