นอกจากเหตุผลที่บอกว่า เพื่อความสง่างามและศักดิ์ศรีของประธานสภาผู้แทนฯหรือประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ไม่ต้องเอาตำแหน่งสวมหัวเดินขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ตรงนี้ฟังดูดีครับ.. .แต่เหตุผลหลักน่าจะอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่า ทั้งนี้ เพราะหากนายยงยุทธ ติยะไพรัช ไม่ลาออกจากตำแหน่งคือ ยังรักษาการต่อไป เพราะขอพักราชการ เนื่องจากคดีทุจริตเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ได้แจกใบแดง ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ที่ศาล ซึ่งหากศาลชี้ขาดว่าผิดตามที่ กกต.เสนอ นั่นก็คือ ถูกใบแดงและต้องเว้นวรรคการเมือง 5 ปี และอาจจะโยงไปถึงเรื่อง “ยุบพรรค” ด้วย ซึ่งกรณีหลังนี่แหละคือเหตุผลที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพรรคชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตยกรรมการบริหารที่ถูกใบแดงและมีผลต่อการยุบพรรคต่อมา หากนายยงยุทธไม่ลาออก โดยรอขั้นตอนศาลชี้ขาด ก็จะมีผลแน่นอนต่อตำแหน่งของเขา เพราะถ้าไม่ขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่รองประธานสภาผู้แทนฯก็จะทำหน้าที่แทน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับของสภาผู้แทนฯ แต่ในการประชุมรัฐสภานั้น เมื่อประธานสภาผู้แทนฯในฐานะประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งพักงานตัวเอง ประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภา ก็จะทำหน้าที่แทน รองประธานสภาผู้แทนฯ ที่ทำหน้าที่รักษาการแทนประธานสภาผู้แทนฯ ไม่มีสิทธิขึ้นไปนั่งบัลลังก์ในฐานะประธานรัฐสภาได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ หากนายยงยุทธไม่ลาออก การทำงานของรัฐสภาในด้านการประชุมประธานวุฒิสภา ก็จะทำหน้าที่แทนทุกอย่าง ในสถานการณ์ที่รัฐบาลและพลังประชาชนจะต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจะรอนายยงยุทธหรือให้นายยงยุทธยืนยันความบริสุทธิ์ต่อไปด้วยการไม่ลาออก จึงไม่มีประโยชน์ ดังนั้น จึงต้องหาทางออกในเรื่องนี้ มิฉะนั้น จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้าออกไป ที่สำคัญก็คือ ท่าทีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประธานวุฒิสภาเป็นอย่างไร ก็พอจะรู้กันอยู่ นั่นก็คือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่าใดนัก และยังย้ำถึงความเป็น “กลาง” ของวุฒิสภามาตลอด หรือพูดง่ายๆ น่าจะเป็นคนละพวกมากกว่า ขณะเดียวกัน ยังเห็นว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ก็ต้องเปิดกว้างไม่ใช่ปล่อยให้นักการเมืองแก้กันเอง ชงกันเอง แต่ต้องให้ ประชาชนมีส่วนร่วม น่าจะเป็นสูตร ส.ส.ร.3 มากกว่า ดังนั้น หากให้นั่งประธานรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลการประชุมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่จะปล่อยให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะวันนี้วุฒิสภาไม่ใช่ “สภาของเรา” แล้วนะครับ...แม้จะมีความพยายามรวบหัวรวบหางตั้งแต่การเลือกประธาน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ง่ายอย่างที่เคยทำมา เนื่องจากในความหลากหลายของวุฒิสมาชิก ซึ่งมาจากเลือกตั้งและสรรหา ทางเดียวก็คือ ต้องลาออกเพื่อหาประธานสภาผู้แทนฯคนใหม่ ซึ่งก็คือเหตุผลและจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดวกขึ้น กุมสภาพทุกอย่างได้ แต่บุคคลที่จะขึ้นมานั่งเก้าอี้ตัวนี้จึงต้องสำคัญมาก ได้รับการยอมรับ ทันเกมในสภา มีบารมีที่จะคุมเกมได้และสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ต้องเข้าใจยุทธศาสตร์ที่ถ่องแท้ว่าพลังประชาชนต้องการอะไร ทำอะไร เพื่อใคร อย่างไร โดยเฉพาะภารกิจที่ต้องรับผิดชอบต่อ “นายใหญ่” ตัวจริงเสียงจริง ไม่ใช่ “นอมินี” แต่เวลานี้เริ่มเปิดฉากสู้กันแล้วเมื่อกลุ่มหนึ่งจะผลักดันนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนันท์ รองประธานสภาฯขณะนี้ แต่อีกส่วนเสนอ “ชัย ชิดชอบ” พ่อนายเนวิน ชิดชอบ ขึ้นเป็นแทนและสำแดงกำลังภายในใส่กันอยู่ เอาเข้าจริงอาจจะไม่ใช่ 2 คนนี้ก็ได้ เพราะมือยังไม่ถึงชั้น. "สายล่อฟ้า"