คอลัมน์ : Cover story เป็นเวลา 2 ปีเต็ม ที่คณะนายทหารในนามของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งต่อมาคือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 โค่นรัฐบาลและรัฐสภาจากการเลือกตั้ง ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน ฯลฯ
ยุติการเมืองพันธมิตรฯ
สร้างสรรค์ประชาธิปไตย
การรัฐประหารครั้งนั้นสำเร็จลงได้โดยการบงการของ มือที่มองไม่เห็นผู้มากด้วยบารมี และโดยความร่วมมือกันผลักดันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักการเมืองเกือบทุกพรรค สถาบันตุลาการ สื่อสารมวลชนแทบทุกแขนง นักวิชาการ ชนชั้นสูง ราชนิกูล องค์กรประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจอมลวงโลกทั้งหลาย ตลอดจนกลุ่มทุนในเครือข่ายของเผด็จการที่เสียประโยชน์จากการเติบโตของระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ กล่าวได้ว่า เป็นการรัฐประหารที่สามารถสร้างแนวร่วมได้กว้างขวางที่สุดเท่าที่เคยมีมา และประสบความสำเร็จในการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตยได้อย่างยาวนานต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเป็นคณะรัฐประหารที่ชั่วร้ายที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมาคณะหนึ่ง
ภายหลังจากยึดอำนาจ ฝ่ายเผด็จการได้พยายามสืบทอดอำนาจโดยตั้งองค์กรและสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชั่วคราว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ การขยายอำนาจและงบประมาณของกองทัพออกไปอย่างกว้างขวาง ตลอดจนองค์กรที่ใช้อำนาจกึ่งตุลาการทั้งหลาย เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ร่วมด้วยช่วยกันคอยเป็นแขนขาให้กับการสืบทอดอำนาจอย่างแข็งขัน นอกจากนั้นยังพยายามบั่นทอนระบบพรรคการเมืองให้อ่อนแอด้วยการยุบพรรค ตัดสิทธินักการเมืองย้อนหลัง การเข้าไปแทรกแซงบงการการตั้งพรรคการเมืองใหม่ การเข้าไปบงการจับขั้วทางการเมืองของพรรคการเมืองที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ฯลฯ ที่สำคัญที่สุดคือ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อสร้างพิมพ์เขียวปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมการเมืองไทยเสียใหม่รองรับการสืบทอดอำนาจ โดยอาศัยกระบวนการประชามติลวงโลก
แต่กระบวนการสืบทอดอำนาจก็มิได้ราบรื่น เพราะมีการต่อต้านเกือบจะทันทีที่มีการทำรัฐประหาร และขบวนการต่อต้านได้เติบโตเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ ไม่เว้นแม้แต่ในการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญเผด็จการ ก็ถูกใช้เป็นวิธีการหนึ่งในการต่อต้านเผด็จการ ดังนั้นหลังเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 กระบวนการสืบทอดอำนาจก็แทบจะสะดุดหยุดลงไป และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฟื้นฟูประชาธิปไตยก็กลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
การกลับมาเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ครั้งใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา คือปฏิกิริยาตอบโต้เพื่อสกัดกั้นมิให้สามารถฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จ โดยใช้ข้ออ้างในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้ยกระดับเป็นขับไล่รัฐบาล และโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย โดยเสนอ “การเมืองใหม่” เพื่อสานต่อการสืบทอดอำนาจที่ยังค้างคาและชะงักงันลงชั่วคราวให้สำเร็จ เช่น ข้อเสนอแต่งตั้ง ส.ส. จากตัวแทนอาชีพ (ข้อเสนอเบื้องต้นคือ เลือกตั้งร้อยละ 30 แต่งตั้งร้อยละ 70) ข้อเสนอให้ทหารทำรัฐประหารได้ในบางกรณี เป็นต้น
การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ แท้จริงแล้วคือรูปแบบล่าสุดของเผด็จการแบบไทยๆ ที่พยายามขจัดการเมืองของประชาชนในระบบเลือกตั้งออกไป พันธมิตรฯ รู้ดีว่าไม่สามารถปฏิเสธการเลือกตั้งได้อย่างสิ้นเชิง จึงต้องลดทอนให้เหลือการเลือกตั้งเพียงบางส่วน เพื่อมิให้การเลือกตั้งเป็นตัวตัดสินว่าใครควรเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน นั่นคือ ถึงแม้จะยังคงมีการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีอำนาจที่แท้จริง แต่อำนาจจะไปอยู่ในมือคนที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือผู้มีอำนาจที่แท้จริงก็คือมือที่มองไม่เห็นที่คอยควบคุมสมาชิกสภาจากการแต่งตั้งนั่นเอง
ในโอกาสครบรอบ 2 ปี ของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นปช. ขอประกาศว่า
1.นปช. จะสนับสนุนและปกป้องรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ รวมทั้งพร้อมตรวจสอบรัฐบาลและรัฐสภาเพื่อให้สามารถทำงานแก้ปัญหาของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
2.นปช. คัดค้านการรัฐประหารทุกรูปแบบที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งการรัฐประหารโดยใช้กำลังทหารและรัฐประหารด้วยวิธีการอื่น รวมทั้งการรัฐประหารโดยใช้กำลังมวลชนเข้ายึดอำนาจรัฐดังเช่นที่พันธมิตรฯ พยายามกระทำในเช้าตรู่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 และ นปช. จะออกมาต่อต้านทันทีที่เกิดการรัฐประหารขึ้น
3.นปช. จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมือง เพื่อกำจัดอำนาจนอกระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้สิ้นซาก
4.นปช. จะผลักดันให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ ตลอดจนยกเลิกผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งหมด
5.นปช. คัดค้านและจะต่อต้านการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ตลอดจนแนวทางการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการเมืองใหม่ให้ถึงที่สุด เพราะการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ คือรูปแบบล่าสุดของระบอบเผด็จการแบบไทยๆ เป้าหมายที่แท้จริงของพันธมิตรฯ คือ การสร้างระบบการเมืองที่อำนาจสิทธิ์ขาดทางการเมือง ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อยู่กับมือที่มองไม่เห็นผู้มากด้วยบารมีแต่เพียงผู้เดียว นปช. จะร่วมมือกับผู้รักประชาธิปไตยทั่วประเทศ หยุดยั้งพันธมิตรฯ มิให้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนสร้างความแตกแยกแผ่ซ่านไปทั่วทั้งสังคมและหยั่งรากลึกยากเยียวยามากกว่าที่เป็นอยู่
สุดท้ายนี้ นปช. และพี่น้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ณ สนามหลวงแห่งนี้ ขอน้อมรำลึกถึงวีรชน นวมทอง ไพรวัลย์ และ ณรงศักด์ กรอบไธสง 2 ชีวิตที่สูญเสียไปจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และมวลชนผู้บาดเจ็บอีกหลายสิบชีวิตมา ณ โอกาสนี้ และขอเป็นกำลังใจให้กับมวลมหาประชาชนที่ยังมีจิตใจต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทุกคน พวกเราจะยังคงยืนหยัดต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันต่อไปจนกว่าระบอบประชาธิปไตยจะได้ชัยชนะ และจนกว่าอำนาจสูงสุดจะเป็นของประชาชนทุกคน
2 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
อย่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว
ร่วมกันกำจัดพันมิตรฯ-ยุติการเมืองใหม่ สร้างสรรค์ประชาธิปไตย
แถลง ณ สนามหลวง
แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
19 กันยายน 2551