* ร่างแก้ไขรธน.50ฉบับคปพร.บรรจุวาระวันนี้
เรียงหน้าทักท้วงแนวคิดแก้ไข ม.291 เปิดช่องตั้ง สสร.3 “องค์กรประชาธิปไตย” ระบุเป็นการลิดรอนอำนาจประชาชนและลดบทบาท ส.ส. มิหนำซ้ำน่าห่วงที่สุดคือตัวบุคคลที่จะเข้ามารับหน้าที่ ต้องกำหนดให้ชัดไม่มีความเกี่ยวพันเผด็จการทั้งทางตรงและทางอ้อม และต้องไม่เคยออกมามีบทบาทฝักใฝ่กบฏพันธมิตร ชี้เดินหน้าแก้ไข รธน.50 ตามที่ภาคประชาชนเสนอไว้ก็น่าจะเป็นทางออกแล้ว ด้าน “คปพร.” พบลุงชัย วันนี้ขอคำมั่นบรรจุเป็นวาระเข้าสู่สภาฯ ขณะที่ “นักวิชาการ” ไม่เชื่อตั้ง สสร. จะเกิดประโยชน์ แค่เป็นการทำให้เชือกที่ตึง หย่อนลงบ้างเท่านั้นเอง
* นักวิชาการเปรียบ สสร.ไม่ใช่หมี่สำเร็จรูป
ท่าทีของรัฐบาลที่เตรียมจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง สสร.3 ขึ้นมานั้น ยังเป็นประเด็นที่อยู่ในความกังขาของใครหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน และองค์กรประชาธิปไตย ที่เป็นห่วงทั้งที่มาและแนวคิดของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะหากได้ตัวแทนที่ฝักใฝ่เผด็จการ และไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ตั้งสสร.3ลิดรอนอำนาจประชาชน
นพ.เหวง โตจิราการ คณะกรรมการเพื่อประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในมาตรา 291 เนื่องจากมองว่ามาตราดังกล่าวมีความรัดกุม และเปิดโอกาสให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ การจะมาแก้ไขมาตราดังกล่าวเพื่อแต่งตั้ง สสร.3 เป็นเหมือนการปฏิเสธอำนาจของประชาชน แล้วหันไปเคารพอำนาจอธิปไตย
อีกทั้งมีหลายอย่างในมาตรา 291 ที่เราน่าจะคงไว้ เพราะว่าได้กำหนดกระบวนการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะมาจากรัฐบาล เสียงของ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมถึงเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งตั้งแต่ 50,000 รายชื่อขึ้นไปยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
“การเลือก สสร.3 เราไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านี้จะมาจากไหน สู้สิทธิของประชาชนคงไม่ได้ การไปแก้มาตรา 291 จะเป็นการลิดรอนอำนาจของประชาชน แล้วเอาอำนาจไปให้ใครก็ไม่รู้”
อยากเสนอว่าการที่เราจะเลือกคนที่จะมาเป็น สสร.3 นั้น แทนที่เวลาพูดว่าจะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านกฎหมายสูง ผมมองว่าประเด็นอยู่ตรงที่มีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตยมากกว่า เพราะว่าส่วนใหญ่คนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมายสูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนที่มีจิตวิญญาณในเรื่องดังกล่าวสูง
ต้องรักปชต.-ไม่ฝักใฝ่เผด็จการ
“ผมเสนอแนวทางของการกำหนดคุณลักษณะของคนที่จะมาเป็น สสร.3 ไว้ 2 ข้อคือ 1.คนที่จะมาต้องไม่เคยเป็นสมุนรับใช้เผด็จการทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งก่อนการเตรียมการทำรัฐประหาร ระหว่างการทำรัฐประหาร และหลังจากการทำรัฐประหารเสร็จสิ้นไปแล้ว 2. คนที่จะมาเป็น สสร.3จะต้องไม่สนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมายของกลุ่มพันธมิตรฯทุกชนิด
“ตรงนี้ผมอยากให้กระบวนเลือก สสร.3 มีความชัดเจน การที่จะเลือกคนเข้ามาต้องรู้ว่าคนนั้นมีทัศนคติเป็นทรราชของเผด็จการหรือไม่ จะไม่เอาคนที่รับใช้เผด็จการมาเป็น สสร.3 อย่างแน่นอน เราไม่สนับสนุนระบบความคิดทรราช”
นพ.เหวงกล่าวด้วยว่าในวันที่ 2 ตุลาคม คปพร.จะเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชัย ชิดชอบ เพื่อติดตามการบรรจุร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คปพร. เข้าเป็นวาระเร่งด่วน
“ผมว่าหากรัฐบาลจะคิดเรื่อง มาตรา 291 ก็ควรที่จะนำร่างที่ทาง คปพร.ได้ร่างไว้พิจารณาก่อน อยากให้ประธานสภานำมาพิจารณาเพื่อเข้าสู่วาระการประชุมเร่งด่วน เพื่อให้ทางสภาได้พิจารณา และอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการแก้กฎหมายที่เราได้ร่างขึ้น ไม่ได้ทำมาเพื่อเอาใจใคร หรือต้องการช่วยพรรคไหนก็ตาม แต่เราทำเพื่อความถูกต้อง”
อย่ามองข้ามสภา-ประชาชน
ด้าน นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท ไม่เห็นด้วยเช่นกันที่จะเปิดทางให้มี สสร.3 โดยกล่าวว่า หากมีการตั้งขึ้นมาก็เท่ากับว่า สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีความหมายใดๆ เลย ทั้งๆ ที่มีหน้ามาเป็นตัวแทนภาคประชาชน ที่มีหน้าที่ในการทำหน้าที่ของด้านนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการร่างกฎหมายขึ้นมา มาทำหน้าที่แทนประชาชน เมื่อเป็นอย่างนี้ตัวแทนจากภาคประชาชนก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
ในเมื่อภาคประชาชนที่ได้ทำตามกระบวนการขั้นตอน ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 291 นั้น ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ในเมื่อช่องทางที่ 1 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 291 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐบาลไม่สามารถจะดำเนินการได้ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 291 ในช่องทางที่ 2 ในการใช้กระบวนการของการลงชื่อของ ส.ว. และ ส.ส. จะไม่สามารถดำเนินการเหลือช่องทางสุดท้ายคือรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง 50,000 รายชื่อ
ห่วงสรรหา สสร.เข้าอีหรอบเดิม
“ในเมื่อเป็นอย่างนี้ทำไมยังต้องเลือกที่จะตั้ง สสร.3 ขึ้นมาอีก ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีบัญญัติไว้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ในเมื่อเกิดมี สสร.3 ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาก็ได้มีการตั้ง สสร.3 ขึ้นมาแล้ว กลัวว่าจะกลายเป็นพวกคนที่หามเสลี่ยงให้พวกเผด็จการได้เข้ามาปฏิรูปการเมือง กลายไปสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตย”
แต่ถ้าหากว่าทางรัฐบาลยังคงที่จะขืนแข็งมีการแต่งตั้ง สสร.3 ต่อไปผมมองว่า คนที่จะมาเป็น สสร.ต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่ผ่านจากช่องทางในการสรรหา ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะกลับไปสู่ขบวนการอย่างเดิมอีก ทางที่ดีต้องเป็นแนวทางที่มาจากตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนเรื่องของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ได้ถึงมือประธานสภาแล้ว จะได้รับการบรรจุเป็นวาระเพื่อการพิจารณาต่อไปหรือไม่คงต้องรอให้ประธานได้พิจารณา และทางประธานวิปรัฐบาลก็จะต้องเป็นคนเสนอเรื่องในที่ประชุมสภาเพื่อให้มีการพิจารณาต่อไป
“เราดำเนินการเรื่องดังกล่าวไปนานแล้ว แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เราได้ทำลงไปจะไม่ได้รับความสำคัญเลย ไม่รู้มันเกิดอะไรขึ้น แทนที่ทางรัฐบาลจะสนใจกับสิ่งที่ภาคประชาชนทำ กลับไปฮือฮาในเรื่องที่ในเรื่องการตั้ง ส.ส.รที่จะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญก่อน”
สสร.3 มีได้แต่ต้องประชาชนเลือก
ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย กล่าวว่า การที่จะมีการแต่งตั้ง สสร.3 นั้นตนไม่เห็นด้วย และมองว่ากระบวนการดังกล่าวต้องผ่านการเลือกตั้งจากภาคประชาชนของแต่ละจังหวัด ส่วนนักวิชาการใครที่อยากจะเข้ามาเป็นตำแหน่งตรงนี้จะต้องผ่านกระบวนการดังกล่าวเหมือนกัน ให้ประชาชนเขาเลือกเอา เพราะว่านักวิชาการในปัจจุบันเลอะเทอะ ไม่น่าเชื่อถือ
“ถ้าราษฎรอาวุโส อย่าง นพ.ประเวศ วะสี อยากที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวก็จะต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้งของประชาชน จะต้องไปลงสมัคร จะมาถืออภิสิทธิ์อะไรไม่ได้ ต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ เพราะว่าที่ผ่านคนกลุ่มนี้ได้เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาหลายฉบับแล้วก็ถูกฉีกหมด ถ้าคราวนี้ให้คนกลุ่มนี้มาเขียนอีกก็ไม่พ้นที่จะต้องถูกฉีกอีกอย่างแน่นอน” ผศ.จรัล กล่าว
ในส่วนของอธิการบดีทั้ง 24 ท่านที่ได้มีการเสนอแนวคิดในการแต่งตั้งคณะปฏิรูปการเมืองการปกครอง ถ้าอยากที่จะเข้ามาสู่กระบวนการดังกล่าวก็จะต้องผ่านกระบวนการเดียวกัน คือการเลือกตั้ง ทุกคนต้องมีบรรทัดฐานเดียวกัน มันง่ายไปที่จะเอานักวิชาการนั่งหารือกันแล้วโหวตว่าจะเอาใครเข้ามาดำรงตำแหน่ง
ตามเรื่องบรรจุร่างแก้ รธน.วันนี้
ผศ.จรัล เผยความคืบหน้าการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ภาคประชาชน ว่าขณะนี้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขดังกล่าวได้ถึงมือประธานรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ตนและกรรมการ คพปร. จะเข้าพบประธานรัฐสภา เพื่อขอทราบความชัดเจนว่าประธานจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาหรือไม่ และเมื่อไร อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญระบุไว้อยู่แล้วว่าจะต้องมีการบรรจุเข้าที่ประชุม แต่จะเมื่อไรเป็นอีกเรื่อง ไม่บรรจุไม่ได้ ตราบใดที่มีมาตรา 291 (3) ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอยู่
ส่วนขั้นตอนหลังจากประธานพิจารณาแล้ว จะดำเนินการเข้าสู่การพิจารณา 3 วาระ วาระที่ 1 คือรับเข้าพิจารณา โดยมีคณะกรรมาธิการเป็นผู้พิจารณา วาระที่ 2 ให้มีการพิจารณาแต่ละมาตราว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และในวาระที่ 3 คือการยกมือลงมติว่าควรประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งระยะเวลาการดำเนินการทั้งหมดอย่างเร็ว 3 เดือน แต่ด้วยความที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 3 เป็นต้นไปเกือบทั้งหมด โดยยกหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาประมาณกว่า 200 มาตรา ตรงนี้อาจจะทำให้มีการพิจารณาล่าช้ากว่า 3 เดือน
เชื่อตั้ง สสร.แค่อยากหยุดขัดแย้ง
จากกระแสข่าวที่มีการเปลี่ยนแปลงท่าทีของรัฐบาล ดูจะอ่อนข้อลงไปกับฝ่ายพันธมิตรฯ ผศ.จรัล กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน ส่วนหนึ่งเข้าใจว่ารัฐบาลอาจไม่ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขนี้แล้ว แล้วยังมีครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่เห็นด้วย แต่ถึงอย่างไร ก็จะต้องเดินหน้าผลักดันต่อไป แต่ขอย้ำว่าจะต้องคุยกันก่อน
ส่วนกรณีจะมีการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อีกครั้ง เรียกว่า สสร.3 ตามแต่ที่ทุกคนเข้าใจ แท้จริงแล้วเป็น สสร.5 แล้ว หากต้องการจะจัดตั้ง จะต้องเปลี่ยนแนวคิดที่มาของ สสร.ใหม่ จากการสรรหาเป็นการเลือกตั้งโดยประชาชนเอง จะเห็นได้จากเมื่อครั้งก่อนๆ ที่มีการคัดเลือกมา ขอบอกว่าไม่เห็นด้วยอย่างมาก หากต้องการจะตั้ง สสร.5 ก็ให้แต่ละจังหวัดลงคะแนนเลือกตั้งตัวแทนละ 1 คน ในจังหวัดขนาดใหญ่ตัวแทนละ 2 คน และจังหวัดกลาง 3 คน
แต่เสนอว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องจัดตั้งขึ้นมา เพราะว่ามีรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นฉบับปฏิรูปการเมืองอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาเลือกตั้ง ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายการจัดการเลือกตั้ง กลุ่มพันธมิตรฯ แค่ต้องการจะหาเรื่องเท่านั้นเอง แต่รัฐบาลปัจจุบันที่ตั้งใจจะตั้งสสร.ครั้งนี้ อาจเพียงเข้าใจว่านี้คือทางออกทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาวิกฤติความขัดแย้งบ้านเมืองได้
นักวิชาการเชื่อไม่มีอะไรดีขึ้น
รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการแก้ไขมาตรา 291 ไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายเดิม เพราะไม่รู้รายละเอียดว่ารัฐบาลวางองค์ประกอบของสสร.อย่างไรบ้าง ณ เวลานี้ ปัญหาการแก้ไขระบอบการเมือง โดยให้จัดตั้งสสร. อย่างเมื่อปี 2540 ไม่เหมาะกับสถานการณ์ในตอนนี้ เนื่องจากการเลือกคนที่จะเข้ามาทำงานไม่มีความเป็นธรรม
อย่างในภาคใต้ ประชาชนก็จะเลือกคนที่อยู่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็จะเลือกคนที่มาจากพรรคพลังประชาชน ถ้าใช้วิธีการนี้กลับมาใช้อีกก็จะเกิดปัญหาเหมือนเดิมอีก
การเมืองใหม่เองก็ยังพบว่าระบอบผิดพลาด ไม่มีความเป็นกลาง ดังนั้นควรจะเลือกคนที่มีความเป็นกลางจริงๆ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองอย่างแท้จริงด้วย มองปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ
“ผมไม่เชื่อใจรัฐบาลว่าแก้มาตรา 291 แล้วจะดี มันไม่ใช่ทางออก เพียงแต่ทำให้เชือกที่ตึง มันหย่อนลงเท่านั้นเอง ต้องหานักวิชาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่เข้าข้างฝ่ายพันธมิตร หรือรัฐบาล ใช้คนไม่ต้องเยอะ 5-6 คนก็พอ เพื่อวางกลไกที่รอบคอบทางหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ผมเชื่อว่ากติกากลางของบ้านเมืองยังมี และยังมีนักวิชาการที่เป็นกลางอยู่”
แก้ไข รธน.ไปเลยยังดีกว่า
“การแก้ไขมาตรา 291 ไม่สามารถตอบโจทย์ให้กับบ้านเมืองได้ เข้าใจว่านักวิชาการหลายคนยังหลงประเด็นกันอยู่ การจัดตั้ง สสร. มา ไม่ได้บอกว่าบ้านเมืองจะดีขึ้นโดยทันทีแบบสำเร็จรูป สสร. ไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่จะนำเข้าตู้อบไมโครเวฟแล้ว จะออกมาแก้ปัญหาอะไรได้ ถ้าแก้หิวรับรองว่าได้ แต่กินไปแล้วก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี”
รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 291 ไม่ใช่ทางออก และจะยิ่งไม่มีทางออกเสียอีก ทั้งยังจะวุ่นวายหนัก ทางออกคือไม่ต้องแก้ไข ถ้าต้องการแก้ไขก็ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเลย ไม่ต้องมาแก้ไขแค่มาตรา 291
หากถามว่าตอบโจทย์ปัญหาทางการเมืองขณะนี้ได้หรือไม่ ตอบได้ทันทีว่าไม่ แต่สามารถตอบโจทย์ของพวกที่ต้องการมีอำนาจต่อ โดยยึดถือรัฐธรรมนูญปี 2550 เอาไว้ในมือ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ของกลุ่มที่มีแนวคิดแบบประชาธิปไตย