ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนการลงทุนเรื่องน้ำของชาติตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมเตรียมเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในช่วงกลางเดือนนี้ นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยข้อสรุปจากการประชุมร่วมของกลุ่มภารกิจจัดการทรัพยากรน้ำ ว่า เตรียมเสนอแผนการลงทุนน้ำชาติต่อรัฐบาล โดยแบ่งเป็น 3 โครงการ ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลน ซึ่งตั้งแต่ปี 2538 ความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ 68,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร ขณะที่จัดหาน้ำได้เพียงปีละ 46,000 ล้านลูกบาศ์กเมตรเท่านั้น ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วหากยังไม่มีการจัดการน้ำอย่างเหมาะสม อาจเกิดภาวะขาดน้ำสำหรับพื้นที่การเกษตรที่เพิ่มขึ้นได้ ส่วนที่ 2 คือ โครงการติดตั้งระบบเตือนภัยให้หมู่บ้านเสี่ยงต่ออุทกภัย ที่ประเมินไว้จำนวน 2,370 หมู่บ้าน แต่ขณะนี้ติดตั้งแล้วเสร็จเพียง 500 หมู่บ้านเท่านั้น โดยยังไม่รวมพื้นที่การเกษตรเขตราบลุ่มและพื้นที่เมืองที่มีความเสี่ยงต่ออุทกภัยอีกกว่า 127 ล้านไร่ ที่จำเป็นต้องติดตั้งระบบด้วย สำหรับส่วนที่ 3 นั้น เป็นรายละเอียดแผนการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ การจัดหาน้ำเพิ่มด้วยการผันน้ำ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ โดยแผนดังกล่าวประกอบด้วยการลงทุนในโครงการสำคัญๆ ที่ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 144,665 ล้านบาท แบ่งเป็น การผันน้ำภายในประเทศ และนอกประเทศ โดยเฉพาะแผนการผันน้ำจากแม่น้ำโขง อ่างน้ำงึมจากลาว และแม่น้ำสตึงนัม จากกัมพูชา จะทำให้ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 6,200 ล้านลูกบาศ์กเมตร สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 5.37 ล้านไร่ นายศิริพงศ์ กล่าวว่า การผันน้ำจากอ่างน้ำงึม มาเติมในเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ สามารถทำได้ทันที โดยสูบน้ำข้ามสันปันน้ำโขงและชีที่มีระดับความสูงประมาณ 20 เมตร เสียค่าไฟฟ้าปีละ 200 ล้านบาท แต่ปริมาณน้ำที่ได้อาจมากถึง 3-4,000 ล้านล้านลูกบาศ์กเมตรต่อปี โดยประเมินค่าใช้จ่ายทั้งโครงการที่ 76,000 ล้านบาท มีพื้นที่ชลประทานได้รับประโยชน์ 3.6 ล้านไร่ ทั้งนี้ อาจเพิ่มแนวสันเขื่อนลำปาวให้สูงอีก 2 เมตรเพื่อรองรับปริมาณน้ำ ส่วนอุโมงค์ผันน้ำจะเจาะลอดในแม่น้ำโขงขึ้นมาทางฝั่งไทยระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ถือเป็นแนวผันน้ำที่มีความเป็นไปได้ที่สุด ซึ่งหากรัฐบาลเห็นชอบก็จะเตรียมออกแบบ และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมทันที