หลังจากแกนนำพันธมิตรฯ ได้ออกมาเสนอแนวคิดการเมืองใหม่ ให้ ส.ส.มาจากการแต่งตั้งร้อยละ 70 และเลือกตั้งร้อยละ 30 เพื่อให้สังคมพิจารณา ท่ามกลางกระแสคัดค้านว่าเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ต่อมาก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อหลอกชาวบ้าน และพยายามอ้างว่าข้อเสนอใหม่ล่าสุดนี้ จะเปิดทางให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม
24อธิการ-พธม.จูบปากการเมืองใหม่
ล่าสุดในวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย และ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการพัฒนาการเมืองใหม่ว่า แกนนำพันธมิตรฯ เห็นด้วยกับแนวทางจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครองขึ้น ตามที่อธิการบดีมหาวิทยาลัย 24 สถาบันเสนอ โดยเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี ที่ทุกฝ่ายร่วมแก้ไขวิกฤติการเมือง โดยพันธมิตรฯ ยังมีความเห็นตรงกับแนวทางอารยะประชาธิปไตย ที่เสนอโดย นพ.ประเวศ วะสี ราษฏรอาวุโส ที่เห็นว่าการปฏิรูปการเมืองใหม่ต้องเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันพัฒนา และการรณรงค์ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต นายอนุมงคล ศิริเวทิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมแถลงถึงแถลงการณ์ที่อธิการบดีมหาวิทยาลัย 24 แห่งทั่วประเทศร่วมลงลายมือชื่อ
ช่างลงตัว!เสนอ”ประเวศ”นั่งประธาน
แถลงการณ์ระบุว่าให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง เพื่อศึกษาหาแนวทางและข้อเสนอแนะในการปฏิรูประบบการเมืองการปกครองของประเทศ โดยยึดหลักการการเพิ่มบทบาทของการเมืองภาคประชาชน การกระจายอำนาจ การจัดระบบการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่เหมาะสมเป็นธรรม จัดระบบตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมือง ภายในกรอบระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน และขอให้นายกฯประกาศต่อสาธารณะว่าเมื่อได้รับข้อเสนอดังกล่าวแล้วจะนำข้อเสนอไปสู่กระบวนการลงประชามติ หากประชาชนเห็นชอบแล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะได้นำเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามแนวทางดังกล่าวขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาต่อไป
นายสุรพล กล่าวว่าได้นำเสนอ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะสามารถทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการอิสระชุดนี้ได้
"มาร์ค"หางโผล่กระโดดงับทันใจ
แม้แนวคิดการเมืองใหม่จะเสนอออกมาจากหลายๆ ภาคส่วน แต่แนวคิดดังกล่าวก็มีคณะบุคคลใกล้ชิดพันธมาร และสามารถเชื่อมโยงเป็นกระบวนการได้ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร ออกมารับลูกว่าตนเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปเพราะกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ออกมาเรียกร้องเรื่องการเมืองใหม่
ดังนั้นสิ่งที่จะแก้ไขได้คือการปฏิรูปการเมืองก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอยากให้ทุกฝ่ายได้มาหารือกันว่าจะมีกระบวนการปฎิรูปการเมืองอย่างไร เพื่อหาทางออกร่วมกัน
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า นพ.ประเวศ เป็นบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูประบอบการเมืองการปกครอง
นักวิชาการเบรกอย่าฟัง-ไร้สาระ
ด้าน นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตอนนี้ตนไม่ทราบรายละเอียดการปฏิรูปการเมืองของ 24 อธิการบดีว่าเป็นอย่างไร แต่การจะเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองควรให้อำนาจแก่ประชาชนมากขึ้น อีกทั้งทางทีดีควรยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วมาแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 40 ให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น ก็จะเป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย ส่วนข้อเสนอของพันธมิตรฯที่จะให้ ส.ส.มาจากการแต่งตั้ง เปรียบเสมือนการถอยหลังเข้าคลอง หากไม่เอารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นตัวตั้ง ก็เข้าทางกลุ่มพันธมิตรพูด นั่นหมายถึงไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย
เมื่อถามว่ารูปแบบการปฏิรูปการเมืองใหม่มีข้ออะไรที่ต้องระวังหรือไม่ นายสุธาชัย กล่าวว่า คงไม่มีข้อระมัดระวังอะไร เพราะอำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน ซึ่งข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรเป็นข้อเสนอการเมืองที่ไม่มีวันยุติได้ หากข้อเรียกร้องของ 24 อธิการบดีเป็นแบบเดียวกับกลุ่มพันธมิตรก็ไม่สามารถรับฟังได้เช่นกัน ทั้งนี้ที่มาของ ส.ส.และ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นขบวนการอันเดียวที่เป็นประชาธิปไตย และวิธีนี้ใช้เหมือนกันทุกประเทศ
อย่างไรก็ตามข้อเสนอการเมืองใหม่ 70 : 30 ของกลุ่มพันธมิตรเป็นข้อเสนอที่รับฟังไม่ได้มาโดยตลอดเป็นข้อเสนอที่ต้องการชุมนุมยืดเยื้อ อีกทั้งข้อเสนอทุกอย่างที่มาจากกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นข้อเสนอที่รับฟังไม่ได้ ซึ่ง 3-4 เดือนที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรฯ เสนอข้อเรียกร้องต่างๆเป็นการเสนอข้อเรียกร้องขึ้นมาเพื่อป่วนเมือง ซึ่งการที่ชุมนุมยืดเยื้ออยู่นี้เนื่องจากเขาจะได้ประโยชน์หลายอย่างหากฝ่ายที่เขาต้องการขึ้นเป็นรัฐบาล ตนจึงอยากเสนอว่ารัฐบาลไม่ควรรับฟังข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรฯไม่ว่ากลุ่มนี้จะเสนออะไรมาก็ตาม ซึ่งตนเองอยากรู้ว่าเมื่อไหร่เขาจะแยกย้ายออกจากทำเนียบเพื่อไปทำมาหากินตามอาชีพที่เคยทำอยู่ และรัฐบาลเองต้องเอาอำนาจมาให้กับประชาชน
ซัด24อธิการปฏิเสธประชาธิปไตย
นายคณิน บุญสุวรรณ นักวิชาการอิสระ อดีต ส.ส.ร. 2540 กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของ 24 อธิการบดี เพื่อต้องการหาทางออกในการปฏิรูปการเมืองใหม่ นั่นแสดงว่าเขาปฏิเสธการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ เป็นการเห็นดีเห็นงามกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะการตั้งกรรมการปฏิรูปทุกอย่างต้องทำต่อเมื่อ 1.ไม่เห็นชอบกับกติกาที่เป็นอยู่ 2. แนวทาง 24 อธิการบดีอยู่กับ สนช.มาตลอด เป็นเหมือนอยู่ฝ่ายพันธมิตร ซึ่งจุดยืนของคนเหล่านนี้คือไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ 3.คณะกรรมการอิสระวันนี้มีเหลืออยู่ในประเทศไทยที่เสนอชื่อมา 7-8 คนไม่มีอิสระ อีกทั้งเป็นการให้รัฐบาลระบอบประชาธิปไตยยอมจำนนว่ารัฐบาลไม่สามารถพาบ้านเมืองไปได้
นายคณิน กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังเห็นดีเห็นงามด้วย เพราะพรรคประชาธิปัตย์เองก็ผ่านการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งพรรคเองก็มีจุดยืนไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญปี 50 แต่เหตุใดถึงเห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมืองใหม่ ซึ่งการที่กลุ่มพันธมิตร 24 อธิการบดี พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งหมอประเวศ ที่ขานรับกันอย่างนี้เป็นเสมือนแนวร่วมกัน ก็เท่ากับเป็นการเดินขบวนสวนกระแสกติกา จะหวังให้สร้างสมานฉันท์ได้อย่างไรเมื่อปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย
อีกทั้งการให้ ส.ส.มาจากการแต่งตั้ง แสดงว่าคนเหล่านี้จะใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อเข้าไปเป็น ส.ส.ในการแต่งตั้ง จึงคาดหวังว่าจะเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ด้วย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้ามาสร้างความสมานฉันท์ เมื่อไหร่ที่ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยไม่มีสิทธิ์ที่จะเสนอแนวทางทุกอย่าง
กบฎยึดทำเนียบไม่มีสิทธิเสนอ
นายคณิน กล่าวอีกว่า การเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระต้องให้ทั้ง 3 ฝ่ายเห็นด้วยใช่หรือไม่ ถ้าทั้ง 3 ฝ่ายเห็นด้วยพันธมิตรฯ จะยอมถอยออกจากทำเนียบหรือไม่ ซึ่งการเสนอแนวทางใหม่นี้ไม่สามารถไล่กลุ่มพันธมิตรให้ยุติการชุมนุมได้ ต้องให้กลุ่มพันธมิตรถอนตัวออกจากทำเนียบ หากยึดทำเนียบอยู่อย่างนี้ไม่มีสิทธิ์เสนอแนวทางทุกอย่าง อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 50 ที่เขาร่างขึ้นมาไม่สามารถให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการเมือง
นอกจากนี้ถ้ามีนายกรัฐมนตรีหรือคนที่เป็นฝ่ายพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล กลุ่มนี้ก็จะโจมตีอย่างนี้ต่อไป ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ไม่มีทางเกิดความสมานฉันท์ได้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายระดับอธิการรวมตัวกันอย่างนี้ เท่ากับจุดยืนคือเข้าข้างกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เป็นเหมือนทางตัน เพียงแต่มีภาพลักษณ์การเป็นอธิการบดี ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่เป็นกลางเลย เพราะอธิการบดีหลายคนเป็น คมช.ด้วย และมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำพันธมิตรฯ
อดีต ส.ส.ร.40 กล่าวอีกว่า จุดสำคัญคือใครก็ตามที่จะมีข้อเสนออย่างไรต้องให้กลุ่มพันธมิตรฯถอยออกจากทำเนียบรัฐบาล
จี้พันธมารออกทำเนียบก่อน
นายคณิน กล่าวอีกว่า การที่ให้ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ถอยออกมาก็เหมือนกับยอมพันธมิตรฯ แล้ว เพราะอดีตนายกฯเป็นบุคคลเดียวที่กล้าต่อรองกับกลุ่มพันธมิตรฯ อีกทั้งปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นทหาร ตุลาการ หรือแม้กระทั่งเอ็นจีโอ ก็ยอมสวามิภักดิ์ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะมานั่งพูด มีทางเดียวคือให้พันธมิตรฯ ถอยออกจากทำเนียบ จากนั้นยื่นให้สภาฯตั้งบุคคลภายนอกเป็นคณะกรรมการ
“ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของระบบอุปถัมภ์ทั้งนั้น เพราะทั่วโลกเองก็ได้ ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง ขนาดประเทศเวียดนามที่เป็นระบบคอมมิวนิสต์ก็ยังมี ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง ถ้าให้มีการสรรหาบุคคลก็รู้อยู่แล้วว่ามาจากไหน ซึ่งอยู่แวดวงของระบบอุปถัมภ์ทั้งนั้น จะอ้างว่าเป็นระบบประชาธิปไตยไม่ได้”
นายคณิน กล่าวว่า ข้อเสนอที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการเมือง ไม่มีข้อระมัดระวังอะไรเลย เพราะที่ผ่านมาเป็นข้อเดิมๆ ทั้งหมดคือต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยยอมจำนนกับระบบอุปถัมภ์ หากเป็นเช่นนี้แล้วบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร จึงไม่รู้ว่าจะระวังอะไรแล้ว เพราะเป็นเพียงวิธีการเสนอเท่านั้น เป็นความพยายามของระบบอุปถัมภ์ แต่ที่น่ากังวลคือประเทศต้องถดถอย เขาไม่ได้รู้สึกรู้สากับสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ซึ่งการกระทำของกลุ่มพันธมิตรเอาไม่อยู่แล้วขณะนี้ ในขณะที่ประชาธิปไตยยังไม่แข็งพอ และเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดคือฝ่ายที่เป็นประชาธิปไตยไม่มีที่จะยืน
ชี้ควรเอารธน.40 เป็นตัวตั้ง
นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ทนายความ กล่าวว่า ใครที่จะเสนอแนวทางอย่างไรเพื่อเสนอแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ตนมองว่ารัฐบาลควรรับฟังเพื่อไปประกอบกับการพิจารณา และปัจจุบันตนมองว่าบ้านเมืองอยู่ในระบอบประชาธิปไตย และตัวแทนของประชาชนอยู่ในรัฐสภา และเชื่อว่ามีเจตนาบริสุทธิ์ อีกทั้งตอนนี้ควรเอารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นตัวตั้ง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเพราะรัฐธรรมนูญปี 50
ทั้งนี้ควรเชิญสถาบันทั้งของรัฐและเอกชนมาร่วมกันเสนอความคิดเห็น เพื่อเสนอไปยังรัฐสภา เพราะ ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง ไม่เฉพาะแค่ 24 อธิการบดีมาแสดงความเห็น เพื่อมาวิพากษ์วิจารณ์แล้วเสนอต่อรัฐบาล ทั้งนี้ความคิดเห็นนี้ไม่ควรหยุดที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ควรเอาอาจารย์ทั้งประเทศมาร่วมหารือกัน รวมทั้งตัวแทนแต่ละสาขาอาชีพด้วย
นายคำนวณ กล่าวอีกว่า ตนมองในฐานะที่ใกล้ชิดกับการเมืองและองค์กรต่างๆ ควรให้บุคคลหลายๆกลุ่มมาร่วมลงขันเพื่อแสดงความคิดเห็น ถึงจะเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลและสถาบันนิติบัญญัติ ไม่ใช่การเสนอมาเพื่อเจาะจงเฉพาะตรงนั้นซึ่งเป็นไปไม่ได้