* ‘ดีเอสไอ’จ่อออกหมายเตือนหากไม่ร่วมมือ หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาเล่นแง่ ไม่ให้ความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีมีผู้ร้องเรียนส่อทุจริตพิมพ์บัตรเลือกตั้ง โดยพยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่าดีเอสไอ ไม่มีอำนาจในการสอบสวนเรื่อวดังกล่าว และยังระบุว่าเป็นเรื่องมีความพยายามดิสเครดิต กกต. นั้น
“หมอเหวง” ซัด กกต.ตะแบงหาเหตุไม่ให้ข้อมูลทุจริตพิมพ์บัตรเลือกตั้ง อ้างมั่วดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบ ระบุส่อพิรุธชัดเจน พร้อมจี้ให้เร่งออกมาชี้แจงรายละเอียดพิมพ์บัตรที่เกินจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 44 ล้านใบ และต้องยืนยันให้ชัดว่าบัตรยังอยู่ครบเพราะส่อเกี่ยวโยงถึงทุริตเลือกตั้ง ด้าน “ธาริต” สุดทน เปิดแถลงข่าวพร้อมแฉหลักฐาน ชี้ที่ผ่านมา กกต.ไม่เคยให้ความร่วมมือแต่กลับอกมาให้ข่าวสร้างความสับสน ตอกกลับการแยกพิมพ์บัตรตามที่ กกต.อ้าง ยิ่งทำให้น่าสงสัย
ในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ได้เปิดแถลงข่าวยืนยันอำนาจการนสอบสวน โดยระบุด้วยว่า ภายหลังดีเอสไอเข้าตรวจสอบข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริตพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินเป็นจำนวนมาก และการจัดการเลือกตั้งโดยทุจริต ดีเอสไอได้ขอความร่วมมือจาก กกต.ให้ช่วยจัดส่งเอกสารต่างๆมาให้ดีเอสไอตรวจสอบ แต่ปรากฏว่าผู้บริหารระดับสูงของ กกต.กลับให้ข่าวต่อสื่อมวลชนว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวนคดี เพราะวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างในการพิมพ์บัตรเลือกตั้งต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งการให้ข่าวดังกล่าวทำให้สาธารณชนเกิดความสับสน และส่งผลเสียหายต่อการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ จึงจำเป็นต้องแถลงข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด
นายธาริต กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ร้องเรียนให้ดีเอสไอตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.หลายเรื่อง ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอให้น่าเชื่อว่ามีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้โรงพิมพ์ของเอกชนพิมพ์บัตรเลือกตั้งให้ กกต.นั้น เป็นการดำเนินการในคราวเดียว มีการใช้งบประมาณเกินกว่า 100 ล้านบาท แต่ได้มีการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง แยกทำสัญญาให้วงเงินต่ำกว่า 100 ล้านบาท เป็นผลให้อำนาจการสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นความผิด ดีเอสไอต้องถือเอาวงเงินรวมที่เจตนาจัดซื้อจัดจ้างในคราวเดียวเป็นหลัก ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการฮั้วประมูลอื่นๆ ที่ดีเอสไอรับผิดชอบอยู่เป็นจำนวนมาก จึงขอยืนยันว่ากรณีการกล่าวหาว่ามีการฮั้วประมูลพิมพ์บัตรเลือกตั้งเป็นคดีพิเศษที่ดีเอสไอมีอำนาจสอบสวนตามพ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ
ทั้งนี้อยากขอความร่วมมือจาก กกต.ให้ยุติการโต้แย้งเรื่องอำนาจหน้าที่ และหันมาร่วมมือกับดีเอสไอ ด้วยการจัดส่งเอกสารหลักฐาน และเข้าให้ข้อมูลตามที่ดีเอสไอร้องขอ เพื่อพิสูจน์ความจริงให้สาธารณชนได้รับทราบ อย่างไรก็ตาม หาก กกต.ไม่ให้ความร่วมมือตามคำร้องขอของดีเอสไอ ก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ออกหมายเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานสอบสวน
“กกต.เป็นองค์กรอิสระและมีเกียรติ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นอิสระจากการตรวจสอบ อยากให้เข้าใจด้วยว่า ดีเอสไอมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบด้านการตรวจสอบ ผมจึงอยากขอร้องให้ผู้ใหญ่ของ กกต.ให้ความร่วมมือกับดีเอสไอ เพื่อพิสูจน์ความจริงให้สาธารณชนได้รับทราบ และขอยืนยันอีกครั้งว่าดีเอสไอไม่ได้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดเพื่อการกลั่นแกล้ง”
นายธาริต กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าในการสอบสวนคดีทุจริตการเลือกตั้งจากการพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเป็นจำนวนมากนั้น ดีเอสไอได้สอบปากคำผู้เกี่ยวข้องบางส่วนแล้ว เช่น โรงพิมพ์ของเอกชน บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) และพยานบุคคลอีกหลายปาก เพื่อรวบรวมข้อมูลว่าบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์เกินถูกนำออกไปนอกหน่วยเลือกตั้งได้อย่างไร
นอกจากนี้ในการประชุมร่วมระหว่างพนักงานสอบสวนกับ นายยุวรัตน์ กมลเวชช และนายโคทม อารียา อดีต กกต. ในฐานะที่ปรึกษาคดีพิเศษ ได้ให้คำแนะนำว่า ก่อหน้านี้ กกต.เคยพิมพ์บัตรพอดีกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และพิมพ์เกินเล็กน้อย กรณีที่การพิมพ์บัตรเกินจำนวนมากควรรับฟังเหตุผลของ กกต.ชุดปัจจุบันว่า มีเจตนา เหตุผลอย่างไร โดยพยานแวดล้อมจะมีความสำคัญมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รองอธิบดีดีเอสไอได้นำประกาศสำนักงาน กกต. เรื่องการประกวดราคาจ้างพิมพ์บัตรเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2550 ซึ่งลงนามโดย นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. มาประกอบการแถลงข่าวด้วย โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่ดีเอสไอขอให้ กกต.จัดส่งมาให้ตรวจสอบ แต่ กกต.ไม่ยินยอมส่งเอกสารตามคำร้องขอ
ซึ่งเนื้อหาของประกาศดังกล่าวระบุว่า กกต. มีความประสงค์จะประกวดราคาพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 4 รายการ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 50,270,000 ฉบับ บัตรเลือกตั้งแบบสัดส่วน จำนวน 55,170,000 ฉบับ ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งจำนวน 5 ล้านฉบับ และบัตรทาบบัตรเลือกตั้งสำหรับผู้พิการทางสายตา จำนวน 177,000 แผ่น รวมวงเงินทั้งสิ้น 130,736,000 บาท
ต่อมา นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขต 8 พรรคพลังประชาชน ได้เข้าพบรองอธิบดีดีเอสไอ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตรวจสอบการทำงานของ กกต. กรณีที่นายวัฒนาเข้าร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา เนื่องจากพบหลักฐานการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ การติดป้ายหาเสียงก่อน กกต.ประกาศพื้นที่สำหรับติดป้ายหาเสียง การติดป้ายหาเสียงในหมู่บ้านจัดสรรซึ่งเป็นสถานที่ของเอกชน และการให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์มีเนื้อหาใส่ความไม่ให้ประชาชนลงคะแนนเลือกผู้สมัครพรรคพลังประชาชน ซึ่งขณะนี้เวลาผ่านมานาน 4 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งที่กฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งจะต้องตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอย่างเร่งด่วน
ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย ที่เคยยื่นหนังสือต่อ กกต. ให้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว ได้กล่าวถึงกรณีที่ กกต. ให้ฝ่ายกฏหมายตรวจสอบอำนาจของดีเอสไอ ในการสอบสวนเรื่องการจัดจ้างพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ว่าประการแรกเรื่องนี้ทำให้หลายคนสงสัยว่า กกต.มีสิ่งอะไรเป็นพิรุธหรือไม่ ซึ่งถ้า กกต.บริสุทธิ์ใจจริง ก็ไม่ควรที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากหน่วยงานอื่น
ส่วนประการที่สอง ส่วนตัวจากที่ได้มีการพิจารณาจากกฎหมายแล้ว ดีเอสไอมีอำนาจที่พิจารณาตรวจสอบเรื่องนี้ได้ ฉะนั้นการที่ กกต.ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สุจริตใจ คือหากว่าเรื่องนี้ กกต.ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรที่จะมาแสดงพฤติกรรมที่เกรงกลัวการตรวจสอบ
ในเมื่อ กกต.เคยทำหน้าที่ตรวจสอบพรรคการเมือง ตรวจสอบ ส.ส.มาเพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่มีผู้มาร้องเรียนขอตรวจสอบ กกต.บ้างกลับออกมาโวยวายแบบนี้มันแปลก ทำให้ทุกฝ่ายคิดว่ามีเจตนาอะไรซ่อนเร้นหรือเปล่า
นพ.เหวง กล่าวต่ออีกว่า เรื่องที่หลายฝ่ายคลางแคลงใจอีกเรื่องคือ อยากจะท้วงถามถึงเรื่องบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์เหลืออีก 44 ล้านใบ จากการคำนวณการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง คือ 55 บวก 53 เป็นตัวเลขที่ต้องพิมพ์บัตร 108 ล้านใบ แต่มีการใช้ไป 64 ล้านใบ ยังเหลืออีก 44 ล้านใบ
ฉนั้น กกต.ควรจะนำเอาบัตรที่เหลือออกมาแสดงให้สาธารณะชนได้ทราบ ซึ่งม่ควรปล่อยให้เนินนานขนาดนี้ เพราะห่างจากวันเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 4 เดือนกว่าแล้ว ตรงนี้ถึงคราวที่จะนำมาแก้ข้อกล่าวหาว่าบัตรเลือกตั้งที่เหลือยังอยู่ครบถ้วน แต่ถ้ามีอยู่ไม่ครบ 44 ล้านใบต้องแถลงให้ชัดเจนว่าหายไปไหนเอาไปทำอะไร ซึ่ง กกต.ต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง ถ้าตอบไม่เรื่องไม่ได้ก็จะก่อให้เกิดความน่าสงสัยว่า กกต.ทำอะไรบัตรเลือกตั้งที่เหลือ
ในส่วนของเรื่องการพิมพ์เลือกตั้งล่วงหน้า ที่มีการพิมพ์มากเกินความจำเป็น ก็เป็นข้อสัเกตอีกอย่างว่าทำไมต้องพิมพ์มากขนาดนั้น ซึ่งตนยังมีข้องกังขาอยู่อีกมากถึงแม้ว่า กกต.ได้ออกมาชี้แจงให้ทราบแล้ว ซึ่ง ดร.โคทม อารียา และ นายยุวรัตน์ กมลเวชช อดีต กกต. ก็ยังออกมากล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า โดยทั่วไปนั้นจะมีการพิมพ์แค่พอดีจำนวน
แต่ถ้าหากว่าจะมีส่วนที่เกินก็จะมีเพียงแค่ 5% เท่านั้น แต่หากลองคำนวณดู เอาจำนวนประชากรผู้มีสิทธิ 45 ล้านคน และมีการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 53 ล้านใบ ซึ่งจะเกินมาตั้ง 8 ล้านใบ คิดเป็น 10% ซึ่งมันเกินความจำเป็น เรื่องนี้ถึงมีการอธิบายมาก็คงฟังไม่ขึ้น
หรือหากว่านับการพิมพ์บัตร ส.ส.สัดส่วน 53 ล้านใบ พิมพ์เกิน 10 ล้านใบ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็อยู่ที่ 15 % เรื่องนี้มันแย้งกับที่ดร.โคทมและนายยุวรัตน์กล่าวไว้ แลัวทำไมทั้ง 2 ท่านถึงทำได้
แต่ถ้าหากจะอ้างว่า มีการเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งในเขตและนอกเขตหรือจะที่เป็นเลือกตั้งต่างประเทศจำนวนจริงก็ประมาณ 2 ล้านคนเท่านั้น แต่กลับมีการพิมพ์เพิ่มมาตั้ง 8 ล้านใบ
เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาคงต้องทำให้หลายฝ่ายเข้าใจด้วย
ส่วนเรื่องที่ด้าน กกต.มีการแบ่งให้มีการจัดจ้างสถานที่พิมพ์บัตรเลือกตั้งออกเป็นหลายแห่ง เรื่องนี้อาจพอฟังได้ถ้ามองในแง่ที่ว่าต้องการความรวดเร็วในการพิมพ์ แต่ถ้าหากว่ามีการบริหารจัดการดีๆ ก็สามารถมีการพิมพ์ให้เสร็จได้ภายในสถานที่พิมพ์แห่งเดียว เพราะฉะนั้นการไปแยกออกไปพิมพ์ในหลายส่วนทำให้ดูแล้วเกิดข้อพิรุธได้ จากที่มีการอธิบายจาก กกต.มาว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ว่าโดยดูจากประสิทธิภาพของโรงพิมพ์แล้วเชื่อได้ว่าน่าจะสามารถทำให้เสร็จได้ภายในที่แห่งเดียว
นพ.เหวง กล่าวงด้วยว่า อยากเรียกร้องให้ กกต.ออกมาชี้แจงเรื่องบัตรเลือกตั้งที่มีการพิมพ์เหลือ 44 ล้านใบว่าอยู่ที่ไหนและอยากให้นำออกมาเพื่อแก้ข้อกังขาเพื่อให้เกิดความสบายใจของทุกฝ่าย ซึ่งถ้าหากว่าไม่สามารถชี้แจงเรื่องนี้ได้ ก็คงอาจเกิดคำถามต่อว่าบัตรเลือกตั้งที่เหลือหายไปไหน และนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับใครบ้างหรือเปล่า
อีกทั้งอยากเรียกร้องให้ทาง กกต. ให้อำนวยความสะดวกกับทาง DSI ไม่ใช่ว่าจะมาตั้งป้อมทะเลาะเบาะแว้งผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ตรงนี้มันส่อให้เห็นว่ามีอะไรที่ปกปิดอยู่