พรรคพลังประชาชน 3 พ.ค.-“ร.ต.อ.เฉลิม” พบสมาชิกพลังประชาชนภาค กทม. เสนอ 4 แนวทางเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของกทม. เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ พร้อมขอมติที่ประชุมเพื่อขอ “ประชา ประสพดี” ให้ยุติระดมคนเคลื่อนไหวชนกลุ่มพันธมิตรฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.00 น.พรรคพลังประชาชน ภาคกทม.จัดสัมมนาเรื่อง “การบริหารจัดการภาคกทม.” โดยผู้ที่เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกกรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคพลังประชาชน โดยมีนายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล ประธานคณะกรรมการประสานงานภาค กทม.เป็นประธานการประชุม และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาร่วมบรรยาย โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า สมัยที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอให้พรรคผลักดัน พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. แต่ก็ได้รับการคัดค้าน ซึ่งเป็นความตั้งใจมานานที่อยากจะเปลี่ยนแปลง กทม. เพราะการบริหาร กทม.เปรียบเหมือนการบริหารอำนาจ 3 ส่วน คือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ทั้งยังมีงบประมาณจำนวนมากโดยมีผู้ว่าฯ กทม.เป็นเหมือนนายกรัฐมนตรี “ที่ผ่านมาภารกิจของผู้ว่าฯ กทม. มีจำนวนมาก แต่การบริหารงบประมาณขาดธรรมาภิบาล และความโปร่งใสในการตรวจสอบ จึงขอเสนอแนวทางเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการ กทม.โดยควรจัดตั้งกระทรวงนครหลวงจำนวน 50 เขต รวมเขตรอบตะเข็บปริมณฑลบางส่วนมาเป็นเขต กทม.ด้วย มีรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารจัดการ และเมื่อมีการเพิ่มเขตปกครอง นายกเทศบาลแต่ละเขตก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้เคยคิดร่วมกับนายพิจิตต รัตตกุล สมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ควรแบ่งพื้นที่ กทม.ออกเป็น 4 ส่วน คือ ฝั่งพระนคร 3 ส่วน ฝั่งธนบุรี 1 ส่วน ซึ่งอาจมีการเลือกตั้งผู้ว่า ฯ ให้ดูแลจำนวน 4 คน การจัดตั้งเทศบาลนครหลวงจำนวน 12-50 เขต ตามเกณฑ์ประชากร เพื่อกระจายอำนาจให้ประชาชนได้เลือกผู้ปกครอง และมีความใกล้ชิดกับผู้บริหารมากขึ้น รูปแบบการจัดตั้งกระทรวงเหมือนการปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งประเทศ ซึ่งข้อเสนอนี้จะให้ภาค กทม.ของพรรคหารือกันว่าเห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือไม่ นอกจากนี้ ภาค กทม.ต้องส่งตัวแทน ไปดูติดตามดูงานที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อที่จะได้รับทราบภาพรวมของ กทม.ด้วย”ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเคลื่อนไหวเอาม็อบมาชนม็อบและทราบว่าสมาชิก กทม.เห็นด้วยกับตนแน่ และวันนี้จะได้เจอนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ ในฐานะโฆษกกลุ่มมหาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งจะขออ้างมติภาค กทม.ที่เห็นว่าไม่สมควรจัดม็อบชนม็อบ ขอให้นายประชายุติการจัดการชุมนุม แต่แสดงความเห็นได้ ทั้งนี้ รัฐบาลมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย หากชุมนุมกัน จะทำให้มีการนำไปเป็นข้ออ้างเหมือนวันที่ 19 กันยายน 2549 อีก ร.ต.อ.เฉลิม ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ว่าจะขอร้องนายประชา เพราะเกรงว่าจะเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชน ว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะจัดประชาชนมาเผชิญหน้าแล้วนำไปสู่การทะเลาะกัน จะไม่ยอมให้มีเด็ดขาด จึงได้ขอมติสมาชิกในเขต กทม.ว่าแนวคิดนี้ถูกต้องหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องคุยกันในพรรค ไม่ใช่พบในฐานะ รมว.มหาดไทย เมื่อสมาชิกของ กทม.เห็นด้วยก็จะนำเรื่องนี้บอกกับนายประชา ซึ่งจะพบกันในงานที่วัดสวนส้ม ก็จะขอร้องนายประชา ว่าหากจะเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นตนเห็นด้วย แต่ขออย่านัดชุมนุมหรือพาประชาชนเข้ามาต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มั่นใจว่าพูดกันรู้เรื่อง ต่อข้อถามว่า การประกาศต่อสู้กันแบบตาต่อตาฟันต่อฟันจะทำให้เกิดผลกระทบอะไรหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตาต่อตาฟันต่อฟัน หมายถึงการต่อสู้กันทางความคิด ถ้าพันธมิตรพูดมาไม่ถูกเราก็ต้องตอบโต้ เป็นการแสดงความคิดเห็น จะให้พันธมิตรพูดอยู่ฝ่ายเดียว คนฟังบ่อยๆ ก็จะเชื่อ อะไรที่ไม่จริงต้องตอบโต้ ในเรื่องการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่กรณีเอาประชาชนมาปะทะกัน. - สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-05-03 18:24:59