WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, September 29, 2008

เทิดภูมิ ใจดี กบฏผิดเวลา ผิดที่ หนีไม่พ้น (คอลัมน์ : เราต่างมาจากทั่วทุกสารทิศ)

คอลัมน์ : เราต่างมาจากทั่วทุกสารทิศ

เป็นไปได้ไหมว่า เทิดภูมิ ใจดี เคยผ่านการเลือกตั้ง เคยทั้งได้รับเลือกตั้งและไม่ได้รับเลือกตั้ง คงรับไม่ได้เมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เขาเข้าร่วมด้วย ประกาศระบอบการเมืองใหม่ 70 : 30 เปลี่ยนแปลงการปกครองที่เป็นอยู่ กลับสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตย เป้าหมายการต่อสู้ถอยหลังเข้าคลองเกินกว่าจะรับ

เทิดภูมิ ใจดี คนเคยผ่านป่าเขา ควรจะคิดได้ว่า คนอย่าง สนธิ-จำลอง จะเป็น “ผู้นำ” ที่น่าเชื่อกว่า “สหายนำ” ในอดีตได้หรือไม่ เพราะ “สหายนำ” มิได้นำโดยอัตตาตนเอง หากแต่นำตามแนวทางและนโยบาย “การนำรวมหมู่ของพรรค” ที่ประกาศชัดแจ้งเปิดเผย ต้องการยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นอะไร แม้เห็นว่าผิดพลาด ไม่ถูกต้องอย่างไร ไม่เห็นด้วยเมื่อใดก็สามารถเสนอความขัดแย้งด้วยท่าทีของสหาย หรือกระทั่งถอนตัวออกจากความร่วมไม้ร่วมมือ ไม่ต่อสู้ปฏิวัติต่อไปก็ทำได้ มีตัวอย่างคนละเลิก ถอนตัวออกไปปรากฏในขบวนเป็นระยะๆ ทว่า เทิดภูมิ ใจดี กลับมิสามารถถอนตัวจากพันธมิตรฯ ได้เพราะเหตุใด ระยะหลังเขาเงียบหายไป มีข่าวว่าเขาอึดอัด อยากออกจากทำเนียบรัฐบาล (สถานที่ที่ถูกพันธมิตรฯ ยึดครอง) มีคำถามว่า ทำไมผู้สื่อข่าวไม่สามารถนำเสนอภาพและข่าวของเขาออกมาได้เลย

เทิดภูมิ ใจดี ย่อมไม่เกี่ยวอันใดกับ ธงชัย ใจดี นอกเหนือไปจากการมีนามสกุลเหมือนกัน โดยอาจมิได้เป็นญาติกัน หรือเป็นญาติห่างๆ กันก็ตามแต่ วันนี้เทิดภูมิไม่ดังเท่าธงชัย แต่หากย้อนอดีตไป 35 ปีก่อน เทิดภูมิ ใจดี โด่งดังกว่าธงชัยหลายขุม ชื่อของเขาปรากฏเป็นข่าวหัวไม้หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ทุกฉบับ ในฐานะผู้นำกรรมกร คู่กับ ประสิทธิ์ ไชโย การชุมนุมประท้วงความไม่เป็นธรรมกรณีต่างๆ ที่มีนักศึกษาประชาชนเข้าร่วม ดำเนินไปอย่างดุเดือด เข้มข้นในช่วง 3 ปีตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ท่ามกลางการลอบฆ่าลอบสังหารผู้นำฝ่ายประชาชนคนแล้วคนเล่า เช่น แสง รุ่งนิรันดรกุล ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง อ.บุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย นิสิต จิรโสภณ ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนผู้นำกรรมกรชาวนาอย่าง สำราญ คำกลั่น พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง จนถึงรายล่าสุดแขวนคอสองช่างไฟฟ้านครปฐม ก่อนฆาตกรรมครั้งใหญ่ 6 ตุลา มหาโหด

การข่มขู่คุกคาม ไล่ล่าฆ่าสังหารผู้นำฝ่ายประชาชนดำเนินไปอย่างรุนแรงเปิดเผย แต่ละศพไม่เคยจับตัวคนร้าย คนถืออาวุธจัดการสังหารพวกเรามาลงโทษได้ โดยที่คนถืออาวุธพวกนี้ก็นั่งปกครองบ้านเมืองอยู่เสมือนว่าบ้านเมืองอยู่ในเหตุการณ์ปกติ การเคลื่อนไหวของพวกเราเวลานั้นถูกประกบติดตามทุกวิถีทาง ทั้งส่งสายลับสอดแนม ดักฟังโทรศัพท์ กระทั่งข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ขับรถเฉี่ยวชน ส่งคนไล่ล่า รุมทำร้าย ฯลฯ สารพัดวิธีการ แม้พวกเราจะกระจายกันอยู่ เช่าบ้านแยกกันไปคนละทิศละทางก็ไม่สามารถเร้นรอดกองกำลังลับ และหูตาตำรวจสันติบาลของพวกเขาไปได้ เพื่อป้องกันตัวเอง ผู้นำนักศึกษา ผู้นำกรรมกรต้องหาปืนพกติดตัว เพื่อความอุ่นใจ พวกเราพยายามไม่เดินทางไปไหนตามลำพังคนเดียว ต้องมีเพื่อนไปด้วย และต้องสังเกตระมัดระวังว่ามีใครประกบติดตามเรามาหรือไม่ สถานการณ์ช่วงนั้นตึงเครียดขึ้นเป็นลำดับ จนถึงขั้นที่บางคนไม่สามารถอยู่สู้ในเมืองต่อไปได้ หากดื้อดึงที่จะอยู่อาจจบชีวิตลงแบบเดียวกับที่พวกพ้องเราโดน

เทิดภูมิ ใจดี และ ประสิทธิ์ ไชโย ตัดสินใจเดินทางเข้าป่าพร้อมกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หมอเหวง โตจิราการ จิรนันท์ พิตรปรีชา สมาน เลือดวงหัด เป็นคณะแรกๆ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเส้นทางเดินอ้อมออกไปนอกประเทศทางยุโรปก่อนผ่านเข้าจีนแล้วเข้าสู่แนวหลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่สำนัก A30 แขวงอุดมชัย ประเทศลาว คนกลุ่มนี้ผ่านโรงเรียนการเมืองการทหาร ภายใต้การดูแลของสหายไหม สหายเพชร อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนแยกย้ายกันเดินทางสู่แนวหน้า ทิ้ง สมาน เลือดวงหัด

ซึ่งสุขภาพไม่ดีตกค้างอยู่ A30 จนได้พบกับนักศึกษารุ่นต่อไปซึ่งมี ธีรยุทธ บุญมี ประสาร มฤคพิทักษ์ ชัยวัฒน์ สุรวิชัย วิสา คัญทัพ และเพื่อนพ้อง ที่ตามเข้าไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2519 และเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สำนัก A30 ก็ได้ต้อนรับนักปฏิวัติจากเมืองมากหน้าหลายตา ทั้งนักคิดนักเขียน นักการเมือง ครูบาอาจารย์ นักวิชาการ ทยอยเข้าร่วมประกาศการต่อสู้หนุนเนื่องเป็นระยะๆ

ผมไม่ได้พบ เทิดภูมิ ใจดี เพราะไปถึง A30 เทิดภูมิก็เดินทางไปที่อื่นแล้ว แต่ในอดีตผมกับเทิดภูมิสนิทสนมกันพอควร สำนักงานทนายความธรรมรังสี คือแหล่งพำนักพักพิงของพวกเรา ก่อนเผด็จการจะครองเมือง เรากินนอนกันอยู่ที่นั่น ผูกพันกันแน่นเหนียว ยังจำภาพเพื่อนเราคนหนึ่งเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นแก่หน่อยเพราะเรียนหลายปียังไม่จบ ชื่อจริงผมจำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ชื่อเล่นเพราะชื่อประหลาด ไม่เหมือนใคร ชื่อ “ตื้ด” ครับ ต. อือ ตือ ตือ ด. ใส่ไม้โทลงไปเป็น “ตื้ด” ถูกต้องครับ ตื้ดชอบมายืนกอดอกให้เพื่อนเตะก้น เขาบอกว่ามันช่วยให้เขาคลายเมื่อย ใครเตะก็ไม่ได้น้ำหนักพอดีเท่ากับให้เทิดภูมิเตะ เทิดภูมิกับตื้ดจึงเป็นคู่ซี้ที่สนิทสนมกันมาก เทิดภูมิจะรู้เรื่องราวละเอียดของตื้ดดี ทั้งมีหน้าที่ที่จะต้องเตะก้นตื้ดทุกวันที่เจอกัน ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อบ้านเพื่อเมือง เรื่องราวชีวิตอย่างนี้ก็มีเกิดขึ้นให้ย้อนรำลึกได้มากมาย เพียงแต่ว่าจะหยิบเรื่องใดมาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น

เพื่อนเราที่อยู่ในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคยร่วมกิน ร่วมอยู่ ร่วมสู้รบ ในอดีตด้วยกันมามีหลายคน ด้วยความคิดถึงและเป็นห่วง ด้วยความเคารพและนับถือในความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่อาจเข้าใจได้ว่าเขาจะพากันเดินทางไปถึงจุดหมายมุ่งอันใด เขายอมรับการนำเบ็ดเสร็จของ สนธิ ลิ้มทองกุล และ จำลอง ศรีเมือง ได้โดยสุดจิตสุดใจเยี่ยงนั้นหรือ เขาเห็นด้วยกับระบบการเมืองใหม่ 70 : 30 ทั้งต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่ยุคอำมาตยาธิปไตย จะเอากันอย่างนั้นหรือ ไม่น่าเชื่อ แต่ก็เป็นไปแล้ว เพราะพวกเขาเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารอย่างเปิดเผย ซึ่งปรากฏขึ้นแล้วเมื่อ 19 กันยายน 2549 และก็ชัดเจนยิ่งนักเมื่อพวกเขาพากันเงียบเฉย ไม่มีใครออกมาตำหนิติเตียนคณะผู้ก่อการรัฐประหาร มิหนำซ้ำยังนิยมชมชอบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่คลอดออกมาจากครรภ์เผด็จการ ในขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนนิยมชมชื่นและโอนเอียงไปทางพันธมิตรฯ โชคดีที่ประเทศไทยยังมีผู้ใหญ่ที่หนักแน่น มั่นคงในหลักการประชาธิปไตยหลงเหลืออยู่บ้าง

พี่คำสิงห์ ศรีนอก (ลาวคำหอม) นักเขียน นักสู้เพื่อสังคมธรรม ผู้รักชาติรักประชาธิปไตย เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น ที่ยืนหยัดปฏิเสธการชักชวนให้เข้าร่วมแนวทางพันธมิตรฯ ครั้งแรกกระทำการชักชวนโดย ประสาร มฤคพิทักษ์ และครั้งหลัง มีการชักชวนจาก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อีกเป็นคำรบสอง ทว่าได้รับการปฏิเสธอีก จึงไม่ปรากฏชื่อนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ “ลาวคำหอม” ในรายชื่อของบรรดาศิลปินแห่งชาติที่สนับสนุนพันธมิตรฯ นี่เท่ากับเป็นกำลังขวัญ และกำลังใจอันสำคัญให้ประชาชนที่ต้องการปกป้องระบอบประชาธิปไตย ยังมีนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่ยืนหยัดวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมาโดยไม่เลือกข้างอีกหลายคน วิพากษ์ทั้งฟากฝั่งรัฐบาลและพันธมิตรฯ อันกอปรด้วยเหตุผล อย่างเช่น สุชาติ สวัสดิ์ศรี นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสถียร จันทิมาธร สุจิตต์ วงษ์เทศ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ คอลัมนิสต์อย่าง พญาไม้ วงค์ ตาวัน หนุ่มเมืองจันท์ คำผกา เป็นต้น ซึ่งนี่เท่ากับเป็นเสมือนหยาดฝนอันชื่นใจจากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน ช่วยกระตุ้นเร้าให้คนที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวออกมาขัดแย้งกับพันธมิตรฯ ลดความหวาดกลัวลงไปได้บ้าง และรู้สึกว่าตนไม่โดดเดี่ยว

“กลัวพันธมิตรฯ” นี่เรื่องจริงนะครับ กลัวเขาจะเอาชื่อไปด่าใน ASTV หรือบนเวทีปราศรัย ขอไม่เห็นด้วยอยู่เบื้องหลังแบบไม่เปิดเผยตัวดีกว่า ขนาดท่านอุทัย พิมพ์ใจชน นักการเมืองอาวุโส ยังกระซิบบอกกับผมเป็นการส่วนตัวในครั้งหนึ่งว่า มีคนถามว่าทำไมท่านเงียบไป ไม่แสดงความคิดความเห็นทางการเมืองเลย ท่านอุทัยตอบว่า จะให้ผมพูดอะไร บ้านเมืองเวลานี้เขาไม่ได้พูดด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้พูดเอาถูกเอาผิด แต่พูดเพื่อจะฟังว่าเอ็งพวกใครเท่านั้น พูดถูกมันก็ว่าผิดได้ อยู่เงียบๆ ไม่แสดงความเห็นก็ไม่เปลืองตัว อันนี้ผมพูดเองครับ เข้าทำนอง กลัวพันธมิตรฯ จะกระทืบเอานั่นแหละ

สำหรับ เทิดภูมิ ใจดี วนเวียนอยู่รอบนอกพันธมิตรฯ อยู่นาน ไม่รู้ว่าใครไปชักชวน และเข้าไปสายไหน อย่างไร ทันทีที่เห็นหน้าเทิดภูมิปรากฏบนเวทีทางทีวี ผมรู้สึกเสียดาย เสียดายที่ไม่ได้คุยแนวคิดทางการเมืองกับเขา ทั้งๆ ที่ระยะหลังๆ เขาโทร.มาพูดคุยขอให้ผมช่วยเขียนอะไรบางอย่างเพื่องานประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งของเขา ก็ใครจะไปคาดคิดว่าคนที่วนเวียนอยู่กับการเลือกตั้ง อยู่กับประชาชน อยู่ในกฎกติกาประชาธิปไตย สู้มาหลายสมัยจนโชกโชนอย่างเทิดภูมิ จะหลุดขั้วจากความเชื่อเดิมไปได้สุดโต่งขนาดนี้ แต่อย่างว่านั่นแหละ

เมื่อเห็นภาพเอาการเอางานของสหายหญิงจากเทือกเขาภูพาน มาลีรัตน์ แก้วก่า ก็ย่อมปรากฏเงาร่างของ เสี่ยอ๋า ธัญญา ชุนชฎาธาร เจ้าสำนัก “ธรรมรังสี” คนสำคัญ มากันเป็นครอบครัวพร้อมบุตรหนุ่ม แสงธรรม ชุนชฎาธาร Young PAD และยังอีกหลายคนที่วนเวียนอยู่เบื้องหลังเวทีพันธมิตรฯ ย่อมเป็นแม่เหล็กดึงดูด วัตถุที่มีประจุไฟฟ้าในตัวเองอย่าง เทิดภูมิ ใจดี ได้ เสียใจก็ตรงที่เพื่อนเข้าไปทีหลังแต่กลับต้องรับชะตากรรมหนักโดนข้อหากบฏ เป็น 1 ในกลุ่ม 9 แกนนำพันธมิตรฯ ด้วย ได้รับเกียรติสูงส่งกว่าผู้ชักชวนอีกหลายคน แม้จะเข้าร่วมขบวนทีหลังเขา เป็น “กบฏผิดเวลา ผิดที่ หนีไม่พ้น” จำเป็นต้องร่วมหัวจมท้ายไปจนถึงที่สุด

ผมยังคิดไม่ออกจนถึงเดี๋ยวนี้ว่า ทำไมกบฏคนที่เก้าจึงเป็น เทิดภูมิ ใจดี แทนที่จะเป็นคนอื่นซึ่งมีบทบาทมากกว่า

วิสา คัญทัพ