“จาตุรนต์” ออนไลน์แถลงข่าวข้ามประเทศ เห็นเค้าลางกลไก รธน. 50 ก่อวิกฤติใหญ่ทั้งการเมือง-เศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มก๊วนเดิม พันธมิตรฯ จ้องสร้างเรื่อง ดึงทหารยึดอำนาจอีกรอบ แนะต้องรับแก้ไขด่วน แนะดึง สสร.40 หารือ ตั้ง สสร.3 ขณะที่ ส.ว. เสียงแตก 2 ฝ่ายหนุนตั้งหรือไม่ตั้ง สสร. ดึง สสร.40 ร่วมถก สสร.3 อ่านรายละเอียด ประชาทรรศน์
เมื่อเวลา10.30 น. วันที่ 5 พ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้แถลงข่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนกับสื่อมวลชนที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ย่านประชาชื่น เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า จากการติดตามข่าวสารการเมือง เห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารที่ผ่านมา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้กลไกของระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ ไม่แก้ปัญหาประเทศและตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยสิ่งเหล่านี้เป็นไปตามการออกแบบรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร หากไม่รีบแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว จะก่อตัวให้เกิดเป็นวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญควรครอบคลุมปัญหาทั้งหมด โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ส่วนการคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญนั้นมีได้ แต่คิดว่าการคัดค้านได้กลายเป็นการปกป้องรัฐธรรมนูญคือ ไม่ยอมให้แก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่เมื่อก่อนก็ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญมีข้อเสียที่ต้องแก้ไขอีกมาก และสิ่งที่ร้ายกว่านั้นคือ เกิดการเบี่ยงเบนประเด็นเป็นอื่น เพื่อมุ่งทำลายฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งเรียกร้องการยึดอำนาจคือให้ฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้งนั่นเอง
นายจาตุรนต์ ยังกล่าวให้ความเห็นถึงการกล่าวหาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับผู้แก้ไขอยู่แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับรัฐบาลและรัฐสภามาก และรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาที่มาจากประชาชนเป็นผู้ที่มีอำนาจแก้ไข ฉะนั้น การบอกว่าแก้ไขเพื่อตัวเองนั้น ความจริงคือรัฐสภาและรัฐบาลมีอำนาจ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับรัฐสภาและเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่การแก้ไขนั้นจะเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ ขอเสนอว่า หากระดมความเห็นจากหลายฝ่ายมาช่วยกันคิดและแก้ไข แบบไม่ตั้งป้อมใส่กัน ก็จะหาข้อสรุปได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่ใช่เป็นประโยชน์กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
นอกจากนี้ ที่อ้างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้คนทำผิดไม่ต้องรับโทษนั้น หากเป็นเช่นนั้นจริง คนส่วนใหญ่รับไม่ได้และไม่ควรทำแบบนั้น แต่ปัญหาของรัฐธรรมนูญคือ กำหนดให้ผู้ไม่ได้ทำผิดร่วมรับโทษกับการกระทำความผิดของคนอื่น ตรงนี้ขัดหลักยุติธรรม และมุ่งทำลายกลุ่มบุคคลโดยไม่คำนึงผลเสียหายของระบอบประชาธิปไตย
ส่วนข้อเสนอจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.3) ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายจาตุรนต์ยืนยันว่า น่าจะดีกว่าและเป็นประโยชน์ และหวังว่าการหารือของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในวันพุธที่ 7 พ.ค.นี้ จะหาข้อสรุปได้ และควรตั้ง สสร. 3 โดยอาจเชิญ สสร. 2540 เข้ามาหารือควรทำแบบใด แต่อำนาจการกำหนดคุณสมบัติ สสร. 3 ก็อยู่ที่รัฐบาล
อย่างไรก็ตาม หากไม่ตั้ง สสร.น่าจะทำได้ยากกว่าและไม่น่าจะสำเร็จ เพราะหากในช่วงแก้ไขเกิดเสียงคัดค้านมากกว่าเสียงสนับสนุน หรือพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอาจถอยได้ ฉะนั้น ขอย้ำว่า อำนาจในการแก้ไขเป็นของรัฐบาลและรัฐสภา แต่ตนเสนอวิธีในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและลดความรู้สึกที่เป็นการแก้ไขกันเองในกลุ่มเล็กๆ