ในฐานะคนที่คัดค้านการปฏิวัติรัฐประหารและไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ ก็พลอยรู้สึกยินดีไปด้วยที่เห็นการแก้ไข รธน.50 ที่เป็นผลพวงจากการปฏิวัติรัฐประหาร เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะการเดินทางไปยื่นร่าง รธน. ฉบับ 40 ก. (แก้ไข) ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ได้บอกเล่าอะไรหลายต่อหลายอย่าง
ทั้งประชาชนเรือนหมื่นที่เดินทางไปให้กำลังใจถึงหน้ารัฐสภา ที่บอกให้เห็นถึงความต้องการที่จะได้รัฐธรรมนูญที่มีหัวใจเป็นประชาธิปไตยเต็มร้อย
ขณะที่รายชื่อ 1.5 แสนชื่อ ที่ได้มาจากพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศ ทั้งที่มีการดำเนินการเพียงในระยะเวลาสั้นๆ และได้แนบไปพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็บอกเล่าเรื่องราวอันเดียวกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นความต้องการที่สอดคล้องต้องกันของคนไทยทุกภูมิภาค
รวมทั้ง ส.ส. และ ส.ว. กว่าร้อยคนที่ออกมาให้การต้อนรับถึงหน้าสภา และไปร่วมกันปฏิญาณต่อหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ยิ่งทำให้มองเห็นหนทางสว่างไสวมากขึ้น
ยิ่งเฉพาะเมื่อกลุ่ม ส.ส. หล่ายคนออกมาแสดงความเอื้อเฟื้อ รับจะโอบอุ้มร่าง รธน. ฉบับประชาชนเข้าสู่สภาในนาม ส.ส. ที่สามารถทำได้โดยการร่วมลงชื่อไม่น้อยกว่า 96 คน จะได้ไม่ต้องไปเสียเวลากับการตรวจสอบ 5 หมื่นรายชื่อที่ร่วมสนับสนุน
ทั้งหมดนั้นก็เป็นการสะท้อนชัดว่าการแก้ รธน.50 ที่ทุกคนต่างรู้ดีถึงที่มาที่ไป เป็นความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เพราะบรรดากลุ่มคนที่เดินทางมาที่หน้ารัฐสภา หรือผู้คนที่ร่วมลงชื่อก็เป็นกลุ่มคนที่มาจากหลากหลายภูมิภาค หลากหลายหน้าที่การงาน ที่พอจะบอกเล่าได้เป็นอย่างดีว่าเป็นตัวแทนของคนกลุ่มต่างๆ
และที่สำคัญไปกว่าอื่นใด ก็คือเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีแก่นสำคัญเป็นที่น่าสนใจ เชื่อได้ว่าจะตอบโจทย์ความเป็นประชาธิปไตย และความเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกันก็น่าจะสามารถตอบข้อกล่าวหาของกลุ่มคนที่ออกมาตะแบงคัดค้าน ได้อย่างหมดจดไร้ข้อสงสัย
ว่ากันตั้งแต่ความพยายามที่จะกล่าวอ้างว่าคนที่สนับสนุนแก้ไข รธน.50 ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูง
ในร่าง รธน. ฉบับ 40 ก. ก็ยังคงเนื้อหาสาระของหมวด 1 และ 2 เอาไว้ตามเดิม
ส่วนในหมวดถัดมาที่นำเอาสาระของ รธน. 40 มาใช้ ก็เป็นสิ่งที่ได้ระดมความเห็นจากประชาชนทั้งประเทศ แยกย่อยเป็นรายจังหวัด และมีเนื้อหาสาระที่ให้ประชาชนมีสิทธิมีส่วนในทางการเมืองด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกมาอย่างชัดเจน
แม้แต่ความพยายามของ ส.ว. บางกลุ่ม หรือพรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้มีการตั้ง สสร. ก็พลอยหมดปัญหาไปด้วยเพราะ รธน.40 ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวมาเป็นที่เรียบร้อย
รวมทั้งสิ่งที่ นพ.เหวง โตจิราการ หนึ่งในแกนนำ คปพร. ออกมายืนยันก็น่าจะสร้างความสบายใจได้ ทั้งคำยืนยันว่าร่าง รธน. ฉบับนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเอื้อประโยชน์พรรคการเมืองใด
โดยชี้ให้เห็นชัดที่มีการแก้ไขให้เปิดโอกาสให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ง่ายขึ้น รวมทั้งลดจำนวน ส.ส. ในการยื่นญัตติขออภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็จะเป็นช่องทางให้เพียงเฉพาะเสียงของฝ่ายค้านก็สามารถที่จะซักฟอกนายกฯ ได้
นอกจากนี้อีกประการหนึ่งที่ประชาชนนับแสนได้เคยร่วมลงชื่อเอาไว้ แต่ไม่ได้รับการสนใจไยดีจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร
ก็คือ การบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 40 ก. ได้มีการเขียนเอาไว้อย่างชัดเจน แต่ขณะเดียวกันก็ระบุว่า
ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือการปฏิบัติตามศาสนาตามความเชื่อถือของตน
รวมไปถึงยังมีการยกเลิก แก้ไข ระเบียบ คำสั่ง หรือข้อปฏิบัติใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีทางประชาธิปไตยให้หมดไป
เพียงเท่านี้ก็พอจะย้ำและยืนยันได้ว่า แนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเอา รธน.40 มาเป็นแม่แบบ และมีการปรับปรุงส่วนต่างๆ อย่างเหมาะสมนั้นมีเจตนาชัดเจนอย่างไร
เชื่อว่าประชาชนสามารถตัดสินได้โดยไม่ยากว่ามีเค้าลางเป็นจริงดังที่บางกลุ่ม บางพรรคพยายามกล่าวหาหรือไม่
และกลับกันก็น่าจะทำให้รู้ลึกถึงสันดานของคนบางพวกมากขึ้น...ว่าการออกมาคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเจตนาอย่างไรกันแน่...!?
บิ๊กโบ๊ต