กรุงเทพฯ 4 พ.ค. - ชูศักดิ์ ศิรินิล ระบุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเสนอสภา ต้องผ่านความเห็นชอบของพรรคการเมืองก่อน ยืนยันใช้ช่องทางของสภาแก้ไข เชื่อหากใช้เหตุผลจะไม่มีเหตุรุนแรง ย้ำถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ใครมาเป็นรัฐบาลก็อยู่ลำบาก นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมการประสานงาน (วิป) รัฐบาล ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวไทย ถึงกรณีที่หลายฝ่ายประกาศเคลื่อนไหวคัดค้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน ว่า ตนเพียงแค่ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วให้พรรคการเมืองไปหารือกัน ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้จัดทำขึ้น เป็นร่างที่เป็นกลางที่สุด เนื่องจากนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นตัวตั้ง และหากอยากจะปรับปรุงแก้ไขเรื่องใดสามารถแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการวิสามัญของสภาได้ และกรรมาธิการฯ อาจจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น สามารถทำได้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291 บัญญัติให้ ส.ส.และ ส.ว. แก้รัฐธรรมนูญได้ ทางพรรคจึงดำเนินการตามช่องทางที่ให้อำนาจไว้ เชื่อมั่นว่า หากการแก้ไขทำอย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช้เกมนอกกติกา หรือตั้งเป้าว่าแก้ไม่ได้ คิดว่าน่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง ดังนั้น รัฐบาลจึงได้พยายามอธิบายด้วยเหตุด้วยผลว่า เพราะเหตุใดจึงต้องแก้ไข และถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว จะเกิดผลอย่างไร ซึ่งตนขอย้ำว่าหากไม่แก้ไข ใครมาเป็นรัฐบาลก็อยู่ยาก “ผมสังเกตดูคนที่บอกว่าแก้ไม่ได้ เป็นคนที่มีส่วนได้เสียกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นคนยกร่างมาบ้าง ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ บ้าง แต่ผมคิดว่า คงไม่มีกระบวนการอะไรรุนแรง ไม่อยากมองว่ากระแสปลุกขึ้นหรือไม่ เราน่าจะมองด้วยเหตุด้วยผล” นายชูศักดิ์ กล่าว ส่วนที่ฝ่ายค้านยังมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล เป็นการทำเพื่อตัวเอง หนีคดียุบพรรค โดยเฉพาะการกำหนดอายุของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบันให้เหลือเพียง 180 วันนั้น นั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตอนร่างไม่ได้คิดว่า ป.ป.ช. หรือ กกต. เป็นศัตรูหรือคู่อาฆาต แต่หากดูตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งมี ส.ว. แต่งตั้ง ก็ยังให้อยู่ครึ่งวาระ เพราะเมื่อมีกฎหมายใหม่ จะต้องมีกระบวนการในการจัดทำองค์กรขึ้นใหม่ ทั้ง กกต. และ ป.ป.ช. ชุดนี้ ต้องยอมรับความจริงว่า ไม่ได้มาตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ แต่ถูกแต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แล้วให้ดำรงตำแหน่ง 7 ปี หรือ 9 ปี ดังนั้น ควรต้องมีการสรรหาใหม่ ส่วนองค์กรอื่น เมื่อมาตามกระบวนการตามกฎหมายก็ไม่มีปัญหา.- สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-05-04 16:50:41