น่าจะเป็นว่ายังไม่กล้าตัดสินใจชี้ขาดยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองของ กกต.แม้จะขึ้นเขียงรออยู่อย่างพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยแล้วก็ตาม ความจริงแล้วที่ผ่านมาพอเรื่องส่งมาจากอนุกรรมการฯตัดสินใจอย่างไรก็ตาม กกต.ชุดใหญ่จะนำมาพิจารณาแล้วตัดสินทันที
แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้ได้ขอเวลาให้ที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาก่อน 15 วัน แล้วค่อยมาชี้ขาดกันอีกที นัยว่ายังข้องใจข้อกฎหมาย แม้ว่าผลการชี้ขาดของอนุกรรมการฯจะแบออกมาพรรคไม่ผิด คนผิดด้วยมติ 4 ต่อ 0 มาแล้ว
หากตัดสินใจตามข้อชี้ขาดและมุมกฎหมายก็หมายถึงว่าไม่มีการยุบพรรค ผู้สมัครทำผิดเป็นเรื่องส่วนบุคคล พรรคไม่ต้องรับผิดชอบ แต่แน่นอนว่าในมุมของ กกต.บางท่านอาจจะเห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับพรรคเพราะผู้สมัครเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย
การตัดสินใจให้ที่ปรึกษาฯพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก็คงเพราะแรงกดดันต่างๆที่ถาโถมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมิใช่แค่ภายนอกเท่านั้น
แม้แต่ใน กกต.ด้วยกันเองก็ยังจะแตกเป็นเสี่ยงอยู่แล้ว อย่างน้อยก็มี 2 คน จาก 5 คน ยืนอยู่ฝ่ายหนึ่ง แรกๆก็แตกความเห็นที่เป็นข้อกฎหมาย แต่ถึงวันนี้กลายเป็นว่า 3 คน ไปทางไหน อีก 2 คน ก็จะไปตรงกันข้าม ดังนั้น จากนี้ไปการลงมติใดๆจึงไม่ใช่ง่าย
กลายเป็นว่ายืนอยู่คนละข้างไปเสียฉิบ
ประเด็นหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือสังคมไทยวันนี้ยังเป็นคู่ ความขัดแย้งที่พร้อมเผชิญหน้าตลอดเวลาในความจริง ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นมันอยู่ที่รัฐบาลมากกว่า ที่ว่าอย่างนั้นก็เพราะยังมุ่งที่จะ “เช็กบิล” ทุกรูปแบบ
เป้าหมายสำคัญก็คือการยึดกุมอำนาจรัฐ 100%
อีกเป้าก็คือการคืบคลานไปสู่คดีความต่างๆ
ดังนั้น องคาพยพต่างๆมันจึงเกิดปัญหาขัดแย้งอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายข้าราชการที่ส่วนใหญ่เพื่อเป้าหมายนี้เป็นการเฉพาะ ก็ต้องเกิดปฏิกิริยาต่อต้านคัดค้านแน่นอน เพราะต่างฝ่ายต่างรู้เท่าทันกัน
นี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นซึ่งต่อไปน่าจะเข้มข้นขึ้น ชัดเจนขึ้น คตส.ที่ทำคดีทุจริตต่างๆกำลังเริ่มจะถูกท้าทายอย่างยิ่ง
สุดท้ายอาจจะถึงขั้นออกกฎหมายล้ม คตส.ได้เพราะมาจากเผด็จการ หาก คตส.มีที่มาแบบนี้อาจจะเป็นแบบว่าทุกอย่างจะเป็นโมฆะไปเลย
คดีความต่างๆก็จบ อยู่ที่ว่าจะกล้าทำหรือไม่?
แต่ที่จะไม่จบก็คือการเมืองที่จะต้องตึงเครียด และ อาจนำไปสู่การต่อต้านที่รุนแรงได้ เพราะรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่เบาเตรียมพร้อมลุยให้แตกหักอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี แรงกดดันต่อ กกต.นั้น มันจะเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องคดีความแน่ เนื่องจากมีคดีที่ต่อเนื่องและ กกต.ต้องชี้ขาดนับแต่เรื่องของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนฯที่อาจผูกพันถึงการยุบพรรคได้ และกรณีของพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยก็คือต้นแบบ
และยังมีเรื่อง “นอมินี” อีกเรื่องที่กำลังการตัดสิน นั่นก็เข้าข่ายยุบพรรคเช่นกัน
แม้แต่ใน กกต.บางท่านยังพูดถึงเรื่องรัฐศาสตร์ เพราะเห็นว่าหากยุบพรรคก็จะเกิดปัญหาทางการเมือง วุ่นวาย ยุ่งยาก และอาจจะทำให้รัฐบาลเกิดปัญหา
แต่ไม่ได้พูดเลยไปถึงว่าหากยุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยมันก็จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญ และมีผลต่อพรรคพลังประชาชนอย่างแน่นอน ในกรณีของนายยงยุทธเพราะเมื่อผู้สมัครของ 2 พรรค ถูกใบแดงและมีคำสั่งยุบพรรค เนื่องจากผู้สมัครที่กระทำผิดดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคด้วย
“ปริศนา” มันน่าจะอยู่ตรงนี้มากกว่า.
"สายล่อฟ้า"
คอลัมน์ กล้าได้กล้าเสีย