WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, October 2, 2008

ยุคหลังทักษิณ : สงครามยังไม่สิ้นสุด!

คอลัมน์ : ประชาทรรศน์วิชาการ

“ข้าพเจ้าเกลียดการเลือกตั้ง แต่คุณก็จะต้องมีไว้ เพราะการเลือกตั้งคือยา” Stanley Baldwin

หลังจากการเดินทางออกนอกประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ก่อให้เกิดคำถามโดยตรงถึงแนวโน้มการเมืองไทย ซึ่งเราอาจจะเรียกยุคสมัยในช่วงระยะเวลาต่อไปนี้ว่า การเมือง “ยุคหลังทักษิณ” ดังนั้น หากพิจารณาถึงแนวโน้มในอนาคต ก็อาจจะตั้งเป็นข้อสังเกตได้ดังต่อไปนี้

1) การเมืองเชิงนโยบาย
ไม่ว่าเราจะคิดอย่างไรก็ตามกับรัฐบาลทักษิณหรือรัฐบาลไทยรักไทย ที่ขึ้นสู่อำนาจตั้งแต่ต้นปี 2544 และมีชีวิตอยู่จนถึงการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 เราอาจจะต้องยอมรับว่า “ความใหม่” ของการเมืองไทยในยุคสมัยดังกล่าวก็คือ “การขายนโยบาย” การเมืองไทยแต่เดิมเป็นเรื่องของตัวบุคคล มุ่งเน้นความเด่นของตัวคน ก็ถูกแปลงให้มีลักษณะเป็น “การเมืองเชิงนโยบาย” มากขึ้น ด้วยความพยายามในการนำเสนอลักษณะของนโยบายใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจเลือก ตัวแบบของนโยบายที่ถูกเสนอขายที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และแปลงทรัพย์สินเป็นทุน เป็นต้น

ผลพวงของการเสนอขายนโยบายเช่นนี้ทำให้พรรคการเมืองอื่นหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทยในปี 2544 จำเป็นต้องเสนอนโยบายในการรณรงค์หาเสียงทางการเมือง ดังจะเห็นได้ว่า แม้นโยบายที่เน้นการช่วยเหลือคนในระดับล่างจะถูกวิจารณ์อย่างมากว่าเป็น “นโยบายประชานิยม” แต่พรรคการเมืองอื่นก็ดูจะนำเสนอนโยบายในลักษณะเช่นนี้ไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น ผลพวงอย่างสำคัญที่รัฐบาลทักษิณได้ทิ้งเป็นมรดกให้แก่การเมืองไทยก็คือ การเมืองไทยในอนาคตจะมีลักษณะเป็นการเมืองเชิงนโยบายมากขึ้น แม้ว่าบางส่วนจะยังคงมีลักษณะเก่าที่เป็นการเมืองของการชูตัวบุคคลอยู่ก็ตาม แต่หากมองภาพรวมในระดับพรรคแล้ว จะเห็นได้ถึงทิศทางที่ชัดเจนของการที่พรรคการเมืองต้องพัฒนาและนำเสนอขายนโยบายแก่สังคม

2) การเมืองยังคงไร้เสถียรภาพ
ความไร้เสถียรภาพของระบบการเมืองไทยจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป จนกว่าการเมืองแบบการเลือกตั้งของไทยจะสามารถดูดซับเอาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ทางการเมืองนอกเวทีรัฐสภา ให้กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเมืองในระบบรัฐสภา กล่าวคือ จะต้องทำให้การต่อสู้ทางการเมืองมีเวทีในระบบรองรับไว้ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าการต่อสู้ดังกล่าวจะต้องไม่นำไปสู่จุดจบของการเมืองในระบบ หรือนำไปสู่การทำลายการเมืองในระบบเปิด

ในขณะเดียวกัน สังคมไทยก็จะต้องคิดเรื่องของ “การเมืองบนถนน” อย่างจริงจัง กล่าวคือ ทำอย่างไรที่ “การเมืองบนถนน” จะถูกแปลงให้เป็น “การเมืองภาคประชาชน” อย่างแท้จริง อันจะทำให้การเมืองในรูปแบบดังกล่าวเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน มากกว่าจะเป็นการเมืองที่ถูกขับเคลื่อนเพื่อมุ่งประสงค์ให้เกิดความไร้เสถียรภาพ และหวังว่าความไร้เสถียรภาพดังกล่าวจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การกำเนิดของ “ระบอบอำนาจนิยม” ในรูปแบบใดแบบหนึ่งก็ตาม

นอกจากนี้ สังคมไทยมีความเป็น “พหุนิยมทางการเมือง” มากขึ้น จึงทำให้เกิดความแตกต่างในทางความคิดแก่ผู้คนในสังคมโดยทั่วไป หากมองในด้านดีก็คือ เป็นการยกระดับของพหุสังคมไทย ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองต้องการการถกแถลงเพื่อให้เกิดข้อยุติที่ดีที่สุด เป็นประโยชน์มากที่สุดแก่สังคม แต่หากปล่อยให้ความเป็นพหุนิยมที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหา “ความแตกแยก” และขยายวงกว้างออกไปอย่างไม่มีขีดจำกัด ทั้งยังขาด “การบริหารจัดการความขัดแย้ง” เพื่อให้สังคมกลับคืนสู่สภาวะปกติได้แล้ว สังคมการเมืองไทยจะยิ่งมีแต่ความแตกแยกและความไร้เสถียรภาพ จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งขนาดใหญ่ในอนาคตได้ไม่ยากนัก

3) กำเนิดกลุ่มขวาใหม่
นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา การเมืองไทยได้ส่งสัญญาณให้เห็นถึงการกำเนิดของ “กลุ่มขวาใหม่” ที่หวนกลับไปสู่ความเชื่อในเรื่องของ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” แบบในยุคสงครามเย็น ที่มองเห็นแต่ด้านลบของระบบการเลือกตั้ง และต่อต้านระบบการเลือกตั้ง

อุดมการณ์ต่อต้านการเมืองในยุคหลังสงครามเย็นของการเมืองไทยได้ข้อสรุปง่ายๆ ไม่ต่างจากอดีตว่า นักการเมืองพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว คอร์รัปชั่น ทั้งยังไร้ประสิทธิภาพ และไร้ความรู้ในการบริหารประเทศ มีแต่จะนำประเทศไปสู่ความล้มเหลวและการพังทลาย

นอกจากนี้กลุ่มขวาใหม่ยังแอบอิงอยู่กับเรื่องของชาตินิยม และเน้นในเรื่องของความเป็นจารีตนิยม อันอาจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบสุดโต่งในการเมืองไทยได้ง่าย และที่สำคัญก็คือ พวกเขาหวนกลับไปสู่แนวคิดแบบยุคสงครามเย็น ที่มองเห็นว่า ถ้ามีปัญหาทางการเมืองก็ให้ “อัศวินม้าขาว” จากกองทัพเข้ามาเป็นผู้แก้ไข โดยอาศัยกระบวนการยึดอำนาจของทหารเป็นเครื่องมือในการจัดการวิกฤติ ทั้งยังหวังแบบในอดีตว่ารัฐประหารเป็นหนทางของการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง อีกทั้งยังจะเป็นวิธีของการสร้างอำนาจทางการเมืองของกองทัพมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อใช้คานกับอำนาจดังกล่าวของฝ่ายพลเรือน ซึ่งอาจเรียกกลุ่มที่มีกระบวนการคิดในลักษณะเช่นนี้ว่า “ขวาอำนาจนิยม”

ปรากฏการณ์แบบ “ฉวยโอกาสเอียงขวา” จึงกลายเป็นทิศทางที่สำคัญของการเมืองไทยในอนาคต ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็ดูจะขัดกับกระแสโลก ซึ่งมีลักษณะเป็น “ขวาทุนนิยม” ที่ด้านหนึ่งถูกขับเคลื่อนในเวทีสากลด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ กระแสขวาชุดโลกภิวัตน์อีกด้านหนึ่งก็ถูกขับเคลื่อนด้วยแนวคิด “การเมืองเสรีนิยม-เศรษฐกิจเสรีนิยม” และอาจเรียกกลุ่มที่มีแนวคิดดังกล่าวว่า “ขวาเสรีนิยม”

สภาพเช่นนี้กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดความขัดแย้งในปัญหามูลฐานจากความเป็นขวาของแต่ละฝ่าย อันสามารถอธิบายในอนาคตถึงโอกาสของ “การปะทะ” ระหว่างขวาเสรีนิยมกับขวาอำนาจนิยม และผลที่จะเกิดขึ้นก็ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของระบบการเมือง ในอันที่จะสร้างแนวคิดในการบริหารจัดการความขัดแย้งภายในรัฐ เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งดังกล่าวขยายตัวจนไม่อาจควบคุมได้

4) การขยายตัวของกระแสขวา
กระแสขวาใหม่ในลักษณะของ “ขวาอำนาจนิยม” เช่นที่กล่าวถึงในข้างต้นนั้น มีกลไกสำคัญ 2 อย่างที่ใช้ในการสร้างอำนาจเพื่อให้เกิดพลังในการต่อสู้กับการเมืองแบบการเลือกตั้ง ได้แก่
4.1 การขยายบทบาททางการเมืองของสถาบันตุลาการ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ตุลาภิวัตน์” ซึ่งก็หวังว่าจะทำให้การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลดำเนินการผ่านกระบวนการทางกฎหมาย แทนตัวแบบของการยึดอำนาจเช่นในอดีต
4.2 การขยายบทบาททางการเมืองของสถาบันทหาร ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องการรัฐประหารในแบบเดิม แต่เป็นกระบวนการสร้างอำนาจของทหารให้มีความเป็นสถาบันในการเมืองไทย โดยอำนาจเช่นนี้ทำให้เกิดขึ้นได้โดยมีตัวบทของกฎหมายรองรับ เช่น อำนาจของฝ่ายทหารที่เกิดจากกฎหมายความมั่นคงภายใน และปรากฏการณ์เช่นนี้อาจจะเรียกให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในข้อแรกว่าเป็น “เสนาภิวัตน์” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กองทัพมีอำนาจในการเมืองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพากลไกการรัฐประหารแบบเก่า

5) การเมืองแห่งความอ่อนแอ
การเมืองที่ดำเนินการผ่านรัฐธรรมนูญที่เกิดจากกระแส “ขวาอำนาจนิยม” ที่แม้จะยินยอมให้กระบวนการการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้นั้น แต่ก็ผูกเงื่อนปมให้การเมืองเกิดความอ่อนแอในตัวเอง เพราะไม่เพียงแต่จะสร้างให้เกิดความอ่อนแอของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) เท่านั้น หากแต่ยังมุ่งให้เกิดฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ที่อ่อนแอควบคู่กันไปด้วย

ในความอ่อนแอเช่นนี้ กลุ่มขวาอำนาจนิยมเชื่อว่าพวกเขาสามารถควบคุมพลวัตและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยอำนาจที่ถูกใช้ผ่านกระบวนการ “ตุลาการภิวัตน์” และ “เสนาภิวัตน์” และทั้งหากจำเป็นก็จะต้องสร้าง “ประชาธิปไตยชี้นำ” (Guided Democracy) ให้เกิดขึ้น โดยยกเลิก “ประชาธิปไตยตัวแทน” (Representative Democracy) ที่อาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือการตัดสินการมีอำนาจทางการเมือง ดังปรากฏให้เห็นจากข้อเสนอของสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองแบบ 70 : 30” เป็นต้น

6) การเมืองที่ควบคุมไม่ได้
ปัญหาการเมืองบนถนนจะยังคงเป็นวิธีการที่จะถูกนำมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง การที่ไม่สามารถสร้างกติกาการเมืองสำหรับ “การเมืองบนถนน” ให้เกิดขึ้นได้ จะทำให้รัฐบาลที่เกิดขึ้นในอนาคตต้องเผชิญกับการประท้วงที่ไม่สิ้นสุด

ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดที่จะต้องผลักดันก็คือ การทำให้ข้อเรียกร้องของ “การเมืองบนถนน” กลายเป็น “การเมืองเชิงนโยบาย” ที่ข้อเรียกร้องจะต้องถูกสร้างให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและขายกลับคืนให้แก่สังคมในการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือ การทำให้สังคมเป็น “ผู้ตัดสินใจสุดท้าย” โดยมีความหวังว่าจะเป็นการทำให้การเมืองในระบบขับเคลื่อนได้ และไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะจบลงด้วยการรัฐประหาร และเริ่มต้นด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

7) การเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยยังคงก้องกังวาน
แม้การเมืองไทยจะถูกรุกด้วย “กระแสขวาอำนาจนิยม” ที่ต้องการทำให้การเมืองเดินไปสู่ “ประชาธิปไตยควบคุม” และลดทอนพลังของการเลือกตั้ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็หวังว่าจะให้กำเนิดระบอบ “อำมาตยาธิปไตยใหม่” ที่ผลักดันให้ระบบการเลือกตั้งเป็นเพียงกลไกหน้าฉากของการตัดสินเลือกผู้บริหารประเทศ

แต่ก็ต้องตระหนักว่า แม้กระแสขวาอำนาจนิยมจะเปิดการรุกในลักษณะเช่นนั้น การเมืองในเวทีสากลกลับเป็นกระแสเสรีนิยม ดังจะเห็นได้จากแรงกดดันต่อรัฐบาลพม่า หรือความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของนายพลมูชาร์ราฟในปากีสถาน เป็นต้น

เรื่องราวเหล่านี้อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณที่บอกแก่สังคมการเมืองไทยว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้จะต้องประสบกับความยากลำบาก แต่ก็เป็นสงครามที่ไม่สิ้นสุด...และจะยังคงเป็นสงครามที่ดำเนินต่อเนื่องไปสู่อนาคตด้วย!

สุรชาติ บำรุงสุข