รัฐบาลดีเดย์หลังสงกรานต์อัดฉีดงบลงรากหญ้าผ่านโครงการ เอสเอ็มแอล.เกือบ 20,000 ล้านบาท พร้อมดึง 2 แบงก์รัฐ ออมสิน และ ธกส.เดินโครงการประชานิยมเต็มสูบ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ ให้ประชาชนในชนบท
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และ รมว.คลัง เปิดเผยหลังเรียกประชุมคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน เพื่อเร่งอัดฉีดเม็ดเงินลงไปสร้างรายได้ให้ประชาชนในภาคชนบท ซึ่งตังเลขเบื้องต้นของ ก.มหาดไทย ปัจจุบันมีหมู่บ้านอยู่ ทั้งสิ้น 78,358 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้แยกเป็นชุมชน 3,444 ชุมชน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติขยายหมู่บ้านและงบประมาณที่จะใช้ใหม่ เป็น 7 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ประชากรตั้งแต่ 1 คน ถึง 50 คน จะได้จัดสรรงบประมาณ 50,000 บาทเท่าเดิม
กลุ่มที่ 2 ประชากร 51 คน ถึง 100 คน ได้งบประมาณ 100,000 บาท เท่าเดิมเช่นกัน
กลุ่มที่ 3 ประชากรตั้งแต่ 101 ถึง 200 คน จะได้รับจัดสรรงบลงเหลือแค่ 150,000 บาท จากเดิม 200,000 บาท
กลุ่มที่ 4 ประชากรตั้งแต่ 201 ถึง 500 คน ได้รับจัดสรรงบเท่าเดิมคือ 200,000 บาท
กลุ่มที่ 5 ที่ประชากรตั้งแต่ 501 ถึง 1,000 คน จะได้งบประมาณเท่าเดิม คือ 250,000 บาท
กลุ่มที่ 6 ประชากรตั้งแต่ 1,000 ถึง 1,500 คน จะได้งบประมาณ 300,000 บาท
กลุ่มที่ 7 ซึ่งถือเป็นหมู่บ้านขนาด เอ็กซ์แอล ประชากรตั้งแต่ 1,501 คนขึ้นไป จะได้รับการจัดสรรงบประมาณ 350,000 บาท ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีหมู่บ้านที่เข้าข่ายราว 3,117 หมู่บ้าน
ซึ่งเมื่อคำนวนงบตามสัดส่วนของขนาดหมู่บ้านทั้ง 7 กลุ่ม จะต้องใช้งบประมาณถึง 18,687 ล้านบาทเศษ โดยในจำนวนนี้จะ โยกงบจากโครงการอยู่ดีมีสุข 15,000 ล้านบาท ส่วนที่เบิกจ่ายไปก่อนหน้านี้ในโครงการอยู่ดีมีสุขก็จะประสานไปยัง ก.มหาดไทย ให้ทำโครงการให้สอดคล้องกับโครงการเอสเอ็มแอล.ส่วนที่เกินอยู่อีกราว 3,600 ล้านบาท จะใช้งบกลางโดยจะเสนอให้ ครม. เห็นชอบในวันอังคารนี้เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ทันที และหลัง ครม.เห็นชอบก็จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. และตั้งเป้าช่วงเทศกาลสงกรานต์
ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับบ้านจัดเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อดูว่า แต่ละหมู่บ้านจะนำเงินไปทำอะไรกันบ้าง และสัปดาห์สุดท้าย ของเดือนก็จะเริ่มกดปุ่มโอนเงินเข้าระบบผ่านธนาคารออมสิน และ ธกส. ลงไปสู่หมู่บ้านทันที ซึ่งในเรื่องดังกล่าวได้มีการตั้งคณะ กรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อให้การเบิกจ่ายและใช้งบมีประสิทธิภาพสูงสุด
และในการประชุม ครม.วันอังคารนี้จะมีการเสนอโครงการประชานิยมที่อยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารออมสิน และ ธกส. ซึ่งก็ อยู่ในแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าเข้าที่ประชุม ครม.ด้วย ซึ่งประกอบด้วย การพักหนี้เกษตรกร 3 ปี, โครงการธนาคาร ประชาชนที่ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.75 จากร้อยละ 1 ต่อเดือน และโครงการกองทุนหมู่บ้านที่จะมีการอัดฉีดเม็ดเงินใหม่เข้าไป ยังหมู่บ้านเกิดใหม่ 1,600 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท โดยทั้งหมดดีเดย์เดินโครงการพร้อมกันเดือน เม.ย.นี้ เพื่อเร่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับนายทุนในภาคชนบท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อในประเทศ หนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ใน 6 เดือน