คอลัมน์ : คิดในมุมกลับ
ท่านผู้อ่านเคยทะเลาะกับเพื่อนบ้างหรือเปล่า...
สำหรับฉัน การทะเลาะกับเพื่อนเป็นเรื่องอ่อนไหว เปราะบาง และน่าหวาดหวั่นมากกว่าทะเลาะกับคนอื่นที่ไม่ใช่เพื่อน หรือคนสนิทใกล้ชิดเช่นแฟนหรือคนในครอบครัวนัก
เคยถามตัวเองว่าเหตุใดรู้สึกเช่นนั้น ก็ได้ความรางๆ เลาๆ ว่า เพราะเพื่อนเป็นมากกว่าคนรู้จัก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่สายเลือดที่เข้มข้นจนตัดไม่ขาดแบบคนในครอบครัวเช่นพ่อแม่พี่น้อง
ทะเลาะกับคนอื่นเราไม่แคร์ เพราะคิดว่าไม่ได้ขอข้าวเขากิน ทะเลาะกับคนในครอบครัวก็ยังรู้ว่าไม่ได้เกลียดกัน หายโกรธก็ง้อขอคืนดีกันได้...
แต่กับคำว่า “เพื่อน” มันกึ่งๆ อยู่ระหว่าง 2 สถานะนั่น เราจึงทั้งสนิทใจและต้องถนอมมิตรภาพในเวลาเดียวกัน
ระยะหลังมานี้คิดถึงเรื่องนี้บ่อยๆ ทั้งที่ไม่ได้ทะเลาะกับใคร แต่สภาพแตกร้าวทางการเมืองไทยทำให้อดคิดไม่ได้ว่าสักวันต้องทะเลาะกับใครสักคนเข้าหรือเปล่า เพราะเท่าที่เห็นมามีหลายคนที่รู้จักเขาชิงตัดเพื่อนกันไปมากแล้วจากกรณีความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันแบบนี้
เรื่องแบบนี้คนที่ไม่ “อิน” ไม่มีอารมณ์ร่วม ไม่ได้ติดตามการเมืองแบบเอาจริงเอาจัง หรือด้วยชีวิตจิตใจ ไม่มีทางเข้าใจหรอกว่าเหตุใดคนเราต้องยอมทะเลาะกันเพียงเพราะความเชื่อทางการเมืองด้วย...
ประโยคว่า “เห็นต่างก็อยู่ร่วมกันได้” เมื่อนำมาใช้กับบางกรณีมันก็เป็นได้แค่ “ความตอแหล” เท่านั้นแหละ
อันที่จริง มีตัวอย่างของอีกหลายท่านที่คิดเห็นคนละฝั่งกันในทางการเมือง แต่เมื่อประสบพบหน้ากันก็สามารถกอดกันได้อย่างไม่มีเคลือบแคลง ถอดความเชื่อทางการเมืองที่เป็นเพียงสิ่งสมมติไว้ เหลือเพียงความรักและหวังดีของมิตร ซึ่งเชื่อว่าจริงแท้แน่นอนกว่า
ฉันเองก็อยากเป็นได้เช่นนั้น แต่ระยะหลังมานี้เริ่มรู้สึกว่าทำได้ยากยิ่ง อย่าว่าแต่จะเจอหน้ากันเลย แค่อ่านบทความบางชิ้นที่เพื่อนเขียน เลือดก็ทำท่าจะวิ่งขึ้นหน้า น้ำตาเหมือนจะหยดด้วยความเจ็บปวดระคนสลดเศร้า ตั้งท่าจะจับปากกาเขียนโต้ตอบก็มัวแต่คิดมากหลายตลบว่าถ้าเจอหน้าจะมองหน้ากันอย่างไร
สรุปแล้วการเมืองมันร้าย หรือเราจริงจังกับมันไปเอง วานบอกที
ปฏิญา ยอดเมฆ