พรรคประชาธิปัตย์ 5 พ.ค. - หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร. เป็นแนวทางดี เรียกร้องรัฐบาลฟังเสียงสังคมที่ตอนนี้เห็นพ้องตั้งกรรมการศึกษารัฐธรรมนูญ หรือมี ส.ส.ร. ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ส.ว.นครศรีธรรมราช ที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นแนวทางที่ดีแนวทางหนึ่ง และพรรคจะปรึกษาหารือกันในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ค.) ว่าจะพิจารณาแนวทางนี้หรือไม่ เพราะอย่างน้อยแนวทางนี้จะเปิดให้มีการแสดงความเห็นเป็นวงกว้าง และน่าจะทำให้การปรับปรุงแก้ไขเป็นระบบมากขึ้น
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากฝากบอกไปยังหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลที่จะหารือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 พ.ค.นี้ ว่า ขณะนี้ใกล้จะหมดสมัยประชุมรัฐสภาแล้ว รัฐบาลควรเลือกว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาร่วมกัน หรือจะมาตกลงแนวทางที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าเป็นไปในแนวทางนี้ ฝ่ายค้านพร้อมที่จะสนับสนุน และคิดว่ารัฐบาลควรฟังเสียงของสังคมที่ปรับท่าทีมาโดยลำดับ และมีความคิดใกล้เคียงกัน คือ ใช้วิธีการในการมีองค์กรขึ้นมาศึกษา หรือมีกระบวนการในลักษณะของ ส.ส.ร.
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จากการติดตามร่างแก้ไขของรัฐบาล เห็นว่าไม่ได้คิดอะไร นอกจากเป้าหมายในเรื่องของเหตุการณ์ปัจจุบัน เพราะใช้วิธีการตัดแปะเอาบทบัญญัติของหมวด 1 และ 2 ของปัจจุบัน แล้วต่อท้ายด้วยรัฐธรรมนูญปี 2540 และส่วนที่เขียนใหม่จริง ๆ คือ บทเฉพาะกาล โดยมีเป้าหมายให้องค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พ้นจากตำแหน่ง เพื่อให้เลือกกันใหม่ หากเป็นอย่างนี้ก็เหมือนว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งใจที่จะปรับปรุงรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 มีบทบัญญัติที่ใช้แล้วและพิสูจน์แล้วว่ามีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการแทรกแซงองค์กรอิสระ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ การที่บอกว่าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปก่อน และอยู่ในกระบวนการของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่เหมือนกับการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา เพราะเมื่อถึงเวลาเข้าสู่กรรมาธิการฯ แล้ว จะมีแนวโน้มที่จะพิจารณาไปตามมาตรา ซึ่งจะไม่ได้เห็นภาพรวม และการอ้างว่าแปรญัตติได้นั้น หากปล่อยให้แปรญัตติกันอย่างเสรี โดยไม่มีการมาพูดคุยกรอบกันก่อน ตนเกรงว่าแทนที่จะไม่ยืดก็จะยืดเยื้อมาก และจะแปรญัตติโดยที่ไม่ได้ดูว่าโยงใยในมาตราอื่นอย่างไร หมวดอื่นอย่างไร จะเป็นปัญหา
สำหรับกรณีที่อดีต ส.ส.ร. เตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากรัฐบาลใช้กระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมก็จะไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไร ส่วนกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ระบุว่า คนที่คัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีแต่สนับสนุน แต่ไม่เห็นด้วยกับการที่นำประชาธิปไตยมาอ้าง แล้วแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ซึ่งคิดว่า นายจาตุรนต์น่าจะมองเรื่องออก และนายจาตุรนต์ตอบได้หรือไม่ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน เป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างไร โดยเฉพาะที่เสนอแก้มาตรา 237 และ 309. - สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-05-05 16:08:33